ตามรอย “ปรีดี พนมยงค์” ที่บ้านเกิด “พระนครศรีอยุธยา” ฟังเสวนาวาระ 120 ปี ชาตกาล “ประวัติศาสตร์ 2475”

Travel ท่องเที่ยว

เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย “บุญสม อัครธรรมกุล” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ หารือกับ “มติชนอคาเดมี” หน่วยงานหนึ่งในเครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่จัดทัวร์ท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ให้กับผู้สนใจ ซึ่งในวาระครบ 120 ปี ชาตกาลอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งยังเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกของมหาวิทยาลัยนั้น ควรมีกิจกรรมตามรอยเดินทางไปศึกษายัง “บ้านเกิด” ของอาจารย์ปรีดี ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงกับเรื่องราวและความคิดของอาจารย์ปรีดีในห้วงเวลาดังกล่าว  ดังนั้น นอกจากการลงพื้นที่เพื่อดูสถานที่จริงที่เกี่ยวข้องแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ คือการเสวนา ซึ่งไม่ใช่การเสวนาธรรมดา แต่เป็นการเจาะลึกข้อมูลอย่างถึงพริกถึงขิง โดยผู้เป็นวิทยากรทั้งในส่วนการนำทัวร์ และการพูดคุยบนเวที เป็นสองกูรูด้านประวัติศาสตร์ชื่อดังอัดแน่นด้วยภูมิความรู้ ทั้งเรื่องของอาจารย์ปรีดีและเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้แก่ “สมฤทธิ์ ลือชัย” อาจารย์นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพุทธศาสนา ร่วมด้วย “ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต และนักเขียนด้านประวัติศาสตร์มีผลงานหลายเล่ม

อยุธยาแหล่งก่อสำนึกทางการเมืองแก่ปรีดี

หลังรับประทานอาหารค่ำ บรรยากาศสบายๆ ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ ริมแม่น้ำป่าสัก  วงเสวนาเปิดฉากขึ้นโดย “กษิดิศ อนันทนาธร” ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกริ่นถึงครอบครัว “พนมยงค์” ว่าพ่อของอาจารย์ปรีดีชื่อ “นายเสียง พนมยงค์” ซึ่งแม้จะมีอาชีพเป็นชาวนาแต่ก็ไม่ใช่ชาวนาธรรมดาๆ “นายเสียงเป็นหมอชาวบ้านด้วย เป็นนักดนตรีด้วย มีความรู้พอสมควร และเป็นญาติของขุนนางในกรุงเทพฯ นายเสียงเคยคุยเรื่องของเพื่อนชาวนาให้อาจารย์ปรีดีฟังตั้งแต่เด็ก และยังเล่าว่าที่เมืองฝรั่งมีสิ่งที่เรียกว่า “ผู้แทนราษฏร” จะทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนพวกเรา เอาความทุกข์ของพวกเราไปพูดในสภาหาทางออกด้วยกัน แต่บ้านเมืองเราไม่มีสิ่งนั้น ถ้าบ้านเมืองเรามีสิ่งนั้น การแก้ปัญหาของชาติคงจะดีขึ้น…” กษิดิศย้ำว่าจากคำของนายเสียงแสดงให้เห็นว่าเรื่องของผู้แทนราษฏรถูกนำมาพูดให้เด็กชายปรีดีฟังก่อนไปเรียนที่ฝรั่งเศสแล้ว  “อันนี้มีบันทึกชัดเจน ว่านายเสียงพูดอย่างนี้กับเพื่อนๆ และอาจารย์ปรีดีตั้งแต่เด็ก แล้วเข้าใจว่าโดยสำนึกทางการศึกษท่านคงเห็นว่ามันมีความไม่เป็นธรรมอะไรบ้างในสังคม แล้วโอกาสทางการศึกษาก็ทำให้ท่านเห็นว่าสังคมเรามันดีกว่านี้ได้…”

