“เมธี จึงสงวนสิทธิ์” เล่าถึง “เมืองจันทบุรี” ไม่ได้มีดี แค่…ผลไม้

Travel ท่องเที่ยว

นจันทบุรี รวมถึงแวดวงคนค้าอัญมณี ไม่มีใครไม่รู้จัก “เมธี จึงสงวนสิทธิ์” ประธานกรรมการบริษัท ไชน์นิ่งมูน จำกัด คนดังแห่งเมืองจันทบูร ปัจจุบันนอกจากจะอยู่ในฐานะพ่อค้าพลอยแล้ว คุณเมธียังเปิดพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว ชื่อ “เวิลด์ แซฟไฟร์ แกลอรี่” ที่รวบรวมพลอยไพลินดิบจากแหล่งต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งกว่าจะได้มาต้องเดินทางข้ามโลกเพื่อเสาะแสวงหาหินล้ำค่านี้ นำมาเก็บสะสมไว้นานนับหลายสิบปี กระทั่งพอที่จะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ได้ ดังนั้น พิพิธภัณฑ์ เวิลด์ แซฟไฟร์ แกลอรี่ จึงเป็นแหล่งสะสมไพลินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยหรือของโลกก็ว่าได้

อีกด้านหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อ คือคุณเมธีเป็นเจ้าของหนังสือ ชื่อ “จันทบูร ไชนิ่ง มูน” เป็นเรื่องราวดีๆ และภาพสวยงามของจังหวัดจันทบุรี โดยรูปภาพที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้เลือกสรรมาแต่สิ่งสวยงามของความเป็นเมืองจันทบุรี หนังสือมีวางขายมานานแล้ว สนนราคาเล่มละ 1,500 บาท เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ เห็นวางขายอยู่ที่โรงแรมบลู แรบบิท โรงแรมของคุณเมธีเอง

เมธี จึงสงวนสิทธิ์

หากจะว่าไปแล้ว จันทบุรีเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่นักเดินทางคนชอบเที่ยวทั้งหลายไม่ควรพลาด เพราะที่นี่มีครบทุกรสชาติ ตั้งแต่เรื่องของอาหารการกิน ผักผลไม้ สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่เป็นป่าเขาลำเนาไพร น้ำตก ไหว้พระวัดศักดิ์สิทธิ์ ไปจนถึงคอประวัติศาสตร์ทั้งหลายที่ชอบโบราณสถาน ขรึมขลัง ลึกลับ เนื่องจากที่นี่เป็นเมืองเก่าตั้งแต่สมัยขอมโบราณ ยังคงมีซากสิ่งปลูกสร้างให้เห็นอยู่

เจ้าของเวิลด์ แซฟไฟร์ แกลอรี่ เล่าถึงเมืองจันทบูรเอาไว้ว่า สมัยก่อนนั้นคนเขาไม่ได้เรียก “จันทบุรี” แต่เขาเรียกกันว่า “เมืองควนคราบุรี” เป็นภาษาเขมร ไม่ใช่ภาษาไทย แต่ถ้าหากดูตามประวัติศาสตร์ของเมืองจันทบุรีแล้ว ราวพุทธศตวรรษที่ 18 กลุ่ม “ชอง” หรือชนเผ่าในตระกูล “มอญ-เขมร” เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในป่าฝั่งตะวันออก บริเวณ จ.จันทบุรี ระยอง ตราด โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อจันทบุรี-ตราด ซึ่งเป็นแหล่งของป่าและสมุนไพรที่อุดมสมบูรณ์

ต่อมาพื้นที่ป่าลดน้อยลง เพราะถูกจับจองโดยคนไทยและคนจีนหักร้างถางป่าทำสวน ทำไร่ อีกทั้งการเก็บของป่าขายกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย พรานป่าอย่างชาวชองจึงต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นแรงงานในเมือง บางส่วนกลายเป็นชาวนาชาวไร่ ชุมชนของชาวชองในปัจจุบันยังปรากฏให้เห็นบริเวณบ้านคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ ในปี พ.ศ. 2200 ได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่ม ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี และหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ ได้นำกำลังพลประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมาทางทิศตะวันออก และยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นเวลา 5 เดือน เพื่อเป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและไพร่พล ก่อนนำกองทัพทั้งชาวไทยและชาวจีนราว 5,000 คน กลับไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยา เหตุการณ์นี้เป็นความภาคภูมิใจของชาวจันทบุรีอย่างยิ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากโบราณสถานและอนุสรณ์สถานหลายแห่งที่สร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระเจ้าตากสินครั้งนั้น

