บะจ่าง “ฅนแซ่ล้อ” ของอร่อยมาไกลจาก “อู่ทอง”

Review พาชิมพาส่อง

ไม่ได้เป็นการมากล่าวถึง “เทศกาลวันไหว้บะจ่าง” เพราะวันดังกล่าวผ่านพ้นมาแล้ว ตามปกติคนจีนจะไหว้ขนมบะจ่างในเดือน 5 วันที่ 5 แต่ที่ต้องกล่าวถึงบะจ่าง เป็นเพราะว่าเมื่อไม่นานานี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ มีการจัดงานเที่ยวทั่วไทย โดยมีกลุ่มชาวบ้านจากอำเภออู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ได้นำบะจ่างมาขายเป็นโปรโมชั่นในงานนี้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียว เนื่องจากไม่ได้มาขายการท่องเที่ยว แต่เป็นการโปรโมทอาหารในพื้นถิ่น นั่นก็คือบะจ่างมีชื่อว่า “บะจ่างฅนแซ่ล้อ”

“กิตติ์ธเนศ พุฒพีระวิทย์” นามสกุลเดิม “แซ่ล้อ” เป็นลูกหลานคนแซ่ล้อ เล่าถึงความเป็นมาของขนมบะจ่างฅนแซ่ล้อ ว่าเดิมทีเดียวเป็นสูตรการทำบะจ่างที่อากง อาม่า นำมาจากเมืองจีนสมัยที่ยังระเหเร่ร่อนเข้ามาพึ่งพระบรมสมโพธิสมภารในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 แล้วสืบทอดการทำบะจ่างต่อเนื่องกันมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน พอมาถึงรุ่นปัจจุบัน คือรุ่นที่ 3 ได้มีการนำนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาเสริมในการทำบะจ่าง นั่นคือการซีลปิดผนึกเป็นสูญญากาศจะได้เก็บรักษาได้นานขึ้น นอกจากนี้ยังนำธัญพืชต่างๆ มาผสมเข้าไปด้วย ออกมาเป็นสูตรเฉพาะตัว เพื่อให้บะจ่างมีประโยชน์ต่อร่างกายได้วิตามินและสารอาหารครบถ้วน

“ส่วนประกอบข้างในบะจ่างฅนแซ่ล้อ มีหมู กุนเชียง กุ้ง เห็ดหอม แปะก๊วย ไข่เค็ม เสริมด้วยธัญพืชพวกถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วลิสง งาดำ งาขาว และลูกเดือย ส่วนผสมพิเศษกว่าที่อื่นเพราะเห็นว่าธัญพืชน่าจะเป็นประโยชน์กับคนกินที่รัก

สุขภาพ จึงเสริมส่วนประกอบนี้เข้าไป บะจ่างส่วนใหญ่ที่ทำขายจะไม่ใส่พวกนี้ อันนี้เป็นสูตรฅนแซ่ล้อโดยเฉพาะ ผมทำเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว ลูกชายผมเป็นรุ่นที่ 4 กำลังจะตามมา…”

“…บะจ่างของเรายังซีลสุญญากาศเพื่อให้เก็บได้นานขึ้น อยู่ได้ถึงสองสัปดาห์โดยไม่ต้องเข้าตู้เย็น ส่วนข้าวที่ใช้ในการทำเป็นข้าวเหนียว ห่อด้วยใบไผ่ตงเพราะใบใหญ่ดี ที่เยาวราชมีใบไผ่ขายอยู่แล้ว หาไม่ยาก ปกติแล้ววันหนึ่งทำอยู่ประมาณ 1,000 ลูก ราคาขาย 3 ลูก 150 บาท ช่วงเทศกาลนี่เสิร์ฟไม่ทันเลย บะจ่างไม่ใช่ขนมหรืออาหารกินเล่น คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักกันและกินไม่ค่อยเป็น ทั้งที่เป็นของมีประโยชน์ วิธีการกินไม่ยุ่งยากอะไร อย่างของผมแค่เปิดส่วนที่เป็นซีลสุญญากาศออกนิดหนึ่ง นำเข้าไมโครเวฟอุ่นให้ร้อนพอดีๆ ก็กินได้แล้ว อร่อยและได้คุณประโยชน์ สนใจสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ หรือโทร 063-209 3201…อยากให้ลองกินดู”

