เอ็ม บี เค ตอบโจทย์ “วิถี Eco ใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ใครๆ ก็ทำได้…แค่ต้องเริ่ม

ประชาสัมพันธ์
สาธิต สายศร รองกรรมการผู้อำนวยการสายปฏิบัติการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เปิดงาน MBK Green Heart ชุมชนไทย หัวใจสีเขียว

การใช้ชีวิตแบบ Eco life ที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจจากภาพของบรรดาร้านค้ารายย่อยและค้าปลีกรายใหญ่หันมาจัดแคมเปญงดใช้ถุงพลาสติก คนทั่วไปเริ่มพกพาถุงผ้าเวลาไปจับจ่ายสินค้าและนำกระบอกน้ำดื่มติดตัวออกจากบ้านไปไหนมาไหน ล่าสุดในงาน MBK Green Heart ชุมชนไทย หัวใจสีเขียว” จัดโดย บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ภายในงานได้มีการเสวนาในหัวข้อ ชีวิต ECO ทุกคนทำได้” โดยมีภาคีเครือข่ายรักษ์โลกจากแวดวงต่าง ๆ เข้าร่วมแบ่งปันวิถี Eco-friendly ไว้อย่างน่าสนใจ

สาธิต สายศร รองกรรมการผู้อำนวยการสายปฏิบัติการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอ็ม บี เค ในฐานะองค์กรชั้นนำที่มีหลากหลายธุรกิจในเครือและดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมุ่งมั่นเป็นองค์กรไทยหัวใจสีเขียวเดินหน้าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมให้เป็นต้นแบบการรณรงค์ลดใช้พลาสติกอย่างจริงจังและยั่งยืน โดยล่าสุดได้สนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันด้วยการ “ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก” ซึ่งมีร้านค้าภายในศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งผ่านแอปพลิชั่น ECOLIFE อาทิ ร้านสุกี้ยากี้นัมเบอร์วัน ร้านอาหารญี่ปุ่นฮินะ ซึ่งเป็นร้านอาหารในเครือเอ็ม บี เค กรุ๊ป ร้านนายอินทร์ ร้านท็อปเจริญ ร้านอุดมเอก ร้านไม้ (MAI) เป็นต้น

คู่รักสาย ECO “นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา” และ ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร” ผู้ก่อตั้งบริษัท คิดคิด จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคม และเจ้าของแอปพลิเคชัน ECOLIFE ที่มีทั้งความสนุกและได้ช่วยกันรักษ์โลกลดขยะพลาสติก เพราะเมื่อผู้ใช้แอปฯ ปฏิเสธที่จะรับถุงพลาสติก หลอดและแก้วพลาสติก ก็สามารถสแกน QR Code ตามร้านค้าที่ร่วมรายการเพื่อสะสมคะแนนแลกรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดย ท็อป-พิพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากเปิดตัวแอปพลิเคชั่น ECOLIFE ตั้งแต่ปลายปี 2561 จนถึงปัจจุบันมีดาวน์โหลดมากกว่า 22,000 ราย สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกมากกว่า 300,000 ชิ้น โดยเริ่มต้นร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ และขยายความร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าปลีก ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้สนุกและสร้างการมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี

“หลักการใช้ชีวิตแบบEco ของผมคือทำเท่าที่ทำได้ เช่น พกกระบอกน้ำติดตัวไปทุกที่ มีเป้ไว้ใส่ของแทนรับถุงพลาสติก พกผ้าเช็ดหน้าแทนใช้กระดาษชำระ เราไม่สามารถทำตัวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอด 24 ชั่วโมง อย่าเพิ่งไปคิดว่าจะเป็นซูเปอร์แมนเปลี่ยนโลก แต่คิดว่าทำแล้วส่งผลดีกับตัวเราอย่างไร อย่างร้านค้าก็ช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการได้จากการที่ลูกค้าปฏิเสธการรับถุงพลาสติกและช่วยจัดการปัญหาขยะภายในบ้าน ชุมชน และสังคม ช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นด้วย”

นุ่น-ศิรพันธ์ แบ่งปันวิธีการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของตนเองที่ทำมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เรียกว่าทฤษฎี 21 วัน  โดยเริ่มจากพกกระบอกน้ำติดต่อกันสักเดือนจนติดเป็นนิสัย จากนั้นพกหลอดสะแตนเลส พกถุงผ้า ทำให้ภายใน 1 ปี มี 12 วิธีที่ใช้ชีวิตแบบ Eco-friendly หรืออาจจะเริ่มพกถุงผ้าหรือกระบอกน้ำเพราะความสวยงามเพื่อให้คุ้นเคยและติดเป็นนิสัยใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นเดียวกัน

คู่รักสาย ECO “นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา” และ “ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร” ร่วมเสวนาชีวิต Eco ใครๆ ก็ทำได้
ป้าตุ๋ย-พรพรรณ แววสิงห์งาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผักแนะนำการปลูกต้นอ่อนไมโครกรีนในภาชนะเหลือใช้

ด้านเครือข่ายสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ป้าตุ๋ย-พรพรรณ แววสิงห์งาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผักแนะนำการปลูกต้นอ่อนไมโครกรีนในภาชนะเหลือใช้ ว่าการปลูกผักและต้นไม้โดยนำวัสดุแบบใช้ซ้ำ (Reuse) มาใช้แทนกระถาง อาทิ แก้วน้ำหรือภาชนะใส่อาหารทำจากพลาสติก กล่องเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ซึ่งทุกครั้งที่ไปจัดกิจกรรมออกบูธก็จะมีผู้สนใจ ซักถามถึงการนำมาใช้ซ้ำและเป็นสิ่งที่ทุกบ้านมีอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะนำไปรียูส อย่างไร ถือเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติก จากนั้นก็ปรับพฤติกรรมในการปฏิเสธที่จะรับถุงพลาสติกเวลาซื้อของ ซึ่งล้วนแต่เป็นการปรับพฤติกรรมแบบ ECO นำไปสู่การเลิกใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน

ขณะที่ พิมพ์ลมัย หาราชัย ผู้ประกอบการร้านรีฟิล “กรีน แฮริท” (Green Herit) กล่าวว่าปัจจุบันการรักษาสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นกระแสตื่นตัวทั่วโลก (World Movement) พร้อมแนะนำวิธีลดขยะง่ายๆ ด้วยการใช้ซ้ำ เช่น นำบรรจุภัณฑ์ใส่แชมพู ครีมอาบน้ำ น้ำยาซักผ้าและปรับผ้านุ่มที่มีอยู่แล้วมาเติมสินค้าในชีวิตประจำวันจากร้านรีฟิล ซึ่งร้านประเภทนี้มีจำนวนมากขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และผู้บริโภคที่ใช้บริการก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกเดือนด้วย

หลากหลายวิธีใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากเครือข่ายรักษ์โลกในแวดวงต่างๆ ซึ่งทำได้ง่ายๆ ทั้งยังได้มีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย ใครๆ ก็ทำได้…แค่ต้องเริ่ม

พิมพ์ลมัย หาราชัย (ซ้ายสุด) ผู้ประกอบการร้านรีฟิล “กรีน แฮริท” (Green Herit)