“บริเวณริมน้ำจันทบุรีเรามีชุมชนเก่า เป็นบ้านไม้ตั้งเรียงรายอยู่ เพราะสมัยก่อนการสัญจรมาจันทบุรีจะมาทางน้ำ ชุมชนจึงตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เดี๋ยวนี้เรียกชุมชนจันทบูร ตรงนั้นปัจจุบันสภาพยังเป็นธรรมชาติตลอดทั้งสาย มีตลาดริมน้ำ ไม่มีนายทุนที่ไหนกล้ามากว้านซื้อที่เพื่อลงทุนใหญ่ๆ เหมือนที่อื่น ตรงนั้นสมัยก่อนเป็นเส้นทางที่จะไปกรุงเทพฯ คนจะมาขึ้นเรือกัน เพราะฉะนั้นริมน้ำจึงเป็นบ้านของคหบดีของจังหวัด มีอยู่แห่งเขาเปิดเป็น สถาบันอาศรมศิลป์ มาช่วยในการปลุกจิตสำนึกของชาวบ้านบริเวณนั้นให้รู้ว่าที่ตรงนั้นเป็นที่ที่ควรอนุรักษ์ไว้”

ไม่เพียงแต่ปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้าน แต่ยังมีการจัดการให้ชุมชนริมน้ำจันทบูรเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนต่างถิ่น นอกจากได้บรรยากาศของยุคโบราณแล้ว ยังมีชาวบ้านร้านถิ่นทำขนมออกมาวางขาย โดยของที่ขายมักจะเป็นของท้องถิ่น หรือของสมัยก่อน ทั้งของกินของใช้ แต่คงไม่ใช่ของจริง เป็นของทำขึ้นเลียนแบบเพื่อขายนักท่องเที่ยวเท่านั้น ยกเว้นขนมหรืออาหารเป็นของพื้นถิ่นแท้ๆ

ในปี พ.ศ.2436 ฝรั่งเศสได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้นานถึง 11 ปี เนื่องจากสยามมีข้อพิพาทดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง โดยกล่าวหาว่าสยามล่วงล้ำดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ฝ่ายสยามเห็นว่าจะต่อสู้กับทหารฝรั่งเศสไม่ได้จึงขอเปิดการเจรจา ทางฝรั่งเศสยื่นคำขาด ให้สยามยอมยกดินแดนที่เป็นข้อพิพาท รวมทั้งเกาะทั้งหมดในลำน้ำโขง พร้อมเงินอีกหนึ่งล้านฟรังก์และสามล้านบาท โดยจนกว่าจะดำเนินการเสร็จฝรั่งเศสจะยึดเมืองจันทบุรีไว้ก่อน แต่เมื่อทางสยามดำเนินการเสร็จ ฝรั่งเศสไม่ได้ถอนกำลังออกไป ฝ่ายสยามจึงต้องยอมยกเมืองตราดและเมืองประจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง) เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี และอีกหนึ่งปีต่อมาสยามยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เพื่อแลกเมืองตราดคืนมา

อย่างไรก็ดี ฝรั่งเศสไม่ได้คืนเมืองประจันตคีรีเขตร์แต่อย่างใด ปัจจุบันเมืองประจันตคีรีเขตร์จึงอยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา เมื่อมีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล จึงจัดตั้งมณฑลจันทบุรี มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด อยู่ในเขตการปกครองจนถึงปี พ.ศ.2476 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงยกเลิกมณฑลเทศาภิบาลและได้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ จันทบุรีจึงมีฐานะเป็นจังหวัดจนถึงปัจจุบัน จันทบุรีจึงเป็นเมืองชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย ทั้งในสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์จวบจนทุกวันนี้

ชื่อเสียงอันโด่งดังของจันทบุรีแต่ก่อนนี้ คือเรื่อง “พลอย” ปัจจุบันวัตถุดิบพลอยก้อนหาได้ยากเต็มที หรือไม่มีเลย ต้องไปนำเข้าจากต่างประเทศหรือแหล่งอื่น คุณเมธีกล่าวถึงเรื่องนี้ในฐานะพ่อค้าพลอยว่า ชนชาติที่รู้จักการทำพลอยไม่ใช่คนจันทบุรี แต่เป็นคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในจันทบูร คือ “พวกกุล่า” จะอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา

“พวกนี้มีความชำนาญมาก เขาก็มาทำพลอย มาซื้อมาค้ามาเจียระไนพลอย ทำไมคนกุล่าทำพลอยได้ เพราะเวลาเข้าไปในเหมืองพลอยสมัยเมื่อร้อยๆ ปี ผ่านมา ในเหมืองพลอยลองคิดดู บริเวณนี้เป็นป่าทึบ มีเชื้อไข้มาลาเรียเยอะมาก คนไทยคนจีนทนมาลาเรียไม่ได้ แต่กุล่าเขามีภูมิคุ้มกันทนได้ เลยไปขุดพลอยมาเจียระไน จึงมาสู่คนจีนมีโอกาสฝึกปรือได้เจียระไนพลอย คนจีนก็เลยมาค้าขายพลอย”