มาถึงช่วงนี้ อาจารย์สมฤทธิ์เริ่มขยายความเรื่องราวบางช่วงบางตอนที่สำคัญของปรีดี พนมยงค์ ในช่วงเวลาที่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่าในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับที่อาจารย์ปรีดีไปเรียนที่ฝรั่งเศส ในประเทศอื่นๆ ก็มีผู้นำการปฏิวัติเจเนอเรชั่นใกล้เคียงกันไปเรียนที่ฝรั่งเศสด้วยเหมือนกันหลายคน  “…การไปเรียนที่ฝรั่งเศสเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์ปรีดีส่วนหนึ่ง แต่อยากเน้นว่า “อยุธยา” บ้านเกิด นี่แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ท่านสนใจปัญหาทางการเมือง แล้วมีไอเเดียทางการเมืองตั้งแต่สมัยที่ได้ยินพ่อคุยกันกับเพื่อนๆ  นี่เป็นประเด็นสำคัญที่จะบอกว่าเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ได้เป็นสิ่งที่อาจารย์ปรีดีไปรับมาจากตะวันตก แต่มันก่อสำนึกขึ้นมาก่อนแล้วที่อยุธยาบ้านเกิดก่อนที่ท่านจะเดินทางไปเรียนที่ฝรั่งเศส…”

กษิดิศ อนันทนาธร (ขวา)
อ.สมฤทธิ์ ลือชัย

อาจารย์สมฤทธิ์ย้ำเรื่องครอบครัวพนมยงค์ ว่าไม่ใช่บ้านชาวนาธรรมดาๆ  อาจารย์ปรีดีก็ไม่ได้เป็นลูกชาวนา ชาวไร่ หรือเป็นไพร่ทั่วไปอย่างที่เข้าใจกัน ถ้าไปดูสาแหรกของ “ตระกูลพนมยงค์” และ  “ป้อมเพชร์”  จะสามารถลำดับไปถึงย่าของนายเสียง เป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับย่าของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์)  หมายความว่านายเสียงมีญาติเป็นขุนนางในกรุงเทพฯ และพระยาชัยวิชิตฯ ก็เป็นขุนนางผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ 6 เป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกและคนเดียวในรัชกาลที่ 6  พ่อของพระยาชัยวิชิตฯ คือพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) เป็นผู้รักษาการกรุงเก่ามาก่อน แล้วพระยาไชยวิชิตฯ (นาค) ตอนเป็นหลวงวิเศษสาลี (นาค) ก็เคยลงชื่อในคำกราบบังคมทูล ร.ศ.103 ด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่เคยรับราชการ และตอนที่อาจารย์ปรีดีไปเรียนที่กรุงเทพฯ ได้ไปอยู่บ้าน ณ ป้อมเพชร์ ของพระยาไชยวิชิตฯ (นาค)  ยังมีบันทึกว่าเจ้าคุณไชยวิชิตฯ (นาค) เคยพานายปรีดีไปเจอเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมด้วย  “การที่อาจารย์ปรีดีได้ไปเรียนที่เมืองนอก ผมเข้าใจว่าในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราไม่ได้มีการสอบไปเมืองนอกด้วยซ้ำไป เราใช้วิธีการจิ้มเอาว่าเด็กเรียนเก่งคนนี้มีคนรับรอง มีแววดีว่าจะเรียนได้ ก็เอาไปเรียนเลย เข้าใจว่าอาจารย์ปรีดีอาจจะไปด้วยวิธีการนี้ด้วยซ้ำไป ระบบคัดเลือกคนไปเรียนเมืองนอกก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ได้เป็นระบอบสอบชิงทุน แต่เป็นระบอบที่จิ้มคนมีแวว มีเครดิต ไปเรียนต่อ…”