นั่นเป็นเรื่องราวของบะจ่างฅนแซ่ล้อ ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล “ไหว้จ่าง” หรือ “ไหว้บะจ่าง” ที่ภาษาจีนเรียกว่า “เทศกาลตวนอู่” ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจีน (จันทรคติ) ของทุกปี ไหนๆ ก็มาถึงตรงนี้แล้ว ถือโอกาสเล่าเรื่องตำนานการไหว้บะจ่างก็แล้วกัน ซึ่งมีความเป็นมาในสมัยชุนชิว ประเทศจีนถูกแบ่งเป็นแคว้นเล็กๆ จำนวนมาก แคว้นฉินเป็นแคว้นที่เข้มแข็งที่สุดในขณะนั้น ส่วนแคว้นฉู่เป็นแคว้นที่อ่อนแอและเล็ก มักถูกแคว้นฉินกดขี่ข่มเหง “ชีหยวน” สำเนียงจีนเรียก “ชวีเอวี๋ยน” เป็นขุนนางระดับสูงของแคว้นฉู่ เขาห่วงใยชาติบ้านเมืองของตนมาก เสนอให้แคว้นฉู่ร่วมมือกับแคว้นฉีเพื่อต่อต้านแค้วนฉิน แต่ถูกเหล่าราชนิกูลและชนชั้นสูงต่อต้านอย่างหนัก และปรักปรำให้ร้าย ฮ่องเต้หูเบาจึงถอดออกจากตำแหน่งขุนนาง และเนรเทศไปอยู่ชายแดน แต่ชีหยวนยังห่วงใยบ้านเกิดเมืองนอนและประชาชนของตน จึงได้ประพันธ์บทกวีอมตะชื่อ “หลีเซา” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความห่วงใยบ้านเมืองและราษฎร

ต่อมา 278 ปีก่อนคริสตกาล กองทัพของแคว้นฉินก็เข้ายึดครองเมืองหลวงของแคว้นฉู่จริงๆ หลังจากชีหยวนทราบข่าวก็เศร้าโศกเสียใจจนไปกระโดดน้ำฆ่าตัวตายที่แม่น้ำหมี่หลอเจียง ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ เมื่อชาวแคว้นฉู่รู้ข่าวการฆ่าตัวตายของชีหยวน ต่างพากันมายังริมแม่น้ำ ชาวประมงก็ออกพายเรือเพื่องมศพเขาขึ้นมา

บางคนนำข้าวปั้น ไข่ต้มที่เตรียมไว้ให้ชีหยวนโยนลงในแม่น้ำ หวังว่าปลาปูกุ้งห้อยในน้ำจะกินอาหารพวกนี้แล้วไม่ไปกัดกินร่างของชีหยวน นับแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อถึงวันที่ 5 เดือน 5 ของทุกปี ทุกคนจะนำเครื่องเซ่นมาเซ่นไหว้รำลึกถึงชีหยวนที่ริมแม่น้ำ นานวันเข้าการโยนข้าวลงแม่น้ำกลายเป็นข้าวปั้นห่อด้วยใบไม้และผูกด้วยด้ายสีต่างๆ เพื่อไม่ให้ข้าวแตกกระจาย ข้าวปั้นที่ห่อด้วยใบไม้ จึงกลายเป็น “จ่าง” กระทั่งทุกวันนี้

อันที่จริงแล้ว “บะจ่าง” นั้น ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างหนึ่งในการถนอมอาหารให้เก็บไว้ได้นาน ในช่วงที่อากาศเริ่มอุ่น โดยการนำข้าวเหนียวมาห่อใส่ใบไผ่แล้วนำไปนึ่งหรือต้ม ส่วนไส้ของ    บะจ่างแต่ละพื้นที่ก็มีสูตรเฉพาะตัว ยิ่งในประเทศจีนซึ่งเป็นต้นกำเนิดก็ยิ่งค่อนข้างหลากหลาย แต่โดยทั่วไปแล้วทางจีนตอนเหนือนิยมทำไส้ถั่วแดง หรือพุทราแดงค่อนข้างมาก ส่วนทางใต้จะเน้นไส้หลากหลาย ทั้งเนื้อ ไข่ เห็ด แปะก๊วย และอื่นๆ จัดเต็มกันไปตามสูตร แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ร่วมคือ บะจ่างจะห่อเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ว่ากันว่านั่นเป็นพราะลักษณะคล้ายเขาวัว ประชาชนจึงใช้บะจ่างแทนวัว ซึ่งเป็นของอย่างหนึ่งในการเซ่นไหว้นั่นเอง

เทศกาลไหว้บะจ่าง คนจีนจะไหว้ในตอนเช้า โดยใช้ธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอก การไหว้ด้วยธูป 5 ดอก เพื่อระลึกถึงครูบาอาจารย์ พ่อแม่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะเข้าหลัก 5 ธาตุหรือโหงวเฮ้งของจีน ประกอบด้วยธาตุดิน ทอง น้ำ ไม้ และไฟ เหล่านี้ตามคติความเชื่อของคนจีนมีส่วนเกี่ยวกับวิถีชีวิตโดยตรง