“เวลานั้นพลอยจันท์ยังไม่มีชื่อเสียงเท่าไหร่ และการค้าขายก็ยังไม่มาก มีคนอยู่คนหนึ่งทำให้วงการพลอยเปลี่ยนแปลงไป เขาคือ “คุณสามเมือง แก้วแหวน” คนคนนี้เขาคิดว่าพลอยขุ่นๆ น่าจะเผาได้ ก็ทดลองเผา แต่ทดลองอย่างไรก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งเกิดคราวเคราะห์ของจันทบุรีในปี พ.ศ.2511 เกิดไฟไหม้ขนานใหญ่ไหม้ครึ่งเมืองเลย เพราะแต่ก่อนมีแต่บ้านไม้ บ้านของคุณสามเมืองก็โดนไฟไหม้ด้วย ที่บ้านของเขาที่ถูกไฟไหม้เขาเก็บพลอยขุ่นๆ ไว้ในปี๊ปเป็นสิบๆ ปี๊บอยู่ในบ้านนั้นแหละ พอไฟมอดดับแล้วเขาก็ไปคุ้ยเขี่ยดูในปี๊บ เห็นว่าความร้อนขนาดนั้นทำให้ หม่า หรือ เหลือบ ที่อยู่ในพลอยขาด กลายเป็นสีสวยงาม

ก็เลยกลับไปคิดค้นต่อ กระทั่งสามารถเผาพลอยได้สำเร็จ พอเผาพลอยสำเร็จ พลอยที่มีอยู่จะสวยมาก อย่างที่ผมบอกเมื่อก่อนพลอยจันท์ยังไม่ซื้อขายกันเยอะเท่าไหร่ ไม้ขีดก้านแรกของคุณสามเมืองทำให้เราเห็นว่าพลอยเผาแล้วมันสวยและเป็นธรรมชาติ ที่จริงจันทบุรีไม่ได้มีชื่อเรื่องพลอย เรามีชื่อมากเรื่องไพลินและทับทิม ส่วนที่มีชื่อเรื่องพลอยคือประเทศอินเดีย”

เมื่อความบังเอิญทำให้เกิดความงามของพลอย เลยเกิดการทดลองขนานใหญ่ “…เกือบจะทุกบ้านที่ทำพลอยก็ทดลองเผาพลอยกันยกใหญ่ ทุกคนไปซื้อพลอยหม่าๆ เหลือบๆ จากทุกที่ในโลกมาเผา ออสเตรเลียบ้าง ศรีลังกาบ้าง พม่าบ้าง กลายมาเป็นพลอยเมืองจันท์ เกิดปรากฏการณ์ว่าจันทบุรีค้าขายพลอย ทับทิม ไพลิน กลายเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วงนั้นบูมที่สุด มีช่วงบูมอยู่สักราวๆ 10 ปีได้ ใครมีเงินแสนก็กลายเป็นเงินล้าน ที่ผมมีอยู่ถ้าโม้ๆ ผมก็ระดับโลกเลยนะ” (หัวเราะชอบใจ)

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเมืองจันท์ ที่กลั่นจากความรู้สึกนึกคิดในใจของพ่อค้าพลอย ที่รักและสำนึกในจังหวัดอู่ข้าวอู่น้ำของตน และอยากให้คนอื่นๆ ได้ไปเยือนและเห็นคุณค่า ความสวยงาม อุดมสมบูรณ์ของจันทบุรี เช่นเดียวกัน

“มติชนอคาเดมี” จัดทริปพาสัมผัสดินแดนภาคตะวันออกใน “ทัวร์ อิ่มพุงกาง..ตะลุย!!มหานครผลไม้ จ.ระยอง-จันทบุรี-ตราด” วันที่ 26-27 พฤษภาคม 2561 จะพาทุกท่านไปเช็กอิน รับประทานอาหารพื้นบ้านเมืองจันท์แท้ๆ กันอย่างเต็มอิ่ม

สนใจติดต่อ มติชนอคาเดมี

Inbox : Facebook Matichon Academy

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105

หรือ ติดต่อ line : @m.academy

คลิกอ่านรายละเอียด “ทัวร์ อิ่มพุงกาง..ตะลุย!!มหานครผลไม้ จ.ระยอง-จันทบุรี-ตราด” ที่นี่

: https://www.matichonacademy.com/tour/article_12512

https://www.matichonacademy.com/content/article_12810


Content Team Matichon Academy
[email protected]
0-2954-3971 ต่อ 2111
ติดตามอ่านข่าวสารได้ที่ www.matichonacademy.com

ไม่พลาดข่าวสารอาหาร ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เกร็ดความรู้
คอร์สเรียนสนุกๆได้ประโยชน์-เสริมอาชีพ
คลิกติดตามเพจเฟซบุ๊ค MatichonAcademy