อาจารย์สมฤทธิ์ กล่าวว่าอาจารย์ปรีดีเคยพูดเอง ว่าท่านไม่ได้เป็นคนระดับล่าง  พ่อ(นายเสียง) มีที่ดิน 200 ไร่ และถ้าเทียบไปถึง “เชียด” ซึ่งเชียดของอาจารย์ปรีดีก็คือเชียดของท่านผู้หญิงพูนศุข หมายความว่าตัวเชียดมีลูกสาวสองคน  คนหนึ่งเป็นย่าทวดของปรีดี ส่วนอีกคนหนึ่งก็ไปเป็นทวดของท่านผู้หญิงพูนศุข  อาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขนั้นเป็นเหลนต่อเหลนแต่งงานกัน และถ้าดูสาแหรกของตระกูลพนมยงค์ มีทั้งคนที่เป็นเกษตรกร  เป็นขุนนางก็มี   “…คือครอบครัวไม่ได้เป็นคนระดับธรรมดา เพราะฉะนั้นโอกาสของอาจารย์ปรีดีที่จะได้รับการจิ้มไปเรียนเมืองนอกจึงสูงกว่าคนอื่นที่อยู่ในอยุธยาตอนนั้น  แล้วที่สำคัญอาจารย์ปรีดีท่านเคยไปเรียนที่วัดเบญจมบพิตร ที่กรุงเทพฯ ก่อนจะกลับมาเรียนที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ลองนึกถึงสมัยเมื่อร้อยปีที่แล้ว เด็กจากอยุธยาเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ แล้วกลับมาจบมัธยมที่นี่ โอกาสก็จะสูงกว่าคนอื่นที่จะได้ทุนไปเมืองนอก ซึ่งระยะแรกๆ ทุนพวกนี้ลูกเจ้าหลานนายทั้งนั้นที่ได้  นามสกุล “ลือชัย” ต่อให้ตายก็ไม่ได้ไป นามสกุล “เพชรเลิศอนันต์” ต่อให้ร้องไห้น้ำตาเป็นสายเลือด ก็ไมได้ไป เจ๊กขายโอเลี้ยงอยู่พิจิตรก็ไม่ได้ไป..มันจะต้องมีเส้นสาย..”เสียงฮาดังลั่นห้อง

เมื่อเสียงของผู้ฟังในห้องลดระดับลง อาจารย์ธำรงศักดิ์ขอใช้สิทธิถูกพาดพิง กล่าวว่าความคิดทางการเมืองและสังคมของอาจารย์ปรีดีคิดว่ามาจาก 1.ครอบครัว คือการได้ฟังจากพ่อ  2.ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟัง  “…โลกเมื่อก่อนนี้ครูบาอาจารย์สำคัญมาก เพราะคือคนที่นำเอาโลกข้างนอกเข้ามาให้สังคมข้างใน  มันเหมือนตอนที่นักศึกษาเคลื่อนไหว 14 ตุลา 2516 เป็นเพราะครูบาอาจารย์มาจากโลกตะวันตกรุ่นใหม่ และเอาโลกตะวันตกมาเล่าให้นักศึกษาฟัง ครูบาอาจารย์จึงเป็นตัวผลักดันอันหนึ่งของการเห็นโลกใหม่ ที่บอกว่ามันเปลี่ยนแปลง มันแตกต่าง ผมว่าอันหนึ่งที่อาจารย์ปรีดีมีคือ การได้อ่านหนังสือ  กลุ่มคณะราษฏร กลุ่มชนชั้นนำ สิ่งสำคัญคือการได้อ่านหนังสือใหม่ๆ  ผมจำได้หลวงวิจิตรวาทการ ท่านบวชที่อุทัยธานีแล้วมาอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ (ท่าพระจันทร์)  หลวงวิจิตรฯ ได้ไอเดียของโลกใหม่มาจากหนังสืองานศพของวัดมหาธาตุ เพราะหลวงวิจิตรฯ อยู่วัดมหาธาตุ และเรียนภาษาอังกฤษแถวนั้น  การได้อ่านหนังสือใหม่ๆ ทำให้เกิดการเปิดโลกทางความคิด แต่สิ่งสำคัญคืออาจารย์ปรีดีได้ภาษาด้วย การได้ภาษาทำให้เกิดการได้อ่านอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างออกไป  สมมุติว่าเราตื่นมาแล้วได้อ่านแต่หนังสือพิมพ์ภาษาไทย เราก็จะวนเวียนอยู่แต่กับประเด็นรัฐบาลประยุทธ์  ไวรัสโควิด อยู่นั่นแหละ แต่เราจะไม่เห็นโลกที่มันกำลังเคลื่อน…”

