ย้อนรอย ปัญหาของท้องทะเลที่ส่งผลต่อสัตว์ทะเล นักวิชาการเผย พลาสติก ตัวทำลายสัตว์ทะเล

Journal ข่าวสาร

อย่างที่ทราบกันดีว่า ท้องทะเลนั้นมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเล พืชทะเล แต่ในทางกลับกันผลสำรวจทางวิชาการจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หรือ ทช. พบทะเลกลับกลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เนื่องจากการสะสมของขยะที่มาจากแหล่งสำคัญ 2 แหล่งคือ ขยะทะเลที่มาจากกิจกรรมบนบก 80 เปอร์เซ็นต์ และขยะทะเลที่มาจากกิจกรรมทางทะเล 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขยะพลาสติกย่อยสลายได้ยากลอยอยู่บนผิวน้ำ กลางมวลน้ำ และสะสมบนพื้นทะเลที่ระดับความลึกแตกต่างกันในมหาสมุทร โดยนักวิชาการด้านสิ่งแวลล้อมทางทะเล เปิดเผยว่า พลาสติกคือผู้ร้ายที่ทำลายสัตว์ทะเล และส่งผลให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรม

หากย้อนกลับไป ปี 2558 ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 6 ซึ่งมีขยะปริมาณ 1.03 ล้านตันต่อปี และตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จากการเก็บสถิติการตายของสัตว์ทะเลจาก ทช.พบสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เกิดภาวะเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเลร้อยละ 54 โลมาและวาฬร้อยละ 41 และพะยูนร้อยละ 5 ซึ่งเมื่อย้อนดูสถิติการเกยตื้นสัตว์ทะเลหายากในช่วง

15 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2546 – 2560) พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นรวม 3,702 ตัว ส่วนสาเหตุเกยตื้นสำหรับเต่าทะเลและพะยูน พบเกิดจากการติดเครื่องมือประมงอย่างซากอวนและตาข่ายดักจับสัตว์ทะเลเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนโลมาและวาฬป่วยตามธรรมชาติ

คุณรู้หรือไม่ ? ปัญหาทางระบบนิเวศทางทะเลที่อันตรายต่อสัตว์ทะเลมากที่สุด

ปัจจุบัน “ไมโครพลาสติก” พบตกค้างอยู่ในกระเพาะของสัตว์ทะเลหลายชนิดตั้งแต่แพลงก์ตอนสัตว์ไปจนถึงวาฬ ซึ่งการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก อาจเกิดจากการกินเข้าไปโดยตรงและการกินผ่านห่วงโซ่อาหาร โดยมีการประมาณการณ์ว่าทุกตารางกิโลเมตรของมหาสมุทรจะมีไมโครพลาสติก โดยเฉลี่ย 63,320 ชิ้น แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ซึ่งในเอเชียตะวันออก หรือโซนมหาสมุทรแปซิฟิก จะมีสูงกว่าที่อื่นถึง 27 เท่า และขยะทะเลที่เกิดจากพลาสติก ประเทศไทยถูกประมาณการว่ามีขยะทะเลที่เป็นพลาสติกและโฟมมากถึง 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตัน/วัน แบ่งเป็นขยะพลาสติก 80 เปอร์เซนต์ ซึ่งประเภทของขยะพลาสติกที่เป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์ทะเลมากที่สุดคือ ไมโครพลาสติก เป็น ขยะที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ซม. ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าในน้ำ

ถุงพลาสติก อันดับ 1 ที่พบในทะเลไทย

หากย้อนกลับมาที่ประเทศไทย หากจำแนกปริมาณขยะทะเล ที่พบในทะเลไทยทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ประเภทขยะที่พบมากที่สุด 5 อันดับ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2558 พบว่าอันดับที่ 1 คือ ถุงพลาสติก (จำนวน 66,180 ชิ้น) อันดับที่ 2 คือ ฝาหรือจุกขวด (จำนวน 39,242 ชิ้น) อันดับที่ 3 คือ เชือก (จำนวน 36,110 ชิ้น) อันดับที่ 4 คือ หลอดหรือที่คนเครื่องดื่ม (จำนวน 28,315 ชิ้น) อันดับที่ 5 คือ ขยะอื่นๆ (จำนวน 28,272 ชิ้น) ซึ่งปัญหาเหล่านี้นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมยืนยันว่าส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและระบบนิเวศทำให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล

โตโน่ เตรียมว่ายน้ำข้าม 12 เกาะ สุราษฎร์-สมุย
รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ (ซ้าย)

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “ผลกระทบโดยตรงของขยะทะเลเมื่อสัตว์กินชิ้นส่วนพลาสติกเข้าไปโดยตรง ส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหาร เนื่องจากขยะเหล่านั้นไปทําให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ การกินขยะบางชนิดที่ย่อยยาก ส่งผลให้เกิดการสะสมในกระเพาะอาหาร สัตว์จะรู้สึกอิ่มอยู่ตลอดเวลาและไม่อยากหาอาหารอีก จนทําให้ขาดสารอาหารในที่สุด โดยส่วนใหญ่ เต่า พะยูน วาฬ มันจะกินขยะเหล่านี้เข้าไป เนื่องจากเข้าใจว่าคือ แมงกะพรุน  ขณะที่นกทะเล กุ้ง ปู พบว่าในทางเดินอาหารมีเม็ดพลาสติก  หรือ ไมโครพลาสติก และเมื่อสัตว์ทะเลกิน

เข้าไปจะส่งผลให้การเจริญเติบโตผิดปกติ การลอกคราบผิดปกติ และไมโครพลาสติกที่ไปอยู่ในกระเพาะทำให้เกิดบาดแผลได้ รวมถึงกำลังมีการวิจัยว่าไมโครพลาสติกอาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ ส่วนขยะทะเลที่มีลักษณะแหลมคม เมื่อสัตว์กินเข้าไปจะก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร ติดค้างในหลอดอาหารทําให้ระบบการหายใจขัดข้องและตายในที่สุด”

ปัญหาเหล่านี้ สัตว์ทะเลต้องเผชิญแทบทุกวัน ดังนั้น พวกมันจึงไม่สามารถรอคอยการช่วยเหลือได้ ดังนั้นโครงการ ONE MAN & THE SEA หนึ่งคนว่าย หลายคนช่วย ที่โตโน่จะว่ายน้ำข้าม 12 เกาะ สุราษฎร์ – สมุย จึงเป็นหนึ่งโครงการที่จะเชื่อมโยงและเป็นกระบอกเสียงให้คนรู้ว่าสัตว์ทะเลรอการช่วยเหลือ ระบบนิเวศทางทะเลนั้นสำคัญ จึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมส่งน้ำใจบริจาคเงินสมทบทุนซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์ เพื่อมอบให้กับศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร จังหวัดภูเก็ต, ส่วนงานช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จังหวัดระยอง และ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เกาะมันใน จังหวัดระยอง รวมไปถึง โรงพยาบาลริมชายฝั่ง โดยสามารถบริจาคผ่านทางบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเพชรบุรีตัดใหม่ ชื่อบัญชี : มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ เพื่อโครงการเทใจ (TRRM FOR TAEJAI) เลขบัญชี 043-272833-9 ทั้งนี้สามารถส่งหลักฐานการบริจาค เพื่อขอลดหย่อนภาษีได้ที่ Line @taejaidotcom สามารถติดตามรายละเอียดของโครงการได้ทาง Facebook Fanpage เก็บรักษ์ และทาง Instagram @kebruksociety