เปิด 16 ตำรับยาแผนไทยผสมกัญชา เน้น “แก้ลม แก้ปวด แก้เส้น”

Journal ข่าวสาร

กรมแพทย์แผนไทยเดินหน้ากัญชาทางการแพทย์ รวมตำรับยาไทย 90 ตำรับ แบ่ง 4 หมวด ใช้ได้ก่อนหมวดแรกมี 16 ตำรับ เน้น ‘แก้ลม แก้ปวด แก้เส้น’  อยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย ขอ อย. ใช้ได้ทันทีเมื่อกม.ยาเสพติดฉลุย  ย้ำแต่ต้องอยู่ในการควบคุม เหตุยังเป็นยาเสพติด 

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมาว่า  กรมการแพทย์แผนไทยฯ จะเป็นแกนกลางในการพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทยทั้งหมด เพื่อนำสู่การแปรรูปเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะได้ทั้งสมุนไพรหลัก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา เครื่องสำอาง โดยทั้งหมดมีมูลค่ามหาศาลเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในจุดนี้ รวมทั้งการพัฒนาเรื่องสารสกัดจากกัญชา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยกัญชาเป็นที่สนใจ และขณะนี้กำลังผลักดันร่างกฎหมายเพื่อให้กัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ก็ยังเป็นสารเสพติดอยู่ ซึ่งก็จะมีกรอบในการใช้ โดยกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะเป็นแกนหลักในการออกกฎกระทรวง ระเบียบต่างๆทั้งการเพาะปลูก แปรรูป และการขึ้นทะเบียน ซึ่งตรงนี้ทาง อย.จะเป็นผู้ดำเนินการและให้ข้อมูลเหล่านี้ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ทั้งหมดไม่ต้องกังวล จะมีกรอบระเบียบในการใช้อย่างเข้มงวดอยู่แล้ว

นพ.มรุต  จิรเศรษฐสิริ   อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้มีการรวบรวมสูตรตำรับยาแผนไทย เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  โดยจากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ พบว่ามีกว่า 26,000 ตำรับ แต่พิจารณาคัดเลือกพบ 212 ตำรับ และเมื่อนำมาพิจารณาตรวจสอบก็พบว่า มีความซ้ำซ้อนของตำรับอยู่ จึงแยกออกมาได้จริงๆ คือ 90 ตำรับที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ก็มีการประชุมหารือว่าจะใช้อย่างไร เพราะของเดิมถูกจำกัดว่าเป็นยาเสพติดใช้ไม่ได้ แต่เมื่อมีการแยกออกเป็นหมวดหมู่ 4 หมวด ประกอบด้วย 1.หมวด ก เป็นตำรับยาตามองค์ความรู้เป็นที่รู้จัก ตัวยาหาง่าย และมีกัญชา เป็นส่วนผสมค่อนข้างมาก และบางตำรับก็มีการใช้กันอยู่ในปัจจุบันแต่ตัดส่วนผสมกัญชาออก ซึ่งรวมทั้งหมดมีจำนวน 16 ตำรับ

นพ.มรุต กล่าวอีกว่า   สำหรับ 16 ตำรับส่วนใหญ่รักษาเรื่องลม  การนอนหลับ แก้ปวด รับประทานอาหารได้ เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ประกอบด้วย  1. ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ  2.ยาอัคคินีวคณะ 3.ยาศุขไสยาศน์  4.ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย 5.ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง 6.ยาไฟอาวุธ 7.ยาแก้นอนไม่หลับ หรือยาแก้ไข้ผอมเหลือง 8.ยาแก้สัณฑฆาต กร่อนแห้ง 9.ยาอัมฤตโอสถ 10.ยาอไภยสาลี 11.ยาแก้ลมแก้เส้น 12.ยาแก้โรคจิต 13.ยาไพสาลี  14.ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง 15.ยาทำลายพระสุเมรุ  และ 16.ยาทัพยาธิคุณ  ส่วน 2.หมวด ข  ตำรับยาที่มีประสิทธิผล แต่มีการปรุงไม่ชัดเจน และตัวยาหายาก มีจำนวน 11 ตำรับ กลุ่มนี้ต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

