สยามเจมส์ กรุ๊ป เปิดตัวโครงการ “สืบสานงานเงิน” ขยายโอกาสเครื่องเงินไทยสู่สายตาโลก

Journal ข่าวสาร

ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยผลักดันงานฝีมือของไทยให้ก้าวไปสู่เวทีโลก สำหรับโครงการ “สืบสานงานเงิน” จากสยามเจมส์ กรุ๊ป โครงการที่จะพัฒนาทักษะฝีมือ และต่อยอดการขายระดับสากลแก่ผู้ประกอบการและช่างฝีมือเครื่องเงินไทยทั่วประเทศ โดยมีการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่สยามเจมส์ เฮอริเทจ

นายฐวัฒน์ สมมะโนพัฒน์ ผู้อำนวยการการตลาด สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวว่า กว่า 56 ปีที่สยามเจมส์ กรุ๊ป ได้ดำเนินธุรกิจมา ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมา จึงอยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ แล้วยังสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อย

“เราเล็งเห็นว่าช่างฝีมือไทยเรามีฝีมือไม่ด้อยไปกว่าใคร แต่ที่ด้อยเป็นเรื่องของช่องทางการตลาด เราจึงพัฒนาเครื่องเงิน โดยพัฒนาให้กับผู้ประกอบการให้มีช่องทางในการขาย เราสามารถช่วยผู้ประกอบการในการขยายตลาดได้ ซึ่งตรงนี้เราได้ร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานการศึกษา เพื่อช่วยให้ศักยภาพตรงนี้แข็งแรงมากขึ้น” นายฐวัฒน์กล่าว

นายณัฐพล ปฐมกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้า สยามเจมส์ กรุ๊ป กล่าวเสริมว่า เครื่องเงินไทยเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก เนื่องจากช่างไทยมีความรู้ ความชำนาญ ความประณีต และเอกลักษณ์ต่างๆ สะท้อนถึงวัฒนธรรมไทยที่ชัดเจน นักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกก็ชื่นชอบ เนื่องจากรูปแบบเครื่องเงินไทยมีการประยุกต์ความเป็นไทยกับความเป็นสากลได้อย่างลงตัว ขณะเดียวกันยังคงความละเอียดละออ ความประณีตไว้อยู่ โดยตอนนี้เครื่องเงินยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในทั่วโลก เนื่องจากเครื่องเงินสามารถสร้างสรรค์ให้เข้ากับแฟชั่นของแต่ละบุคคลได้ ผู้ประกอบการเองต้องลงลึกถึงวัฒนธรรมกลุ่มลูกค้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สยามเจมส์จะมาแนะนำผู้ประกอบการในโครงการนี้

ม.ล.ภาสกร อาภากร นักออกแบบผลิตภัณฑ์ชำนาญการพิเศษ เปิดเผยว่า การออกแบบสามารถช่วยในเรื่องของการค้าได้อย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันการค้าเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ถ้าสร้างสินค้าแบบเดิมๆ แน่นอนว่าลูกค้าจะย้ายไปผลิตที่มีค่าแรงถูกกว่า อีกทั้งรัฐบาลเองก็กำลังเน้นเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งหนึ่งในไทยแลนด์ 4.0 มีเรื่องของการนำความคิดสร้างสรรค์ การนำนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทย ไม่เฉพาะเรื่องการออกแบบ ผู้ประกอบการยังต้องหานวัตกรรมของตัวเอง เพื่อให้สินค้าตัวเองโดดเด่น และต้องสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง มิฉะนั้นผู้บริโภคจะไม่จดจำว่าสินค้านี้เป็นของใคร ผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้คำแนะนำในเรื่องของการออกแบบและการขยายตลาดต่างๆ

รศ.ดร.สุภาวี ศิรินคราภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยสู่เครื่องประดับร่วมสมัย กล่าวว่า สิ่งที่จะทำคือต้องทำให้การอนุรักษ์เกิดขึ้นจริง โดยการอนุรักษ์ที่สำคัญมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1.คงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจที่มาผลิตภัณฑ์ และยังแสดงให้เห็นถึงความชำนาญด้วย 2.ต้องร่วมสมัย ให้เข้ากับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ถ้าคิดว่าการอนุรักษ์คือการปรับเปลี่ยนอย่างเดียว โดยที่ไม่คงรากเง้าไว้ สายใยจะไม่สามารถส่งต่อหากันได้ ดังนั้นต้องทำ 2 แนวทางควบคู่กัน ทิ้งแนวทางใดแนวทางหนึ่งไม่ได้

ด้านนายไตร เขื่อนธะนะ ตัวแทนผู้ประกอบการเครื่องเงินร้านสล่าเงินรายใหญ่ในจังหวัดน่าน กล่าวว่า ที่ร้านมีลูกค้าเป็นกลุ่มคนญี่ปุ่นที่เชื่อมั่นสินค้าเรามานานกว่า 20 ปี เนื่องจากการทำงานตรงต่อเวลา และสินค้ามีคุณภาพ แต่ส่วนตัวมองว่ายังมีการพัฒนาการออกแบบที่ช้า และยังมีปัญหาเรื่องการตลาด เมื่อมีโครงการนี้ก็ทำให้รู้สึกมีความหวังมากขึ้น เพราะคาดว่าโครงการนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้หลากหลาย ทันสมัยมากขึ้น และยังแนะนำช่องทางการตลาดอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการเครื่องเงิน