ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ว่าด้วย ‘อู่ฮั่น โคโรนาไวรัส’

Journal ข่าวสาร

ข้อมูลล่าสุดของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรืออู่ฮั่นโคโรนาไวรัส ซึ่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา รวบรวมไว้เป็นรายวัน ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ก็คือ มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 20,677 รายทั่วโลก โดยที่จีนมีผู้ติดเชื้อสูงสุดอยูที่ 20,483 ราย ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด 427 ราย (รวมทั้งในฮ่องกง 1 รายและในฟิลิปปินส์ 1 ราย)

จำนวนผู้ป่วยที่หายขาดจากการติดเชื้อจนถึงขณะนี้มีทั้งสิ้น 697 ราย ไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้หายจากอาการป่วยมากที่สุดนอกเหนือจากจีน คือ 5 ราย รองลงมาเป็นออสเตรเลีย 2 ราย และญี่ปุ่น 1 ราย

การแพร่ระบาดในต่างประเทศ ขยายเพิ่มเติมเป็นทั้งสิ้น 26 ประเทศและเขตปกครอง ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกาและไทยเท่านั้นที่พบการระบาดจากคนสู่คนภายในประเทศนั้นๆ

จากการวิเคราะห์ขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ผู้ที่ติดเชื้อราว 16 เปอร์เซ็นต์ถึง 21 เปอร์เซ็นต์ จะแสดงอาการป่วยหนัก โดยผู้ที่ติดเชื้อที่มีอาการหนักเหล่านี้เสียชีวิตลง ราว 2 เปอร์เซ็นต์จนถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ไวรัสอู่ฮั่นยังคงแพร่ระบาดอย่างหนัก แม้จะมีการปิดเมือง ทำให้อู่ฮั่นแทบกลายเป็นเมืองร้าง ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ดังนั้นการทำความเข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการระบาดครั้งนี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อผลในการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแพร่หลายของเชื้อต่อไป

ต่อไปนี้คือข้อเท็จจริงในทางวิทยาศาสตร์ที่ควรรู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสอู่ฮั่นครั้งนี้

1. การระบาดโดยไม่แสดงอาการ

โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นไวรัสในตระกูลเดียวกันกับไวรัสอีกหลายตัวมาก ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (อินฟลูเอนซาไวรัส) ก็เป็นไวรัสในตระกูลเดียวกันนี้ และเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของความสามารถในการแพร่เชื้อของผู้ติดเชื้อในขณะที่ไม่แสดงออกถึงอาการป่วยแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน (ซาร์ส) ก็เป็นโคโรนาไวรัสเช่นเดียวกัน แต่กลับสามารถแพร่เชื้อได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ป่วยซึ่งแสดงอาการแล้วเท่านั้น

ยังไม่มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่แสดงหลักฐานสนับสนุนว่าไวรัสอู่ฮั่นสามารถติดต่อได้ในขณะที่ฟักตัวอยู่ในพาหะโดยที่พาหะผู้นั้นไม่แสดงอาการป่วยใดๆ ออกมา แต่มีรายงานทางการแพทย์ เผยแพร่ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ แลนเซต ถึงกรณีผู้ป่วยที่ยังเป็นเด็กรายหนึ่ง ซึ่งไม่มีอาการป่วยใดๆ แต่กลับสามารถแพร่เชื้อได้

แพทย์พบเด็กชายผู้นี้ไม่แสดงอาการทั้งๆ ที่คนในครอบครัวติดเชื้อและมีอาการป่วยทั้งหมด แต่เมื่อทำซีทีสแกนบริเวณทรวงอกของเด็ก พบว่าเด็กมีอาการปอดอักเสบและเมื่อทดสอบหาเชื้อก็พบว่าเด็กมีผลทดสอบเป็นบวก

กรณีของเด็กชายรายนี้ ไม่ใช่ความสามารถในการแพร่ระบาดในระยะฟักตัว เพราะเด็กชายไม่ได้ล้มป่วยในเวลาต่อมาแม้จะผ่านระยะฟักตัว 14 วันแล้วก็ตาม

นั่นคือ “มีความเป็นไปได้” ที่คนหนุ่มสาว หรือเด็ก อาจได้รับเชื้อโดยที่ไม่ได้แสดงอาการใดๆ ออกมา แต่สามารถเป็นพาหะได้