ฝรั่งเศสดินแดนนักปฏิวัติ

อาจารย์ธำรงศักดิ์ขยายความต่อไป ว่าอาจารย์ปรีดีชิ่งจากเรียนภาษาอังกฤษไปเรียนภาษาฝรั่งเศส จุดนี้แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนที่เกร็งการณ์ไกล หากอาจารย์ปรีดีใช้ภาษาอังกฤษคงไม่ได้ทุนไปเมืองนอก เพราะโลกที่จะถูกส่งทุนไปที่อังกฤษเป็นโลกของขุนน้ำขุนนาง ผู้ดิบผู้ดี และเจ้านายราชสำนัก พวกนี้เป็นพวกที่ได้ทุนไปเรียนที่อังกฤษ  ส่วนพวกที่ได้ทุนไปเรียนที่ฝรั่งเศสนั้น เป็นเพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสถามต่อรัฐบาลสยาม สมัยรัชกาลที่ 6 ว่าฝรั่งเศสก็เป็นมหาอำนาจ ทำไมจึงส่งแต่คนไปเรียนที่อังกฤษ ทำไมไม่ส่งไปเรียนที่ฝรั่งเศส  ดังนั้น คนรุ่นอาจารย์ปรีดีและจอมพล ป หรือนายแปลก พิบูลสงคราม จึงเป็นคนรุ่นแรกที่ได้ทุนไปเรียนที่ฝรั่งเศส  “…ผมคิดว่าอาจารย์ปรีดีเกร็งถูกทิศทางด้วย  เมื่อท่านถูกชี้ในทุนของกระทรวงยุติธรรมให้ไปเรียนทางด้านกฎหมาย จึงได้ไปที่ฝรั่งเศส  ท่านไปฝรั่งเศสตอนอายุ 20 กว่าๆ กระทั่งอายุ 27 ปี ใช่้เวลาอยู่กับโลกฝรั่งเศส 7-8 ปี ฉะนั้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คนที่ไปอยู่ฝรั่งเศสได้รับอะไร? ซึมซับบรรยากาศแบบไหน?  เราอย่าลืมว่าในแต่ละรุ่นจะผลิตคนออกมาในบรรยากาศที่แตกต่างกัน เหมือนผมพูดถึงพระยาพหลฯ  พระยาทรงสุรเดช ที่ไปเรียนที่เยอรมัน คนตั้งคำถามว่าเยอรมันเป็นเผด็จการไม่ใช่หรือ เราอย่าลืมว่าเยอรมันก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 บรรยากาศของประชาธิปไตยที่จะล้มราชวงศ์ไกเซอร์เต็มไปหมด ไม่ใช่เยอรมันที่รักษาไกเซอร์  กระแสประชาธิปไตยเกิดขึ้นในเยอรมัน ภาพของฝรั่งเศสหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 คือดินแดนเสรีที่สุดของการสุมหัวนักปฏิวัติ  นักปฏิวัติอยู่ที่นั่น อยู่ที่ฝรั่งเศสคุณคิดอ่านได้ค่อนข้างเสรีมาก คุยได้ทุกเรื่อง ไล่ประเด็นกันได้   ดังนั้น โลกฝรั่งเศสยุคนั้น มีนักเรียนไทยในยุโรปไม่กี่ร้อยคน 200-300 คน ในอเมริกา 200 คน ส่วนมากเป็นลูกท่านหลานเธอ  ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงการคัดสรรคนเข้ามาเป็นสมาชิกคณะราษฏร เริ่มต้นแค่ 7 คน  ใครควรเป็นเข้ามาเป็นสมาชิกเขาจะรู้กัน…”

