“เงินสด” หรือ “เงินผ่อน” จ่ายแบบไหนดีนะ?

Money เงินทองต้องรู้

หลายครั้งที่เราถกเถียงกับตัวเองว่า ตกลงเราจะซื้อของด้วย “เงินสด” หรือ “เงินผ่อน” ดีนะ เพราะหลายเสียงก็บอกหลายอย่างเหลือเกิน บ้างก็บอกว่าซื้อของเงินสดจะได้ไม่ขาดดุลเสียดอกเบี้ย บางคนก็บอกว่าน่าเสียดายเงินสดก้อนโต ทั้งๆ ที่มีระบบผ่อนจ่ายแบบ “ดอกเบี้ย 0%” ก็น่าจะผ่อนเป็นงวดๆ ไป เพราะอย่างน้อยเราก็มีเงินหมุนไว้ใช้ ไปๆ มาๆ ก็เลยทำให้เราอดคิดหนักไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อเพราะเสียดายเงินขึ้นมาซะอย่างนั้น

และหลังจากที่ไม่ยอมใช้เงินก้อนนี้ เราจึงมานั่งวิเคราะห์ “ความน่าจะเป็น” และ “ความเป็นไปได้” ระหว่างการใช้เงินสดกับเงินผ่อนว่าอันไหนมีข้อดี-ข้อเสียมากกว่ากัน

การแบ่งผ่อนชำระด้วยเงินผ่อน

อาจจะเหมาะกับการซื้อสินค้าขนาดใหญ่หรือราคาแพง เช่น บ้าน คอนโดฯ รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ซึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก บางกรณีต้องมีเงินดาวน์ ซึ่งเงินดาวน์ที่ว่าก็ปาเข้าไปหลายหมื่น-หลายแสนแล้ว

แต่บางกรณีก็อาจไม่ต้องมีเงินดาวน์หรือมีจำนวนไม่สูงมาก แถมดอกเบี้ย 0% อีกต่างหาก เช่น รถจักรยานยนต์ทั่วไป ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีรายได้น้อย หรือไม่มีเงินก้อนมากพอ จึงต้องอาศัยการผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ จะได้นำเงินสดไปแบ่งเฉลี่ยใช้จ่ายประจำวันได้ หรือบางคนจ่ายเงินดาวน์ไปเลยครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งอาศัยการผ่อนชำระเป็นรายเดือนตามกำลังของแต่ละคนว่าสามารถจ่ายได้เดือนละเท่าไร เป็นระยะเวลากี่เดือน ทำให้การบริหารรายจ่ายต่อเดือนง่ายขึ้น และเป็นไปตามกำลังความสามารถของการหารายได้ของเรานั่นเอง

ข้อดี – ไม่ต้องเสียเงินก้อนโต และต้องระมัดระวังรายจ่ายมากขึ้น

ข้อเสีย – ต้องเป็นหนี้จนกว่าจะผ่อนหมด ทำให้เราอาจจะไม่มีเงินเก็บ และกลายเป็นว่าได้สินค้ามาในราคาที่แพงกว่าเดิม (เพราะมีดอกเบี้ยและค่าอื่นๆ อีกมากมาย) แต่ที่น่าเจ็ใจที่สุดน่าจัเป็นตอนเราผ่อนหมด ราคาสินค้านั้นดันลดลงมาอยุ่ในราคาที่เราสามารถซื้อเงินสดได้เสียนี่ เท่ากับว่าเราซื้อสินค้าชนิดนั้นแพงกว่าปกติตั้งหลายบาท

การใช้เงินสด

เหมาะกับการซื้อสินค้าทั่วไปที่รวมถึงสินค้าที่มีราคาสูงไม่เกินหลักหมื่นต้นๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก เครื่องใช้ไฟฟ้านานาชนิด โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น เพราะหากจะไปผ่อนสินค้าประเภทนี้ แน่นอนว่าจะได้สินค้าบวกรวมดอกเบี้ยแล้ว ราคาแพงกว่าที่เราจ่ายเงินสดเสียอีก ฉะนั้น แนะนำว่าให้อดทนเก็บเงินสดไว้ในธนาคาร หรือเก็บไว้กับตัวเอง เมื่อครบจำนวนตามราคาสินค้าแล้วค่อยนำไปซื้อ เผลอๆ อาจได้ถูกกว่าเดิมด้วย

ข้อดี – จ่ายเงินแค่ครั้งเดียว ไม่ต้องมากังวลในเรื่องของเงินผ่อนในแต่ละเดือนว่าจะพอกับรายจ่ายที่ต้องจ่ายหรือเปล่า และยังสามารถแบ่งเฉลี่ยเป็นเงินเก็บในเดือนถัดไปได้อีก

ข้อเสีย – เสียดายเงินก้อน ซึ่งสามารถนำไปลงทุนต่างๆ เพื่อให้เกิดผลกำไรเพิ่มขึ้นมาสัก 7-10% โดยเราจะมีเงินเพิ่มขึ้นได้ถึง 2 เท่าภายในเวลา 7-10 ปี เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลซื้อสลากออมสิน หรือกองทุนต่างๆ เป็นต้น

สำหรับฉันแล้ว ก่อนที่จะตัดสินใจซื้ออะไร ต้องดูฐานเงินเดือนและกำลังการใช้จ่ายของตัวเองก่อนว่า หากเราผ่อนจ่าย เช่น ซื้อรถยนต์ เรามีเงินดาวน์อยู่แล้วเท่าไหร่ ที่เหลือผ่อนนานแค่ไหน เดือนละเท่าไหร่ หากผ่อนชำระแล้วชีวิตเราจะเหนื่อยหรือเปล่า หรือจะอดทนเก็บเงินก้อนโตเป็นแสนๆ เพื่อจ่ายหมดหน้าตักซื้อรถคันแรก (ที่เขาว่ามีแต่ลดจริงๆ นะ) ก็ให้พิจารณากันอีกที

แต่ในขณะเดียวกัน บางคนก็ดันอยากได้ทั้งรถยนต์และไอโฟนสักเครื่อง แน่นอนว่ามีระบบผ่อนจ่ายแบบไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งหากเราสามารถผ่อนจ่ายได้ตรงเวลาเป๊ะๆ ก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวเกินไป แต่ต้องรักษาวินัยให้ดีนะจ๊ะ

หากมีกำลังจ่ายได้ก็ซื้อแบบเงินสดไปเลย จบ! ไม่ต้องลังเล และไม่ต้องพะวักพะวนกับการทยอยจ่ายทุกๆ เดือนให้งงกับชีวิต แถมวันไหนเกิดหลงลืมขึ้นมา ต้นดอกเบี้ยก็จะโตขึ้นทันตาเห็น


ที่มา : หนังสือ Knock Down Money : ออมเงินให้อยู่หมัด โดย ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ สนพ.มติชน