กรณีนี้ทำให้การตรวจหาผู้ติดเชื้อเพื่อผลในการควบคุมโรคเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่ไม่ได้แสดงอาการใดๆ ออกมา ย่อมไม่อยู่ในข่ายให้ตรวจพบได้ เช่นเดียวกับที่มาตรการคัดกรองด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิบริเวณท่าอากาศยานไม่ได้ผลอีกด้วย

2. อัตราการแพร่เชื้อ

ไวรัสอู่ฮั่น เริ่มต้นการระบาดจากการที่ผู้ป่วยรายแรกๆ ติดเชื้อจาก “แหล่งที่มาซึ่งไม่รู้ว่าเป็นอะไร” ในตลาดอาหารทะเลของอู่ฮั่น ซึ่งเป็นแหล่งค้า “สัตว์เป็นจากป่า” หลายชนิดด้วย ผู้ป่วยกลุ่มแรกๆ ล้มป่วยลงในราวต้นเดือนธันวาคม

ถึง 20 มกราคม จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ที่ระดับ 50-60 ราย แต่หลังจากนั้นยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มพรวดพราด เช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิต ทำให้เกิดข้อกังขากันอย่างมากว่า ไวรัสอู่ฮั่นมีความสามารถในการแพร่เชื้อสูงมาก

นักวิจัยและนักวิชาการด้านระบาดวิทยา มีวิธีการประเมินความสามารถในการแพร่เชื้อของไวรัสโดยการหาค่าเฉลี่ย

ของผู้ป่วยรายหนึ่งว่าจะสามารถแพร่เชื้อให้กับคนอื่นๆ ได้กี่คน ในกลุ่มประชากรที่ไร้การป้องกันใดๆ โดยสิ้นเชิง ทางวิชาการเรียกตัวเลขค่าเฉลี่ยดังกล่าวนี้ว่าค่า “อาร์ศูนย์” (R0)

ค่า อาร์ 0 ของไวรัสอู่ฮั่นนั้นแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับมุมมองและข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญแต่ละราย อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในระหว่าง 1.4 ถึง 5 ซึ่งหมายถึงว่า ผู้ป่วยหนึ่งคนสามารถแพร่เชื้อได้อย่างน้อย 1.4 คน เรื่อยไปจนมากที่สุดถึง 5 คน อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก เชื่อว่าค่าอาร์ 0 ของไวรัสอู่ฮั่น อยู่ที่ระหว่าง 1.4 ถึง 2.5 เท่านั้น

นักวิชาการบางคนชี้ว่า หากค่า อาร์ 0 ของไวรัสอู่ฮั่นสูงกว่า 2-3 เราน่าจะได้เห็นการระบาดในประเทศต่างๆ นอกประเทศจีนมากกว่านี้ตั้งแต่กลางเดือนมกราคมเป็นต้นมา

3. วิธีการแพร่เชื้อ

ในบรรดาวิธีแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจากคนสู่คนทั้งหมดนั้น นักระบาดวิทยากลัว หรือหวั่นวิตกต่อการระบาดผ่านระบบทางเดินหายใจมากที่สุด

เพราะการระบาดผ่านระบบทางเดินหายใจคือวิธีการระบาดของโรคที่รวดเร็วที่สุดนั่นเอง

การระบาดผ่านระบบทางเดินหายใจ มีอยู่ 2 แบบ ขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างตัวผู้แพร่เชื้อกับผู้รับเชื้อ แบบแรกเป็นการแพร่เชื้อผ่านละอองน้ำลายขนาดไม่เล็กนัก ผ่านการไอหรือจาม หรือการพูด ผู้รับเชื้อจำเป็นต้องอยู่ในระยะใกล้กว่าแบบที่สอง ซึ่งติดต่อผ่านละอองน้ำลายหรือสารคัดหลั่งอื่นใดที่มีเชื้อโรคผสมอยู่ขนาดเล็กระดับอนุภาคจนสามารถแขวนลอยอยู่ในอากาศได้ และถูกพัดปลิวกระจายไปได้ง่ายและมีระยะทางไกลมากกว่า

แบบหลังนี้เป็นการแพร่ระบาดที่ยากต่อการควบคุมมากกว่ามาก

การระบาดของไวรัสอู่ฮั่น เป็นการระบาดข้ามสปีชีส์ จากสัตว์สู่มนุษย์ แล้วจึงระบาดจากคนสู่คนในเวลาต่อมา ข้อมูลจากทางการจีนระบุว่า การระบาดเกิดได้จากการสัมผัสระหว่างผู้รับกับผู้ป่วย หรือการสัมผัสกับเชื้อในพื้นผิวต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ไวรัสในตระกูลโคโรนาทั้งหมดรวมทั้งซาร์ส เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ พบเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้เยอะมากในจมูก, คอและปอด ของคน

ในกรณีของอู่ฮั่นไวรัส แพทย์พบไวรัสเป็นจำนวนมากสะสมอยู่ในปอดของผู้ป่วย ในสัดส่วนที่สูงกว่าในปากหรือในลำคอ อย่างไรก็ตาม ไวรัสในปอดสามารถขับออกมาได้ผ่านการไอหรือจามหรือแม้แต่ด้วยการหายใจเข้าออกปกติ ซึ่งเป็นไปได้ที่ไวรัสจะแพร่ออกมาในรูปของอนุภาคขนาดเล็กแขวนลอยอยู่ในอากาศได้ และถูกสูดเข้าไปในร่างกายผ่านการหายใจเข้าของผู้รับเชื้อต่อไป

หลังสุดมีรายงานทางการแพทย์จากจีน พบเชื้อไวรัสอู่ฮั่นในอุจจาระและระบบทางเดินอาหารของผู้ป่วยจำนวน 360 ราย ซึ่งมีอาการเริ่มต้นท้องร่วงรุนแรง ก่อนเกิดอาการอย่างอื่น ทำให้เชื่อว่าไวรัสอู่ฮั่นสามารถแพร่ขยายได้ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ และปนออกมากับอุจจาระ ซึ่งสามารถแพร่ระบาดไปสู่สภาพแวดล้อมได้หากระบบสุขอนามัยไม่ดีพอ ทำให้เกิดการปนเปื้อนในอาหารเช่นผัก-ผลไม้ หรืออื่นๆ

ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะมีการแพร่ระบาดผ่านการกินอาหารปนเปื้อนเหล่านี้เข้าไปอีกทางหนึ่ง

4. การแพร่ระบาดแบบระเบิด

การแพร่ระบาดในปริมาณสูงมากและเร็วมากของไวรัสอู่ฮั่น นับตั้งแต่วันที่ 18 มกราคมเรื่อยมา ทั้งๆ ที่มีการปิดเมือง, ขยายวันหยุดตรุษจีนและห้ามขายสัตว์ป่าเป็นเด็ดขาดแล้วนั้น อาจอธิบายได้ในทางวิทยาศาสตร์ว่าเกิดจากปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างผสมผสานกันดังนี้

  • เกิดเหตุในช่วงเทศกาลเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดการระบาดไปทั่วประเทศจีน และในอีก 26 ประเทศทั่วโลก การเดินทางไปยังที่ต่างๆ มากมายเป็นปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาด
  • เกิดการระบาดแบบไม่สมมาตร ตัวอย่างเช่นในกรณีของเด็กและคนหนุ่มสาว ซึ่งสามารถแพร่ระบาดไปสู่คนจำนวนมากได้ โดยตัวเองไม่ถูกตรวจสอบพบว่าติดเชื้อ เนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพียงตรวจสอบพบในกรณีของผู้ที่ล้มป่วยแล้วเท่านั้น
  • การเข้มงวดในการตรวจสอบ ในกรณีนี้นั้นการตรวจสอบ คัดกรองที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้พบผู้ป่วย หรือผู้ที่ติดเชื้อมากขึ้นกว่าก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดเคสใหม่ๆ ทวีขึ้นมากในระยะเวลาอันสั้น
  • เกิดการติดต่อระหว่างคนต่อคน สูงมากขึ้น
  • ยังคงมีแหล่งแพร่เชื้อโดยธรรมชาติอยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือในการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะอยู่ต่อไป

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ในระยะหลังมีรายงานระบุว่า การที่พบผู้ติดเชื้อมากขึ้น เป็นเพราะระยะเวลาในการฟักตัวของเชื้อลดน้อยลง แทนที่จะเป็น 14 วัน เหลือเพียงแค่ 1 หรือ 2 วัน ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หากเป็นในกรณีนี้ การระบาดในประเทศอื่น นอกเหนือจากจีนก็น่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามไปด้วย

ดังนั้น เป็นไปได้ว่า การเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ เกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่างข้างต้นนี้ผสมกันมากกว่าอย่างอื่น จนกว่าจะมีข้อมูลบ่งชี้ที่ชัดเจนมากกว่านี้

ที่มา : มติชนออนไลน์