เสียงอาจารย์ธำรงศักดิ์ยังคงสาธยายต่อไปท่ามกลางความตั้งอกตั้งใจฟังของคนในห้องเสวนา อาจารย์บอกว่าตอนที่อาจารย์ปรีดีทำการปฏิวัติ 2475  ไม่ได้บอกภรรยาคือท่านผู้หญิงพูนศุขเลย บอกแต่ว่าจะไปบวชและจะไปแจ้งพ่อที่อยุธยา ตอนสุดท้ายท่านถึงมาบอก “น้องเอ้ย..พี่ผิดไปแล้วที่โกหกน้อง” เสียงฮาของคนในห้องดังอีกครั้ง เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะท่านผู้หญิงพูนศุขอายุ 21 ปีเท่านั้น ซึ่งอาจารย์ปรีดีมองว่าหากบอกไปแล้วความจะแตก เพราะท่านผู้หญิงมีเครือญาติที่เป็นเจ้าขุนมูลนายเต็มไปหมด

อาจารย์ธำรงศักดิ์วกกลับมาเรื่องการเลือกคนเข้าร่วมคณะราษฏร เริ่มจาก “นายแปลก” ได้ทุนทางการทหารไปฝรั่งเศสเป็นรุ่นแรก เนื่องจากเยอรมันแพ้สงคราม การจะส่งนายทหารไปเรียนที่เยอรมันไม่ได้อีกแล้ว ต้องเปลี่ยนส่งไปฝรั่งเศสแทน  “นายแนบ” บ้านรวยเป็นลูกเศรษฐี  ส่วน “พันตรี หลวงทัศนัยนิยมศึก” หรือ “ทัศนัย  มิตรภักดี” เป็นทหารมีพ่อรวยแต่ค่อนข้างไปทางนักเลง พ่อเลยให้ออกจากราชการทหารแล้วส่งไปเรียนที่ฝรั่งเศส  “…เพราะฉะนั้น พูดง่ายๆ ว่าการได้ไปฝรั่งเศสเป็นการได้ไปอยู่ในดินแดนแห่งเสรีภาพ ความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มันกลายเป็นตัวจุดประกาย สิ่งสำคัญคืออาจารย์ปรีดีกลายเป็นผู้นำในการรวมกลุ่มนักศึกษาในยุโรป การตั้งเป็นสมาคมกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการที่นักศึกษาเริ่มเห็นพาวเวอร์ในการต่อรองกับตัวแทนอำนาจรัฐบาลสยาม ซึ่งตรงนี้นำไปสู่การขัดแย้งกัน อาจารย์ปรีดีเรียกร้องให้มีการเพิ่มเงินแก่นักศึกษาทุน ควรให้เป็นเงินปอนด์สเตอริง ไม่ใช่ให้เงินฝรั่งเศสที่ราคาตกต่ำ การต่อรองเรียกร้องเหล่านี้ ตัวแทนรัฐบาลสยามคือพวกอัครราชทูตจะถือว่าเป็นการหมิ่นแคลนที่สำคัญมาก และตรงนี้เองที่ปรีดีถูกหมายหัวตั้งแต่อยู่ฝรั่งเศส ให้ส่งกลับทันที  อัครราชทูตตอนนั้นคือพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร  แต่พ่อของอาจารย์ปรีดีคือนายเสียงทำจดหมายฏีกาถึงรัชกาลที่ 7  ลองคิดดูว่าถ้านายเสียงเป็นชาวนาธรรมดา คงตกใจตายแล้วที่ลูกตัวเองจะถูกส่งกลับ จะทำไง แต่นายเสียงยื่นฏีกา แสดงว่านายเสียงต้องมีแบ็คขุนนางเยอะมาก กระดาษฏีกาของนายเสียงทำให้กษัตริย์สยามทรงไตร่ตรองและบอกว่าให้เรียนจบก่อนแล้วค่อยกลับก็ได้ มันทำให้อาจารย์ปรีดีได้โอกาสอีกจังหวะหนึ่ง…”

