อุ่นแกงกะทิเสร็จใหม่ๆ ห้ามใช้ทัพพีคน เพราะจะทำให้แกงบูด จริงหรือไม่?

Tips & Tricks สารพันเกร็ดน่ารู้

จริงไหม? ห้ามคนแกงทะทิ ไม่งั้นเดี๋ยวแกงบูด เป็นคำเตือนจากผู้ใหญ่ หรือพ่อครัวแม่ครัวที่ได้ยินกันมานาน บ้างก็ว่าจริง บ้างก็ว่าไม่จริง โดยเพจ เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว เขามีคำตอบมาฝาก ดังนี้

ปกติหลังการอุ่นแกงกะทิแล้วปล่อยทิ้งไว้เนี่ย ชั้นของไขมันที่เกิดจากกะทิ/ไขมันสัตว์ที่ละลายเอาน้ำมันหอมระเหยจากเครื่องแกงนั้นเป็นชั้นกั้น (barrier) เชื้อจุลินทรีย์ได้ดีเลย

เนื่องจากว่าชั้นไขมันนั้นสามารถปิดกั้นออกซิเจนไม่ให้ลงไปในแกง เพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์ได้ใช้หายใจในการเติบโต รวมไปถึงน้ำมันหอมระเหยจากข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง พริก กระชาย ดอกจันทน์แปดกลีบ อบเชย ฯลฯ พวกนี้มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีด้วย

รวมไปถึงการให้ความร้อนที่ใช้ในการอุ่นนั้น อาจจะไม่ยาวนานเพียงพอต่อการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมด ซึ่งการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์นั้นก็มีผลต่อการเปลี่ยนรส กลิ่นของแกงนั้นจนเราสัมผัสได้เลยแหละ

อีกทั้งเพื่อสุขอนามัยนั้น โดยเฉพาะแกงที่มีขายตามข้างทางนั้นอาจจะปนเปื้อนฝุ่นผงได้ หากถ้าเรายังดื้อที่จะคนแกงเพื่อดูชนิดของแกงด้วยนะครั

ดังนั้นการกวน หรือคนนั้น จะเป็นการเปิดโอกาสให้ฝุ่นผง ออกซิเจนในอากาศนั้นเข้าไปปะปนในชั้นของน้ำแกงที่เต็มไปด้วยแหล่งอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ใต้ล่างลงไป

ส่งผลทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่หลุดรอดลงไปนั้นมีโอกาสปาร์ตี้และเติบโตอย่างรวดเร็วได้ เนื่องจากว่าน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคนั้นแทบจะไม่ได้ไปอยู่ในส่วนของน้ำเลยนะครับ

นอกจากนั้นฝาที่ใช้ปิดหม้อแกงนั้นควรจะแห้งสนิท ไม่ให้มีหยดน้ำที่เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำที่เกิดจากการระเหยขณะอุ่นแกง (รวมไปถึงฝาหม้อหุงข้าวทั้งไฟฟ้า/และไม่ไฟฟ้าด้วย)

ดังนั้น ถ้ามีหยดน้ำเกาะแล้ว ก็ควรเช็ดให้แห้งสนิทหรือไม่ก็สะบัดทิ้งเพื่อไม่ให้หยดน้ำนั้นหลุดลงไปในอาหารหรือข้าวที่หุงด้วย เนื่องจากว่าหยดน้ำที่เกิดขึ้นนั้นมีโอกาสที่จะปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์จากอากาศได้ดีด้วยนะครับ

ดังนั้น ห้ามคนแกงหลังอุ่น ไม่งั้นจะทำให้แกงบูดได้ง่ายๆ จนต้องทิ้งทั้งหม้อกันเลยทีเดียว

ที่มา : เพจ เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว