ส่องกรุงเทพมหานคร ปี 2575 เมืองน่าอยู่ ผู้คนใจดี

Lifestyle ไลฟ์สไตล์

ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2563 เป็นต้นมา กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย หรืออีกนัยหนึ่ง “กรุงรัตนโกสินทร์” มีอายุครบ 238 ปีแล้ว เหลืออีกเพียงสิบกว่าปีก็จะครบ 250 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญอีกช่วงหนึ่งของการดำรงความเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย จากเพจ Thailand Future กล่าวถึงการพัฒนากรุงเทพมหานครที่จะมีอายุครบ 250 ปี หรือการพัฒนากรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2575 ในโครงการที่มีชื่อว่า “กรุงเทพฯ 250” เป็นการพลิกฟื้น พัฒนากรุงเทพในทุกๆด้านให้เป็นเมืองน่าอยู่ โดยอิงกับผลการศึกษา “โครงการกรุงเทพฯ 250 : อนาคต ความหลากหลาย โอกาสของทุกคน” ซึ่งเป็นแผนงานการฟื้นฟูกรุงเทพฯ ให้เห็นผลใน 20 ปีข้างหน้า (เริ่มนับตั้งแต่ในปี 2558)

ตามแผนงานของโครงการดังกล่าว กล่าวถึงการเสนอแผนแม่บทอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นใน 17 เขตย่านเมืองเก่า โดยมีพื้นที่นำร่อง คือย่าน “กะดีจีน” หรือ “กุฎีจีน” และคลองสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พร้อมนำไปปฏิบัติในงบประมาณ 390 ล้านบาท เพื่อเริ่มต้นสร้างกรุงเทพฯ ใหม่ ที่จะซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 250 ปีกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับโครงการนำร่องย่านกะดีจีน-คลองสานนี้ ตามแผนจะดำเนินการผ่านโครงการ “ย่านแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมริมน้ำที่สร้างสรรค์เพื่อทุกคน” ซึ่งประกอบด้วย 5 โครงการ คือ 1. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเดินริมน้ำย่านกะดีจีนให้สวยงามมากขึ้นและผู้คนเข้าถึงได้มากขึ้น

ภาพจาก : ประชาชาติธุรกิจ

2. โครงการศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวทางน้ำ-จักรยาน สะพานพุทธโดยสร้างให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดเชื่อมโยงการสัญจรทางน้ำ เนื่องจากมีท่าเรือเก่าที่สามารถปรับปรุงให้ใช้งานได้ มีการสร้างทางจักรยานเพิ่ม

3. โครงการสะพานด้วน “สวนลอยฟ้า” โดยใช้สะพานพระปกเกล้าที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงทางเดินและทางจักรยานเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 2 ฝั่งเจ้าพระยา และจัดสวนให้มีภูมิทัศน์สวยงาม ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการไปเสร็จเรียบร้อยพร้อมกับเปิดให้ประชาชนใช้ได้แล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ส่วนโครงการถัดมา 4.โครงการพัฒนาทางเดินริมน้ำย่านคลองสาน ซึ่งปัจจุบันมีโครงข่ายแล้ว เพียงแต่ยังไม่เชื่อมต่อ ดังนั้น ต้องพัฒนาทางสัญจรให้เชื่อมต่ออย่างครบวงจร และ 5.โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนโอชาท่าดินแดง โดยจัดระเบียบทางเท้าและสร้างเป็นถนนคนเดิน

ภาพจาก : มติชน

นอกจากนี้ยังมีแผนงานการพัฒนาย่านอื่นๆ อีก อาทิ 1. ย่านพาณิชยกรรม เช่น ปทุมวัน-บางรัก เสนอให้พัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เชื่อมโยงถนนหรือซอยต่างๆ ให้สามารถเดินถึงกันได้ หรือ ย่านสีลม-สาทร อาจพัฒนาพื้นที่คลองให้เป็นพื้นที่นันทนาการ หรือพื้นที่ใต้ทางด่วนศรีรัช ก็พัฒนาเป็นทางจักรยาน ย่านหัวลำโพง อาจพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เชื่อมต่อกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ ย่านมักกะสัน สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะได้

2. ย่านที่อยู่อาศัย เช่น ยานนาวา-บางคอแหลม เนื่องจากเป็นพื้นที่ริมน้ำจำนวนหลายกิโลเมตร จึงสามารถพัฒนาพื้นที่ริมน้ำให้เป็นโครงข่ายสัญจรทางน้ำ รวมถึงพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะริมน้ำ เช่น บริเวณหน้าองค์การสะพานปลา 3. ย่านศูนย์กลางพาณิชยกรรมตากสิน สามารถพัฒนาพื้นที่โดยรอบเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรที่สำคัญ และกระจายการสัญจรออกด้วยการเพิ่มเส้นทางจราจร หรือย่านวงเวียนใหญ่ เป็นพื้นที่ที่มีร้านค้าที่ดี อาหารอร่อยจำนวนมาก ก็พัฒนาทางเท้าและทางจักรยานเพิ่มขึ้น

4. ย่านราชการ-ที่อยู่อาศัย เช่น ดุสิต-พญาไท มีโครงข่ายถนนที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ระบบการสัญจรไม่เชื่อมโยงกันทั้งระบบรางและทางน้ำ ดังนั้น ต้องพัฒนาโครงข่ายให้เชื่อมโยงกัน รวมถึงพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสด้วย หรือย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สามารถออกแบบให้เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรทั้งทางรถ ราง และเดินเท้า

สำหรับย่านที่อยู่อาสัยทางฝั่งธนบุรี คือบริเวณจรัญสนิทวงศ์ ปัจจุบันรถติดตลอดเวลา เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานไม่มีถนนเชื่อมโยงไปหาแหล่งทำงานในทิศตะวันออกและตะวันตก หรือสะพานข้ามแม่น้ำ ทั้งนี้ ปัจจุบันสามารถพัฒนาคุณภาพการอยู่อาศัยให้ดีขึ้นได้ เพราะมีระบบรางเข้าถึงแล้ว

จากแผนงานทั้งหมดนี้ ทำให้พอมองเห็นว่าช่องทางหรือแนวทางการพัฒนาเมืองหลวงของไทยให้เป็นเมืองน่าอยู่ทำอย่างไร และสามารถมองเห็นภาพรวมของกรุงเทพมหานครใน พ.ศ. 2575 ว่ามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ซึ่งคงต้องรอดูการทำงานของผู้บริหารที่เข้ามาทำหน้าที่รับผิดชอบ ว่าจะสามารถสร้างฝันนี้ให้เป็นจริงได้หรือไม่ หรือเพียงแค่ราคาคุย