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ถึงตอนนี้อาจารย์สมฤทธิ์ขอไมค์กลับไปบ้าง และเสริมว่าฝรั่งเศสตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นดินแดนที่น่าสนใจ และน่าสนใจมากกว่านั้น คือคนที่ไปเรียนฝรั่งเศสรุ่นอาจารย์ปรีดี หรือก่อนและหลังหน้าในช่วงเวลานั้น กลับมาล้วนเป็นนักปฏิวัติทั้งสิ้น ตั้งแต่ “เติ้ง เสี่ยว ผิง”  ” โจว เอน ไหล”  ของจีน  “พอลพต”  “เอียง สารี” ของเขมร  “เจ้าสุภานุวงศ์” ของลาว  ส่วนไทยมีอาจารย์ปรีดี  จอมพล ป เรียนที่ฝรั่งเศสทั้งหมด มีการศึกษาอันหนึ่งที่น่าสนใจคือ นักปฏิวัติของเอเชียล้วนเป็นผลผลิตของไม่อังกฤษก็ฝรั่งเศส เช่น “มหาตมะ คานธี” เรียนที่อังกฤษ และ “โฮเซ่ รีซัล” ของฟิลิปปินส์  คนพวกนี้หลุดออกจากโลกเดิมของตัวเองแล้วไปอยู่โลกที่ศิวิไลซ์  ไปเห็นบ้านเมืองเขา ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้เปรียบเทียบกับบ้านตัวเอง จึงเกิดการศึกษาแล้วกลายมาเป็นผู้นำในการปฏิวัติ   “…ผมคิดว่าน่าสนใจความพันธ์ของอาจารย์ปรีดีกับผู้นำในย่านบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำของเวียดนาม โฮจิมินห์ ซึ่งตอนนั้นไปทำหน้าที่เป็นพนักงานเสิร์ฟอยู่ในโรงแรมที่ปารีส โฮจิมินห์นี่ไปข้างล่างจริงๆ ไปกับเรือเดินสมุทร แล้วไปศึกษาสังคมนิยมที่ปารีส  ตอนที่มาต่อสู้เรื่องเอกราช โฮจิมินห์ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ปรีดี  อาวุธปืนที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยึดจากญี่ปุ่นชุดหนึ่งถูกส่งไปช่วยโฮจิมินห์กู้ชาติ โฮจิมินห์เอาปืนชุดนี้ไปตั้งกองพัน 2 กองพัน ชื่อ กองพันสยาม หลังจากกู้ชาติได้สำเร็จ เป็นประธานาธิบดีของเวียดนามเหนือ ได้เชิญอาจารย์ปรีดีและครอบครัวทั้งหมดไปเป็นแขกรัฐบาล ตอนนั้นอาจารย์ปรีดีไปอยู่กวางโจวแล้ว…”

“ปืนอีกส่วนหนึ่งส่งไปช่วยขบวนการลาวอิสระของเจ้าสุภานุวงศ์  ตอนหลังลาวได้ให้เหรียญเกียรติยศแก่อาจารย์ปรีดี แต่อาจารย์ปรีดีถึงแก่อสัญกรรมแล้ว จึงให้ท่านผู้หญิงพูนศุขรับแทน คือหมายความว่าความสัมพันธ์อันนี้เกิดมาจากกลุ่มนักเรียนที่ฝรั่งเศส  นอกจากอาจารย์ปรีดีจะโยงใยกับพวกนักเรียนไทยด้วยกันแล้ว อาจารย์ปรีดียังมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนในเอเชียที่ไปฝรั่งเศสในตอนนั้น สายสัมพันธ์นี้กลับมาแล้วกลายเป็นสายสัมพันธ์ที่ว่า…”ชาติ” ของอาจารย์ปรีดีคือชาติที่ “เป็นมิตร” กับเพื่อนบ้าน  ต่างกับ “ชาติ” ของจอมพล ป ที่ฉันจะเอาเพื่อนบ้านมาเป็นของฉัน กรณีสงครามโลกครั้งที่ 2 เราจึงไปยึดพระตะบอง เสียมราฐ  ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ ไชยะบุรี เชียงตุง กลันตัน มลายู เอามาหมดเลย นี่เป็นจุดอีกอันที่ทำให้ทั้งสองท่านอาจารย์ปรีดีและจอมพล ป แตกกันในตอนหลัง…”

