“กล้วยต้ม” สุก สด รสอร่อย ของกินดีมีประโยชน์ ทำง่ายตั้งแต่เริ่มต้น

Recipes สูตรอาหาร

“กล้วย” หากพูดถึงความหมายตามพจนานุกรม มี 2 ความหมาย หนึ่งคือชื่อไม้ล้มลุกประเภทหนึ่ง แตกหน่อเป็นกอ ผลกินได้  สองคือง่าย ทำได้โดยง่าย ตัวอย่างเช่น ง่ายยังกับปอกกล้วยเข้าปาก เรื่องกล้วยๆ เป็นต้น

ในความมหมายของการเป็นไม้ล้มลุกประเภทหนึ่งนั้น หมายถึงกล้วยที่เป็นผลไม้ มีลักษณะเป็นหวี นิยมรับประทานในบ้านเรา ซึ่งมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์  อาทิ  กล้วยน้ำว้า  กล้วยหอม  กล้วยไข่  กล้วยหักมุก  กล้วยเล็บมือนาง ฯลฯ  สำหรับชาวต่างชาติแล้ว มักรู้จักกล้วยหอมเป็นอย่างดี และนิยมรับประทานกล้วยชนิดนี้มากกว่าชนิดอื่น เพราะมีรสชาติอร่อยและมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์

กล้วยเป็นพืชอยู่ในสกุล Musa มีหลายชนิด บางชนิดออกหน่อแต่บางชนิดก็ไม่ออกหน่อ ใบแบนยาวใหญ่ ก้านใบตอนล่างเป็นกาบยาวหุ้มห่อซ้อนกันเป็นลำต้น ออกดอกที่ปลายลำต้นเป็นปลี และมักยาวเป็นงวง มีลูกเป็นหวีๆ รวมเรียกว่า เครือ กล้วยบางชนิดมีลำต้นคล้ายปาล์ม ออกใบเรียงกันเป็นแถวทำนองพัดคลี่ เช่น กล้วยพัด

ภาพจาก Thai PBS

ด้านคุณประโยชน์ของกล้วย  มีงานวิจัยหลากหลายมากที่กล่าวถึงเรื่องนี้ โดยระบุว่าสารอาหารที่พบในกล้วยมีทั้งน้ำตาล เบตาแคโรทีน วิตามินซี  โปแตสเซียม  แมกนีเซียม  ทองแดง  ฟอสฟอรัส  โฟเลต ใยอาหาร และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล และแทนนิน อีกด้วย  กล้วยน้ำว้าห่ามหรือจวนสุกนั้นมีโปแตสเซียมในปริมาณสูง ซึ่งสารโปแตสเซียมนี้มีหน้าที่ช่วยการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ เช่น ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ควบคุมสมดุลของอิเล็กโกรไลต์และสมดุลของกรด-เบสในร่างกาย  ควบคุมโรคความดันสูง  ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

ภาพจาก YouTube อัปโหลดโดย ggfood

คนไทยรับประทานกล้วยน้ำว้าได้ทั้งผลดิบ ผลห่าม ผลสุก และผลงอม หรือนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารคาวหวาน เช่น ผลดิบนำมาทำเป็นส้มตำกล้วย ผลห่ามนำมาทำเป็นกล้วยบวดชี  กล้วยทอด  ผลสุกนำมาบดกับข้าวเป็นอาหารเสริมให้เด็กอ่อน  อย่างไรก็ดี  เนื่องจากในกล้วยมีโพแตสเซียมสูง ถ้ากินบ่อยๆ ร่างกายอาจปรับตัวให้ขับโพแตสเซียมมากขึ้น แต่พอหยุดกินอาจทำให้โพแตสเซียมต่ำได้  จึงไม่ควรรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน และมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดภาวะโพแตสเซียมต่ำ ร่างกายปรับไม่ทัน ส่งผลให้กล้ามเนื้อไม่มีแรง ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะพอดี

กล้วยนอกจากกินเป็นผลไม้แล้ว ยังสามารถนำมาทำอาหารและทำขนมได้หลากหลายเมนู โดยเฉพาะขนม สามารถทำได้ตั้งแต่กล้วยบวชชี  กล้วยทอด  ขนมกล้วย เป็นต้น แต่ยังมีอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถนำกล้วยมารับประทานด้วยวิธีง่ายๆ นั่นคือการทำ “กล้วยต้ม”  และในการทำกล้วยต้มก็มีกันหลากหลายวิธี วิธีไหนอร่อยขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ไหนๆ ก็มีเวลาว่างอยู่กับบ้านแล้ว  ลองลงมือทำของว่างง่ายๆ ด้วยตัวเอง แล้วจะรู้ว่าไม่ยากและยังอร่อยด้วย

การทำ “กล้วยต้ม” นิยมใช้กล้วยน้ำว้า เริ่มด้วยการต้มกล้วยแบบธรรมดาๆ โดยขั้นตอนแรกตัดลูกกล้วยออกจากขั้ว ล้างเปลือกให้สะอาด เรียงกล้วยลงในหม้อ ใส่ใบเตยและเกลือ เติมน้ำเปล่าให้ท่วมกล้วย ปิดฝา เปิดไฟกลางต้มจนกล้วยสุกประมาณ 20-30 นาที สังเกตจากเปลือกกล้วยปริออก ให้ตักกล้วยออกจากน้ำ พักให้เย็น จากนั้นปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นตามยาว จะกินเปล่าๆ หรือโรยน้ำตาลทราย มะพร้าวอ่อนขูด ก็ตามใจชอบ

อีกวิธีคือนำน้ำปูนใสผสมกับน้ำสะอาดและเกลือ พักไว้ นำกล้วยน้ำว้ามาปอกเปลือกออกแล้วหั่นตามยาว นำลงแช่ในน้ำปูนใสที่ผสมไว้สักครู่ เพื่อไม่ให้กล้วยดำและมีรสหวานตามธรรมชาติ เวลานึ่งจะได้ไม่ฝาด จากนั้นตั้งซึ้งสำหรับนึ่งบนเตา ใส่น้ำ รอน้ำเดือด เมื่อน้ำเดือดใส่กล้วยน้ำว้าที่หั่นแล้วลงไปนึ่ง ประมาน 35 นาที  กล้วยจะหนึบกำลังดี  นำออกมาใส่จานพร้อมรับประทาน หรือโรยน้ำตาลทราย มะพร้าวอ่อนขูด ก็ได้ตามใจชอบ  หรือหากจะพลิกแพลงจาก “น้ำปูนใส” เป็นใช้ “น้ำเกลือ” แช่กล้วยแทนก็ได้  วิธีการทำก็แบบเดียวกัน แต่อาจจะเพิ่มใบเตยใส่เข้าไปในตอนนึ่งด้วย จะช่วยเพิ่มกลิ่นหอมของใบเตยเข้าไปอีก  ชอบแบบไหนก็เลือกทำเองได้

แถมท้ายด้วยวิธีการเลือกซื้อกล้วยให้รู้พอเป็นกระษัย การเลือกซื้อกล้วยโดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า ควรเลือกหวีที่มีจำนวน 14-16 ลูกต่อหวี เพราะเป็นกล้วยที่อยู่กลางเครือจะมีวิตามินและสารอาหารสมบูรณ์ที่สุด ทั้งเซอโรโตนีนที่ช่วยในเรื่องคลายเครียดกินแล้วหลับสบาย และทิปโตแฟนที่เป็นสารตั้งต้นของการหลั่งสารเอ็นโดฟีน ควรเลือกกล้วยที่มีสีเขียวแต่ไม่ใช่กล้วยอ่อน หรือกล้วยที่แก่แล้วประมาณ 70-80% หรือกล้วยที่ปลูกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 วัน มีลักษณะผลกลมเกลี้ยง มีเหลี่ยมน้อยที่สุด เพราะกล้วยที่เหลี่ยมหายแล้วคือกล้วยแก่