ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ขานรับนโยบายรัฐบาล มุ่งสู่การเป็นต้นแบบองค์กรไร้ขยะพลาสติกและโฟม

ประชาสัมพันธ์

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เดินหน้ารุกนโยบายรักษ์โลกตามแนวทางของรัฐบาลในการลดปริมาณขยะพลาสติกและโฟม เพื่อลดปัญหามลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรไร้ขยะพลาสติกและโฟม ภายในปี 2565 พร้อมขอความร่วมมือบุคลากรทุกคน ทุกหน่วยงานรวมไปถึงผู้ป่วย ญาติ และประชาชน ร่วมกันรับผิดชอบต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยการลด ละ เลิกใช้ พลาสติกและโฟม ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องใน โอกาสวันคล้ายวันประสูติของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุ 62 พรรษา

ในปี 2562 ถือเป็นปีแห่งการปฏิวัติการใช้พลาสติกและโฟมสำหรับประเทศไทย รัฐบาลมีมติเห็นชอบ Roadmap การจัดการพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เพื่อลดและเลิกการใช้พลาสติก รวมถึงการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ โดยตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าภายในปี 2562 นี้ ประเทศไทยจะต้องเลิกใช้พลาสติก 3 ประเภท ได้แก่พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม  ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ และ ไมโครบีดจากพลาสติก และในปี 2565 ตั้งเป้าจะเลิกใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (Single use Plastic) คือ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง และหลอดพลาสติก  นอกจากนั้น ยังมีแผนจะนำขยะผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดกลับเข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้ได้ 100 เปอร์เซนต์

ซึ่งหลายองค์กรและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนพากันสนอง นโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและโฟมอย่างยั่งยืน วางแนวทางในการลด ละ เลิก ใช้พลาสติกและโฟม หลากหลายรูปแบบ เช่น รณรงค์งดรับถุงพลาสติกเมื่อเข้าร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าไม่บริการถุงพลาสติกทุกวันที่ 4 ของเดือน เป็นต้น

ในส่วนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นอกจากจะจัดพิธีประกาศเจตนารมณ์ที่จะเป็นองค์กรต้นแบบในการบริหารจัดการปัญหาด้านขยะและสิ่งแวดล้อมของประเทศแล้ว ยังขอความร่วมมือให้บุคลากรทุกคน ทุกหน่วยงานภายใต้ราชวิทยาลัยฯ รวมถึงผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนผู้มาติดต่อและดำเนินธุรกิจในพื้นที่ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลด ละ เลิก การใช้และนำผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกและโฟมเข้ามาในบริเวณราชวิทยาลัยฯ อีกด้วย โดยมุ่งหวังให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง (Single – use Plastic) เช่น ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก หลอดพลาสติก แก้วเครื่องดื่มพลาสติก และ กล่องอาหารพลาสติก ให้หันมาใช้ถุงผ้า แก้ว หรือ กระบอกน้ำ ช้อนส้อม และภาชนะแบบพกพา เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกและโฟมในองค์กรและสังคมอย่างยั่งยืน

ปัญหาขยะพลาสติกและโฟมนี้ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย ทั่วโลกกำลังประสบกับปัญหาขยะล้นเมืองโดยเฉพาะจากขยะประเภทถุงพลาสติกและภาชนะที่ทำด้วยโฟม โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยข้อมูลที่น่าเป็นห่วงว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกมีปริมาณการใช้ขยะพลาสติกถึง 5 แสนล้านชิ้นต่อปี ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นขยะพลาสติกที่ใช้แบบครั้งเดียว เช่น ช้อน ส้อม แก้วน้ำ และหลอดพลาสติก เราจึงควรช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกและโฟม เช่น ถุงผ้า ตะกร้าผักตบชวา ผลิตภัณฑ์จากใบกล้วย ภาชนะชานอ้อย หลอดดูดน้ำจากข้าวโพด ซึ่งนอกจากจะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีความเก๋ไก๋ทันสมัยอีกด้วย