ดันงานจักสานไทยสู่โลก ปรับทิศทางพัฒนาให้ใช้ในชีวิตประจำวัน

Journal ข่าวสาร

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) จัดเสวนาระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องงานหัตถกรรมจักสาน เพื่อระดมความคิดด้านการผลิต การออกแบบ และการตลาด จัดทำองค์ความรู้ต่อเนื่องงานจักสานเพื่อเชื่อมโยงสู่ตลาด ขยายการทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น ตั้งเป้าปี 2561 ผลักดันงานจักสานไทยให้ได้รับความนิยมระดับโลกอย่างครบวงจร

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดเสวนาเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาหัตถกรรมจักสานไทย” ที่ห้องประชุมแพรวา ชั้น 2 อาคารศาลาพระมิ่งมงคล ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้เข้าร่วมจากวงการที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักออกแบบ เจ้าของสินค้า ตัวแทนจากโรงแรม และบายเออร์ เป็นต้น โดยมีนางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการ SACICT เป็นประธานเปิดงาน

ก่อนการเสวนาเป็นการบรรยายพิเศษของ นาย Alvaro Catalan de Ocon นักออกแบบจากกลุ่ม Pet Lamp ประเทศสเปน ในหัวข้อเรื่อง “ความร่วมมือและทิศทางในการพัฒนางานหัตถกรรมจักสาน” ซึ่งนายอัลเวโรกล่าวถึงความเป็นมาของกลุ่ม Pet Lamp ว่าเริ่มต้นขึ้นในปี 2012 ที่ประเทศโคลอมเบีย โดยก่อนหน้านี้ได้รับการชักชวนจาก Helene Le Drogou ให้เข้าร่วมโครงการ เป็นโครงการนำขวดน้ำพลาสติกที่ใช้แล้วมารีไซเคิล ซึ่งงานนี้ให้มุมมองของเรื่องการออกแบบเปลี่ยนไป พอๆ กับความคิดที่จะเป็นนักออกแบบอุตสาหกรรม ขวดน้ำพลาสติกสามารถเปลี่ยนรูปร่างจากการเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ กลายมาเป็นโคมไฟที่ใช้แขวนเพดาน โดยด้านบนของขวดน้ำจะเป็นส่วนที่ใช้แขวนหลอดไฟฟ้าและก้นขวดก็นำมาทำเป็นที่บังโคมไฟได้ และยังสามารถออกแบลวดลายได้อย่างหลากหลายผสมผสานกับที่มีอยู่ในท้องถิ่น

“จะเห็นว่าขยะจากขวดพลาสติกจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกขณะ ดังนั้น การรีไซเคิลขวดน้ำพลาสติกจึงเป็นการลดปัญหาขยะ และสร้างรายได้แก่ชุมชน พัฒนาต่อยอดขวดน้ำพลาสติกมาใช้กับวัสดุธรรมชาติในการออกแบบโคมไฟ โดยผ่านการคิด ดีไซน์ เล่าเรื่อง พร้อมทั้งนำเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นมาใส่ในการออกแบบด้วย ล่าสุดปีนี้เป็นโอกาสดีที่ได้มาทำงานนี้กับกลุ่มเอ็นจีโอในประเทศไทย ซึ่งคิดว่าแต่ละท้องถิ่นมีภูมิปัญญาไม่เหมือนกัน การออกแบบแตกต่างกันไป และงานแต่ละชิ้นที่ออกมาก็จะเป็นชิ้นเดียวในโลก” นาย Alvaro กล่าว และว่า ในด้านการตลาดนั้น สำหรับตนแล้วจะมีโปรเจ็กต์ใหม่ๆ อยู่ตลอด และสามารถนำชิ้นงานไปจัดแสดงในแกลเลอรี่ทั่วโลก ทุกๆ ปีที่มีจัดแสดงนิทรรศการผลงานของตัวเองก็จะนำงานของกลุ่มเพ็ท แลมป์ ไปวางด้วย รวมทั้งในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก ทำให้มีคนมองเห็นชิ้นงานมากขึ้นและสามารถขายได้ด้วย

สำหรับการมาร่วมงานกับประเทศไทย นาย Alvaro กล่าวว่า หลังจากได้เห็นงานของช่างจักสานไทยแล้ว รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะมีความสวยงามประณีต ลวดลายก็หลากหลายเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันคนเริ่มเห็นความสวยงามของงานคราฟต์ และนำมาใช้ในชีวตประจำวันมากขึ้น และยิ่งรู้สึกตื่นเต้นเมื่อคิดว่างานคราฟต์จะเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น

จากนั้นเป็นการเสวนาเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาหัตถกรรมจักสานไทย” มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายกรกต อารมย์ดี จากห้างหุ้นส่วนจำกัด กรกต อินเตอร์เนชั่นนอล, นายเอกรัตน์ วงษ์จริต จากบริษัทคราฟท์แฟคเตอร์ จำกัด นายคมกฤช บริบูรณ์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม พ.ศ.2558 ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ และนายเจษฎา โชคเชาว์วัฒน์ บายเออร์จากโรงแรมบันยัน ทรี สปา แอนด์ แกลเลอรี่

นายคมกฤช บริบูรณ์ กล่าวเป็นคนแรกว่า งานจักสานของไทยนั้นมีความหลากหลายในแต่ละท้องถิ่น และมีความอ่อนช้อยมาก แต่การทำงานจักสานของไทยจะเป็นในลักษณะแยกชนิดใครชนิดมัน เช่น งานไม้ไผ่ งานกระจูด เป็นต้น ไม่มีการข้ามไปยังวัสดุชนิดอื่น ใครทำชนิดไหนก็จะโฟกัสอยู่ที่วัสดุชนิดนั้น ภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นก็เป็นภูมิปัญญาที่เกิดกับวัสดุชนิดนั้นๆ ถ้าทำงานไม้ไผ่ก็จะโฟกัสอยู่ที่ไม้ไผ่ เกิดภูมิปัญญาในการออกแบบตัวนั้นๆ ว่าจะทำอย่างไรต่อไป