ปรีดี พนมยงค์กับรัชกาลที่ 7

เสียงแหบหายของอาจารย์สมฤทธิ์และอาจารย์ธำรงศักดิ์ ถูกคั่นด้วยเสียงของเด็กหนุ่ม “กษิดิศ” ตัวแทนจากธรรมศาสตร์ เมื่อเขากล่าวถึงประเด็นที่เขาบอกว่า “น่ารัก”  กษิดิศบอกว่าเราไม่เคยนึกว่ารัชกาลที่ 7 ไปเรียนที่ฝรั่งเศสประเทศเดียวกับปรีดี  คือตอนที่รัชกาลที่ 6 ครองราชย์แล้ว รัชกาลที่ 7 สุขภาพไม่ค่อยดี ได้เสด็จไปฝรั่งเศสเพื่อไปเรียนหนังสือและไปรักษาตัวด้วย รัชกาลที่ 7 ทรงไปเรียนเสนาธิการทหารที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่อาจารย์ปรีดีเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยปารีส  เมื่ออาจารย์ปรีดีเรียนจบกลับเมืองไทย ปี 2470 มาอยู่กระทรวงยุติธรรมได้ไม่นาน ก็ไปอยู่กรมร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นงานใหม่คืองานกฤษฏีกาในปัจจุบัน อาจารย์ปรีดีรับราชการได้ปีเดียว พอปี 2471 วันเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 7 อาจารย์ปรีดีได้บรรดาศักดิ์จากนายปรีดี พนมยงค์ เป็น “หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม”

“ตรงนี้มีเกร็ดอีก…คือเล่าไว้ในคำนำหนังสือกรมการปกครอง อาจารย์ปรีดีพิมพ์ในงาน 100 วันของ พล.ต.ต.พัฒน์ เนียมวัฒนานนท์  อาจารย์เขียนคำนำเล่าว่าตัวเองไปเรียนหนังสือกลับมาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2470-2471 โดยมาสอนวิชากฎหมายปกครองในโรงเรียนกฎหมาย ซึ่งสอนการจำกัดการใช้อำนาจรัฐ  ระบอบการปกครองต่างๆ มีอะไรบ้าง อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ไปถึงพระเนตรพระกรรณของรัชกาลที่ 7 ท่านทรงทราบว่าปรีดีสอนเรื่องแบบนี้ในโรงเรียน เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา โปรดให้จัดงานที่อุทยานสโมสร หน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน อาจารย์ปรีดีไปเฝ้ารับเสด็จอยู่ในแถวของกระทรวงยุติธรรม ตอนนั้นมียศพลเรือนเป็นอำมาตย์ตรี เทียบเท่ากับพันตรี จึงเป็นตำแหน่งที่เฝ้าเกือบปลายแถว เมื่อรัชกาลที่ 7 พระราชดำเนินมาถึงแถวกระทรวงยุติธรรม ทรงทักทายกรรมการศาลฏีกาผู้หนึ่ง จากนั้นเสด็จผ่านข้าราชการผู้อื่นไปโดยไม่ทรงทักทาย แล้วมาหยุดประทับหน้าปลายแถว ทรงทักทายเลขานุการกรมร่างกฎหมายซึ่งเป็นหัวหน้าอาจารย์ปรีดี  ตรงนี้อาจารย์ปรีดีเขียนเล่าเองว่า “หลังทักทายเลขานุการกรมร่างกฎหมายแล้ว ก็ทรงทักทายข้าพเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงรู้จักตั้งแต่ทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกที่ฝรั่งเศส  ส่วนข้าพเจ้าเป็นนักเรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยปารีส โดยทรงเรียกชื่อเดิมของข้าพเจ้า ทรงถามว่า “ปรีดีทำงานที่ไหน”  (ต้องเข้าใจในระบอบเดิม เวลาเปลี่ยนสถานะจากนายปรีดีเป็นบรรดาศักดิ์แล้วถ้าไม่สนิทกันจริงจะไม่เรียกชื่อเดิม แสดงว่ารัชกาลที่ 7 ทรงจำอาจารย์ปรีดีได้  ไม่เช่นนั้นก็ต้องเรียกคุณหลวงหรืออะไรทำนองนั้น)  อาจารย์ปรีดีกราบทูลว่า “ทำงานที่กรมร่างกฎหมายพระพุทธเจ้าข้า”  โดยมิได้กราบทูลถึงตำแหน่งพิเศษที่เป็นผู้สอนนักเรียนกฎหมายด้วย รัชกาลที่ 7 จึงรับสั่งว่า “สอนด้วยมิใช่หรือ”  ซึ่งแสดงว่าพระองค์ทรงทราบเรื่องที่สอนกฎหมายของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าจึงกราบบังคมทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า…”

