ขอเชิญร่วมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๒

ประชาสัมพันธ์

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอเชิญประชาชนร่วมสรงน้ำพระธาตุและเทวดานพเคราะห์ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๒ และชมนิทรรศการพิเศษเรื่อง “รูปเทวดานพเคราะห์ยอดบัตร” ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๔ เมษายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.

เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๒ กรมศิลปากรกำหนดจัดกิจกรรมสรงน้ำพระธาตุแลเทวดานพเคราะห์ เพื่อเริ่มต้นปีใหม่ไทยด้วยความเป็นสิริมงคลตามแบบแผนประเพณีที่ดีงาม โดยอัญเชิญพระธาตุ ๒๓ องค์ ประดิษฐานอยู่ในพระกรัณฑ์ทองคำลงยา ซึ่งเดิมทีบรรจุไว้ในก้านพระรัศมีของพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และเทวดานพเคราะห์ ๙ องค์ มาให้ประชาชนได้สรงน้ำและกราบไหว้บูชาขอพร

ทั้งนี้ แต่ละคนเมื่อเกิดมาจะมีเทวดานพเคราะห์ประจำวันเกิด และในแต่ละช่วงชีวิตเทวดานพเคราะห์จะหมุนเวียนเข้าเสวยอายุ กำหนดปีการเสวยอายุตามกำลังของเทวดาแต่ละองค์ ซึ่งจะส่งผลร้ายหรือดีต่อมนุษย์ขึ้นอยู่กับประเภทของเทวดานพเคราะห์ว่าเป็นฝ่ายบาปเคราะห์หรือศุภเคราะห์ หรือความเข้ากันได้หรือไม่กับเทวดาประจำวันเกิด เทพนพเคราะห์มีต้นกำเนิดมาจากโหราศาสตร์ฮินดูที่นับถือพระสุริยเทพ (พระอาทิตย์) ซึ่งมีเทพบริวารอีก ๘ องค์ รวมเป็น ๙ องค์ ถือว่าเป็นเทพที่ปกปักรักษาชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ประกอบด้วย พระอาทิตย์ ทรงราชสีห์ เป็นเทพนพเคราะห์ที่มีอำนาจเหนือกว่าเทพนพเคราะห์ทั้งปวง พระจันทร์ ทรงม้า พระอังคาร ทรงมหิงสา พระพุธ ทรงคชสาร พระพฤหัสบดี ทรงกวาง พระศุกร์ ทรงโค พระเสาร์ ทรงพยัคฆ์ พระราหู ทรงพญาครุฑ และพระเกตุ ทรงนาค

ประติมากรรมเทวดานพเคราะห์ทั้ง ๙ องค์ ที่อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ สร้างขึ้นตามแบบเทวดานพเคราะห์ของไทย แต่งกายคล้ายคลึงกับภาพเทวรูปในสมุดไทยหมวดตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์ เล่มที่ ๗๐ สำนักหอสมุดแห่งชาติ สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีความคล้ายคลึงกับภาพจิตรกรรมเทพยดาบนบานประตูหน้าต่างด้านในของพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) ที่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ทรงร่วมในการควบคุมการก่อสร้างเช่นกัน

ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้ คือ สามารถถ่ายทอดรูปแบบของเทพนพเคราะห์ให้ออกมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว แสดงท่าทาง และลักษณะของเทพนพเคราะห์ได้อย่างสมจริงและมีชีวิตชีวา โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ และลักษณะของเทพแต่ละองค์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าน่าจะหล่อขึ้นในราวรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา โดยเปรียบเทียบลักษณะประติมานวิทยากับภาพในสมุดไทย และรูปสัตว์ที่มีความเหมือนจริงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะวันตก

ทั้งนี้ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๙ น. กรมศิลปากรกำหนดจัดพิธีบวงสรวงสมโภช ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒ , ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