“ภูมิปัญญาที่เรามีอยู่เราทำไม้ไผ่ก็ไม่ข้ามไปทำอย่างอื่น แต่ก่อนเราใช้ไม้ไผ่ในชีวิตประจำวัน เช่น กระบุง กระจาด ตะกร้า แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว เราต้องการต่อยอดออกไปให้ไม้ไผ่มาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนปัจจุบันได้ ซึ่งแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของผู้ทำและของผู้ใช้ ซึ่งทุกวันนี้แทบจะไม่เป็นของผู้ใช้แล้ว แต่จะเป็นของประดับตกแต่งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบจริงๆ เพราะฉะนั้น นักออกแบบก็ต้องเปลี่ยนความคิด เพื่อให้สามารถไปอยู่ในจุดนั้น ถ้าเป็นงานอนุรักษ์ก็ต้องออกแบบอีกอย่าง ส่วนจะนำมาใช้ก็ต้องออกแบบอีกอย่าง”นายคมกฤชกล่าว และว่า สิ่งที่พบเห็นตอนไปฟิลิปปินส์คือเขามีลวดลายน้อยกว่าไทยและของก็น้อยกว่า แต่ข้อน่าสังเกตทำไมสามารถขายต่างประเทศได้

นายเอกลักษณ์ วงษ์จริต กล่าวต่อมาว่า ในยุโรปนิยมงานคราฟต์กันมาก นักออกแบบใช้งานคราฟต์ไปผสมผสานกับงานของตัวเองมากขึ้น และจะมีเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค โพสต์งานคราฟต์โดยเฉพาะ ประเทศอื่นอย่างฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเกาะถึง 300-400 เกาะ แต่ก็ได้จัดเก็บลวดลายของงานจักสานแต่ละเกาะไว้ โดยจัดทำเป็นแพทเทิร์นลวดลายงานจักสาน นับเป็นเรื่องที่ดี และน่าทำมาก ขณะที่เมืองไทยลวดลายงานจักสานก็มากมายในแต่ละภูมิภาค แต่ไม่มีการจัดเก็บแพทเทิร์นไว้เลย ดังนั้น จึงอยากให้มีการจัดเก็บของแต่ละภาคไว้ ควรมีห้องสมุดสักแห่งสำหรับเก็บรวบรวมสิ่งเหล่านี้

ต่อมานายกรกต อารมย์ดี กล่าวว่า งานจักสานของตนที่ทำอยู่ เริ่มจากการนำเอาเทคนิคการผูกว่าวจุฬา-ปักเป้า มาเป็นต้นแบบ จากนั้นก็มุมานะในการทำงาน ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจงานของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเข้าร่วมงานประกวดต่างๆ ของรัฐ และได้รางวัลมา จึงนำผลงานออกไปแสดงในงานแสดงสินค้าต่างๆ ที่จัดขึ้น ทำให้มีการสั่งซื้อเกิดขึ้น และตนได้ใช้โซเชียลมีเดียทำประชาสัมพันธ์จนมีลูกค้าตามมามากมาย

“อยากบอกว่าวัสดุในประเทศไทยแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจ เช่น เส้นใยจากปาล์ม ต้นจาก มีความชิ้นสูง มีเชื้อรา ฉะนั้นวัสดุที่นำมาทำงานจักสานต้องมีคุณภาพและต้องหาองค์ความรู้ที่ซ่อนอยู่ในวัสดุนั้นๆ ที่สำคัญการออกแบบต้องร่วมกับชุมชนด้วย” นายกรกตกล่าว

นายเจษฎา โชคเชาว์วัฒน์ กล่าวปิดท้ายว่า อยู่ในวงการงานจักสานมา 25 ปีแล้ว มองงานจักสานของทุกประเทศ ไม่ได้มองแค่ไทย จุดแข็งเครื่องจักสานของไทยคือมีความหลากหลายและประณีตมากกว่าหลายประเทศ ทำแล้วสามารถขายได้เลย คนทำงานจักสานของไทยสามารถทำงานต่อมาได้เรื่อยๆ และทำตามออร์เดอร์ได้ดี ส่วนจุดอ่อนคือขาดความสามารถในการผลิตจำนวนมากๆ และไม่อยากปรับเปลี่ยนสิ่งที่ทำอยู่ทุกวัน ไม่อยากเปลี่ยนแพทเทิร์น เรื่องราคาบางอย่างก็แพงอย่างไม่มีเหตุผล จับต้องไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของต้นทุนในการผลิตจึงสำคัญ ถ้าต้นทุนถูกแต่ขายแพงมาก คนก็ไม่ซื้อ และยังมีเรื่องของไซซ์ เรื่องของเทรนด์ และความคิดสร้างสรรค์ ที่จะทำอย่างไรให้คนซื้อเขาเห็นแล้วว้าว เพราะคนว้าวกับคนชอบไม่เหมือนกัน

สุดท้ายน่าจะมีการจดลิขสิทธิ์ไว้ในต่างประเทศ เนื่องจากจะต่อยอดในเรื่องของราคาได้ดีขึ้น และปัจจุบันในส่วนของคนซื้อทั้งหลาย เรากำลังมองหาสินค้าไม่ใช่หัตถกรรมจักสานอย่างเดียว แต่สินค้านั้นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย