NIA จับมือสถานทูตฝรั่งเศส พัฒนาเมืองอัจฉริยะ-ย่านนวัตกรรมไทย

Journal ข่าวสาร

วันที่ 2 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ร่วมกับบิสเนส ฟรานซ์ สถานเอกอัคราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จัดงาน THAI-FRENCH SMART CITY FORUM เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ของทั้ง 2 ประเทศ เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาย่านนวัตกรรม

โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นการรวมตัวของผู้แทนหน่วยงาน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร ผู้ประกอบการ นักวิชาการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐด้านการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและเมืองอัจฉริยะ โดยภายในงานเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากประเทศไทยได้พบปะกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกด้านเมืองอัจฉริยะจากประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ ACOEM, ARTELIA, BOUYGUES-THAI, DASSAULT SYSTEMS, DEXTRA, EDF INTERNATIONAL NETWORKS, EGIS, ENGIE, MICHELIN, PLATT NERA-SIGFOX, SCHNEIDER ELECTRIC, SAINT-GOBAIN, SUEZ และ VEOLIA ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้แทนจากประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสในการหารือเกี่ยวกับโครงการเมืองอัจฉริยะและย่านนวัตกรรมที่กำลังดำเนินการพัฒนาอยู่ในประเทศไทย

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงาน ที่ NIA ดำเนินการอยู่นั้น มุ่งเน้นให้เกิดการยกระดับศักยภาพทางนวัตกรรมในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้เกิดพื้นที่นวัตกรรมทั้งระดับภูมิภาค เมือง และย่าน ปัจจุบัน NIA ได้วางเป้าหมายในการพัฒนา “ย่านนวัตกรรม” ทั้ง 15 ย่าน แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 8 ย่าน ได้แก่ โยธี คลองสาน ปทุมวัน กล้วยน้ำไท ลาดกระบัง ปุณณวิถี บางซื่อ และรัตนโกสินทร์ ภูมิภาคอื่น 7 ย่าน ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น บางแสน ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา ภูเก็ต ให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการรูปแบบใหม่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งนี้ไ ด้รับความร่วมมือจากฝรั่งเศสในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ร่วมกันมากว่า 3 ปีแล้ว และในการจัดกิจกรรมร่วมกันในปีนี้ จะมีความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ

-การร่วมมือกับบริษัท Dassault (ดาโซ) ซึ่ง NIA ได้นำระบบและองค์ความรู้ด้านการออกแบบ 3D มาใช้ในการออกแบบผังเมืองของย่านนวัตกรรมทั้ง 15 ย่าน นอกจากนี้ ยังได้นำความรู้ด้านระบบ 3D มาเข้าสู่การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ ม.เชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และ ม.แม่โจ้ ในจังหวัดเชียงใหม่

-การร่วมมือกับบริษัท แอร์บัส (AIRBUS) ในการพัฒนาด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับท้องฟ้าและอวกาศ (Sky Ecomomy) เช่น นวัตกรรมด้านระบบดาวเทียม ธุรกิจการบินและอวกาศ ฯลฯ โดยในอนาคตจะมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาด้านดังกล่าวในกรุงเทพมหานคร หรือศรีราชา ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เร็วๆ นี้

-การร่วมมือกับบริษัท PARIS & CO นำโมเดลการพัฒนา Smart People หรือคนอัจฉริยะสู่เชียงใหม่ที่ถนนท่าแพ จะมีการตั้งหน่วยงานส่งเสริม การวิจัย การทำสมาร์ทวีซ่า และยังเป็นศูนย์อำนวยความสะดวกสำหรับผู้ดำเนินธุรกิจนวัตกรรมที่ต้องการขยายสู่ประเทศไทย โดยจะเปิดปลายปีนี้

-การร่วมกับเทศบาลนครปารีส โดย NIA ได้ศึกษาดูงานจากเมืองดังกล่าวในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์พื้นที่แบบผสมผสาน เพื่อให้เกิดการใช้งานได้ต่อเนื่องกัน และรองรับการเติบโตของเมืองในระยะยาว นอกจากนี้ ได้นำโมเดลการจัดตั้งศูนย์ Startup Nation มาสู่ไทย ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแหล่งดึงดูดสตาร์ทอัพทั่วโลกให้เข้าสู่ประเทศ โดยมีความหมายสำคัญคือ จะช่วยให้สตาร์ทอัพของไทยได้เรียนรู้โมเดลธุรกิจต่างชาติ และช่วยฝึกภาษาอังกฤษในการติดต่อธุรกิจของสตาร์ทอัพไทย

– การนำโมเดล Station F ศูนย์รวมสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ปารีส มาสู่การพัฒนาศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพในไทย โดยจะนำพื้นที่เดิมที่มีอยู่แล้วมาแปลงโฉมให้เป็นศูนย์ส่งเสริมสตาร์ทอัพ โดยปัจจุบันมีบางพื้นที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น อาคารในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล้วยน้ำไท

นายจิลส์ การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง NIA กับบิสเนส ฟรานซ์ เพื่อแชร์ประสบการณ์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างผู้ประกอบการฝรั่งเศสและผู้ประกอบการไทย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบนิเวศ ทั้งการสร้างสมาร์ทซิตี้และย่านนวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยและฝรั่งเศสมีพื้นที่และจำนวนประชากรไม่แตกต่างกัน และต้องเผชิญกับการท้าทายของยุคดิจิทัลเหมือนกัน จึงจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการฝรั่งเศสสนใจและให้ความร่วมมือหลายโครงการในประเทศไทย

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในประเทศไทยได้ก้าวหน้าไปพอสมควร และมีภาคเอกชนเข้ามาให้ความร่วมมือด้วย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการลงนามความร่วมมือกับบริษัทพัฒนาเมืองเพิ่มขึ้นใน 8 จังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาเมือง ทั้งนี้ ในส่วนของคณะกรรมการสมาร์ทซิตี้ได้มีการประชุมหลายครั้ง และมีความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เช่น กระทรวงคมนาคม ที่สนใจในการทำสมาร์ทซิตี้บริเวณบางซื่อ กระทรวงพลังงาน สนใจที่จะทำสมาร์ทกริด และล่าสุดคณะกรรมการ EEC ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัล ทำดิจิทัลพาร์คที่ศรีราชาให้เป็นสมาร์ทซิตี้ควบคู่ไปด้วย โดยจะมีในหลายรูปแบบ ทั้งสมาร์ทลีฟวิ่ง สมาร์ทอิโคโนมี่ สมาร์ทโมบิลิตี้ และสมาร์ทเอ็นไวรอลเมนท์ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่และได้เชิญบริษัท Dassault (ดาโซ) แห่งฝรั่งเศสให้มาร่วมกับออกแบบครั้งนี้ด้วย