“3.หมวด ค เป็นกลุ่มไม่แน่นอน เขียนในคัมภีร์ เป็นคำกลอน เขียนในโรคต่างๆยังไม่ชัดเจน กัญชาเป็นส่วนผสมน้อย กลุ่มนี้มีจำนวน 32 ตำรับ  และ 4.หมวด ง ตำรับยาที่มีส่วนประกอบห้ามใช้ เนื่องจากอาจมีสารพิษผสมอยู่ หรือมีตัวที่ทางองค์การอนามัยโลกห้ามใช้ เช่น คล้ายเครือ หรือมีสารประกอบของพืชหรือสัตว์ผสมเป็นข้อห้ามตามอนุสัญญาไซเตส(CITES) จึงต้องห้ามใช้ กลุ่มนี้มีอยู่ 31 ตำรับ โดยหากจะใช้หมวด ค และ ง จะต้องอยู่ในการควบคุมต้องเป็นโครงการวิจัย ดังนั้น ที่ใช้ได้เลยหากกฎหมายออกมาก็คือ หมวด ก ซึ่งมี 16 ตำรับ แต่ทั้งหมดก็ต้องขออนุญาตตามคณะกรรมการยาเสพติด และเกณฑ์ตามที่ อย.กำหนด จากนั้นจึงออกเป็นประกาศโดยรัฐมนตรีว่าการ สธ.ลงนาม ดังนั้น ขณะนี้ จึงยังใช้ไม่ได้ เพราะกฎหมายยังไม่มีมารองรับ” นพ.มรุต กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกฎหมายให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ทางกรมมีความพร้อมอย่างไร นพ.มรุต กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมแล้ว ทั้งเรื่องการผลิตตัวยาตำรับทั้ง 16 ตำรับ โดยจะเป็นไปตามข้อบทกฎหมายทั้งหมด ส่วนผู้ที่จะใช้มี 4 กลุ่มใหญ่ คือ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์พื้นบ้าน และหมอพื้นบ้าน โดยทั้ง 4 กลุ่มจะต้องผ่านการอบรม และผ่านการอนุญาตก่อน ซึ่งจะมีเกณฑ์ต่างๆ โดยการจะใช้กับผู้ป่วยก็จะมีข้อกำหนดว่า ใช้กับผู้ป่วยแบบใด อาการมากน้อยแค่ไหน และมีการติดตามผลอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งการระบุแบบนี้ก็ไม่ต่างจากแพทย์แผนปัจจุบัน เรียกว่าจะต้องมีการขึ้นทะเบียนก่อนนั่นเอง

เมื่อถามว่า กฎหมายจะรองรับให้รายบุคคลใช้ได้แล้วหรือไม่ นพ.มรุต กล่าวว่า อนุญาตใน 4 กลุ่ม แต่ต้องผ่านการอบรม การขออนุญาต ซึ่งจะมีระบบในการตรวจสอบเข้มงวด เพราะกัญชาก็เป็นยาเสพติด เพียงแต่อนุญาตให้นำมาใช้ทางการแพทย์ รวมทั้งเมื่ออนุญาตแล้วก็จะมีระบบตรวจสอบอีก ที่สำคัญแพทย์พื้นบ้าน และหมอพื้นบ้าน ในกติกาเดิมสามารถปรุงยาของตัวเองได้ ซึ่งอาจต่างจาก 16 ตำรับนั้น โดยในเรื่องนี้ก็ต้องเอาตำรับของตัวเองมาแจ้งทางกรมฯ และจะต้องผ่านคณะกรรมการว่าใช้ได้หรือไม่ เพราะเรื่องนี้อนุญาตง่ายๆไม่ได้  อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรัดกุม และป้องกันการใช้ในทางที่ผิด ทางกรมฯ มี 2 ทางเลือก คือ 1.จะผลิตออกเป็นตำรับยาสำเร็จ และกระจายให้ทางโรงพยาบาลต่างๆ ที่ต้องการมาขึ้นทะเบียนรับไปใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยแบบมีข้อกำหนด และ 2.จะทำเป็นเครื่องยาผสมกัญชากลาง สำหรับการปรุงยาเฉพาะรายขึ้น เพื่อให้ไม่ต้องไปหาวัตถุดิบเอง ไม่ต้องหากัญชาเดี่ยวๆ แต่เราจะทำเป็นเครื่องยาผสมกัญชาแล้ว