กษิดิศกล่าวต่อ ว่าลองคิดดูว่าหลังเหตุการณ์นี้ต่อมาอีก 6 เดือน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอภิวัฒน์การปกครองขึ้น รัชกาลที่ 7 ยืนคุยกับอาจารย์ปรีดีมีประโยคแบบนี้ จากนั้น 6 เดือนอาจารย์ปรีดีก็เปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ.. นี่เป็นฉากคลาสสิคมาก เป็นเกร็ดอีกเรื่องที่สนุก…”

อาจารย์ธำรงศักดิ์ขอเพิ่มเติมในส่วนเกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 7 ว่าเหตุการณ์ระหว่างอาจารย์ปรีดีกับรัชกาลที่ 7 นั้น จะว่าไปก็เป็นวิถีชีวิตของคนที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เป็นพระมหากษัตริย์  รัชกาลที่ 7 จึงทรงมีวิถีชีวิตค่อนข้างธรรมดา คือมีการเดินทางท่องเที่ยวในแถวยุโรป  พบปะรู้จักผู้คน และพร้อมจะพูดคุยด้วย แล้วคนยุคก่อนจะรู้เลยว่าใครเป็นลูกใคร  มาจากไหน ไล่เลียงพ่อแม่กันได้หมด และยิ่งเป็นกลุ่มของนักเรียนนอกด้วยกัน ดังนั้นการที่รัชกาลที่ 7 รู้แนวคิดของอาจารย์ปรีดีจึงไม่ใช่เรื่องแปลก  เพียงแต่ว่ารัชกาลที่ 7 ก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงด้วย  ไม่ใช่แค่คณะราษฏร  เพราะเมื่อรัชกาลที่ 7 ขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็ทรงคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องมีรัฐธรรมนูญ  เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่ทรงตั้งประเด็นขึ้นมาในปีแรกของพระองค์  ว่า “เราร่างรัฐธรรมนูญไหม?” เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 มาตรา 1 คืออำนาจสูงสุดเป็นของพระมหากษัตริย์  ขณะที่มาตรา 1 ของคณะราษฏร คืออำนาจสูงสุดเป็นของราษฏรทั้งหลาย  มันต่างกันตรงนี้  เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายรู้เกมกัน

“…ถ้าใครไปดูที่มิวเซียมพระปกเกล้าจะรู้ว่ารัชกาลที่ 7 ทรงอ่านหนังสืออะไร พระองค์ท่านทรงอ่านประวัติศาสตร์ยุโรปจึงรู้ความเปลี่ยนแปลงการสิ้นสุดของราชวงศ์ในยุโรป และทรงรู้ประวัติศาสตร์ของอังกฤษดีมาก  ถ้าพวกเราเรียนประวัติศาสตร์ทางการเมืองของอังกฤษกับฝรั่งเศสมา ก็จะรู้เลยว่าเวลานี้สังคมไทยกำลังเดินอยู่บนตรงนั้นอย่างเดียวกัน  ดังนั้นไม่ต้องคิดมาก (สังคมไทย) มันจะสู้กันอย่างนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง..”อาจารย์ธำรงศักดิ์ปิดท้ายประเด็น

การเสวนายังคงดำเนินต่อไป ในส่วนของการตอบคำถามผู้ฟังที่ร่วมเสวนา ซึ่งมีมากมายอีกหลายคำถาม เป็นการชี้แจงให้เกิดความชัดบ้าง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันบ้าง เพิ่มเติมเสริมความรู้แก่กันและกันบ้าง กระทั่งสิ้นสุดลงในเวลา 22.00 น. เป็นอันได้เวลาแยกย้ายกลับไปพักผ่อนเพื่อเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น