รศ.พญ.สมบูรณ์ ธรรมเถกิงกิจ รางวัลมหิดลทยากร ปี 2561 ผู้นำทีมแพทย์ชันสูตรร่างผู้เสียชีวิตในมหันตภัยสึนามิ

ประชาสัมพันธ์

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมบูรณ์ ธรรมเถกิงกิจ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.๒๕๑๓ Dip. American Board of Anatomic and Clinical Pathology พ.ศ.๒๕๒๑, ได้รับ อว.(หนังสืออนุมัติเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม) ทั้งในสาขาพยาธิวิทยา และนิติเวชศาสตร์ จากแพทยสภา นอกจากนี้ยังสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๒) สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๔๕ ท่านเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ.๒๕๔๗ – ๒๕๔๙ ที่ปรึกษาประจำภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ.๒๕๕๔ – ๒๕๕๘ และที่ปรึกษาประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ.๒๕๕๘ – ปัจจุบัน นอกจากนี้ เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และเป็นผู้ดำเนินการในการจดทะเบียนก่อตั้งสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทยจนสำเร็จในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๐ และให้ริเริ่มในการจัดทำวารสารสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทยโดยเริ่มออกวารสารฉบับแรก และจัดทำต่อเนื่องตลอดจนถึงปัจจุบัน

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมบูรณ์ ธรรมเถกิงกิจ เป็นผู้ร่วมดำเนินการหลักในการชันสูตร และพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลในเหตุการณ์สึนามิในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งในขณะนั้น ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชานิติเวชฯ ศิริราช ได้จัดทีมผลัดเปลี่ยนกัน ๓ ทีม รวม ๕๑ คน ปฏิบัติหน้าที่ชันสูตรร่างผู้เสียชีวิตร่วมกับพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่วัดบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยได้ทำการชันสูตรร่างผู้เสียชีวิตไป ๑,๐๑๑ ศพ ระหว่างวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ – ๒ มกราคม ๒๕๔๘ และได้นำชิ้นเนื้อจากศพมาตรวจ DNA และส่งผลการตรวจให้ศูนย์พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อดำเนินการต่อในการเปรียบเทียบกับข้อมูลก่อนเสียชีวิต หรือข้อมูลจากญาติ ซึ่งจากการลงพื้นที่ในครั้งนั้น ได้ทำจนเป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับความถูกต้อง ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยอมรับถึงมาตรฐานทางนิติเวชศาสตร์ของแพทย์ในประเทศไทย ในด้านการบริหารจัดการ ทั้งด้านบุคคล เครื่องมือเครื่องใช้ รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ จนสำเร็จลุล่วงด้วยดี

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมบูรณ์ ธรรมเถกิงกิจ ได้เป็นผู้ริเริ่มให้มีการสอนแพทย์นิติเวชเต็มรูปแบบ โดยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ และพัฒนาปรับปรุงระบบ ทั้งงานบริการ และการเรียนการสอน กล่าวคือ สนับสนุนให้นำมาตรฐานสากล ตามข้อกำหนด ISO 15189 มาเป็นแนวทางในการดำเนินการทางห้องปฏิบัติการของภาควิชาฯ และเตรียมการเพื่อขอการรับรองมาตรฐาน ในด้านการเรียนการสอนได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยปรับการเรียนการสอนของแพทย์ประจำบ้านให้เป็นเทรนนิ่งโปรแกรมที่มีระบบมาตรฐาน โดยให้มีการเรียนการสอน มีการทำ Autopsy Round ทุกเช้าทำ Gross Conference, Brain cutting, สอนการดูสไลด์ และให้มีการทำ Autopsy ที่ครบถ้วนเป็นระบบ ตลอดถึงการทำ Grand Round ผู้ป่วยคดี ฯลฯ ทำให้หลักสูตรมีคุณภาพเทียบเท่าสากล อีกทั้งยังตอบสนองนโยบายของรัฐ โดยออกระเบียบการออกชันสูตรร่างผู้เสียชีวิต เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการด้านชันสูตรร่างผู้เสียชีวิตให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังคงใช้ระเบียบดังกล่าว

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสมบูรณ์ ธรรมเถกิงกิจ กล่าวว่า “เวลาสอนแพทย์ประจำบ้านมักบอกว่า เราต้องนึกถึงผลประโยชน์ของคนไข้ก่อนปัจจัยอื่น และทำให้ดีที่สุด จริงๆ พยาธิแพทย์นั้นสำคัญ เพราะผลทางพยาธิฯ แพทย์ผู้รักษาต้องเอาไปใช้ ถ้ามีการรายงานผลไม่ถูกต้อง หรือวินิจฉัยผิด คนไข้อาจจะถูกรักษาไม่ถูกต้องก็ได้ เช่นกรณีคนไข้ไม่เป็นมะเร็ง แต่ไปวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง หรือคนไข้เป็นมะเร็ง แต่ไปวินิจฉัยว่าไม่เป็นมะเร็ง ทำให้ต้อง delay การรักษา สำหรับการเป็นแพทย์นิติเวชนั้น สิ่งสำคัญคือการนำความรู้ ความสามารถในการทำงานอย่างมีมาตรฐาน และต้องมีจุดยืนเพื่อความถูกต้อง เที่ยงธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพราะฉะนั้นแพทย์ต้องทำงานในบทบาทและหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด หลักการ คือ ให้นึกถึงส่วนรวม และควรยึดหลักของสมเด็จพระราชบิดา เพราะท่านสอนให้เราไม่ยึดถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง อันนี้สำคัญที่สุด การเป็นแพทย์ไม่ควรนึกถึงตัวเอง ต้องนึกถึงประโยชน์ของคนอื่นก่อน จริงๆ ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งที่ตั้งใจทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด ชอบสอน เพราะอยากสอน”