เมื่อถามต่อว่า ปัจจุบันมีแพทย์แผนไทยแจ้งความประสงค์จะขึ้นทะเบียนใช้กัญชาทางการแพทย์จำนวนเท่าไหร่ นพ.มรุต กล่าวว่า  ขณะนี้กำลังสำรวจหมอแพทย์ไทยว่า มีจำนวนเท่าไหร่จะใช้บ้าง และใช้ปริมาณเท่าไหร่ อย่างไร โดยเราจะได้เตรียมพร้อมว่า จำนวนที่จะขึ้นทะเบียนทั้ง 4 กลุ่ม คือ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์พื้นบ้าน และหมอพื้นบ้าน ทั้งหมดมีเท่าไหร่ เพื่อทำให้เป็นระบบทั้งประเทศ

ผู้สื่อถามถึงกรณีสิทธิบัตรกัญชา ที่ยังไม่ชัดเจนจะกระทบกับแพทย์แผนไทย หรือไม่ อธิบดีกรมแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ของเรากระทบน้อย ตรงที่เป็นการใช้แบบสด แต่ที่ต่างชาติมาจดสิทธิบัตรจะเป็นเรื่องสารสกัด THC และ CBD  แต่กรมฯก็เป็นห่วง เพราะจริงๆ ก็ไม่น่าจะขอสิทธิบัตรได้ เนื่องจากเป็นสารธรรมชาติ และตัวกัญชาก็ยังเป็นยาเสพติดอยู่ด้วย

ด้าน นพ.สุรโชค  ต่างวิวัฒน์  รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  กล่าวถึงความคืบหน้าการออกกฎหมายลูกและประกาศกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 8 ฉบับ ว่า อย. มีการรายงานความคืบหน้าต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทุกสัปดาห์ ซึ่งการออกกฎหมายนั้นจะแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน 4  ฉบับ ซึ่งจะต้องจัดการร่างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ได้แก่ 1.ประกาศเรื่องลักษณะการปลูกกัญชาว่าคนที่ขออนุญาตใช้ในทางการแพทย์กับการขอปลูกต้องสอดคล้องกัน มีการระบุชัดว่าใช้ปลูกเพื่อรักษาโรคอะไรต้องใช้ปริมาณเท่าไหร่ เป็นต้น 2.การขออนุญาตนำเข้าจากต่างประเทศ ต้องมีการขออนุญาตชัดเจน การนำไปใช้และข้อบ่งชี้ว่าใช้กับโรคอะไรบ้างหลักๆจะมี 4 กลุ่มโรค 3.การกำหนดแพทย์ว่าจะอนุญาตให้ใครบ้างสามารถดำเนินการนำไปใช้ได้ และ4.การอนุญาตให้กับกลุ่มที่มีการดำเนินการไปแล้ว ซึ่งจะต้องมีการมาขออนุญาตภายใน 90 วัน ส่วนอีก 4 ฉบับ เป็นเรื่องของเนื้อหาและรายละเอียดต่างๆก็มีการวางกรอบว่าจะต้องการการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้

 


ที่มา มติชนออนไลน์