“7 ล้งจีน” รายใหญ่เมืองจันท์บุก “อุตรดิตถ์” แหล่งผลิตทุเรียนใหญ่ภาคเหนือ 32,000 ไร่ กว้านซื้อทุเรียนพันธุ์ “หมอนทอง” ส่งออกจีน ด้าน “ชาวสวนเมืองลับแล” รวมกลุ่มชูพันธุ์ “หลงลับแล” เจาะตลาดพรีเมี่ยม ทดลองชิมลางส่งออกไปตีตลาด “ไต้หวัน-ฮ่องกง” เกษตรอำเภอเผยตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูก 2-3 พันไร่/ปี รับความต้องการที่สูงขึ้น
นายอุดมศักดิ์ คำมูล เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันจังหวัดอุตรดิตถ์มีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 40,000 ไร่ อยู่ในพื้นที่ อ.ลับแล อ.เมือง และ อ.ท่าปลา ตามลำดับ
นับเป็นจังหวัดเดียวในภาคเหนือที่ปลูกทุเรียนเป็นหมื่นไร่ โดยส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์หมอนทอง หลงลับแล หลินลับแล และพันธุ์พื้นเมืองอื่น ๆ เช่น พวงมณี เป็นต้น ซึ่งทุกปีจังหวัดได้จัดประกวดทุเรียนเพื่อหาสายพันธุ์ใหม่ ๆ โดยลักษณะการปลูกจะเป็นการปลูกแซมในป่า
โดยปีนี้ผลผลิตออกล่าช้ากว่าปี 2560 และลดลงจาก 50,000 ตัน เหลือประมาณ 48,935 ตัน คาดว่าเดือนพฤษภาคมจะมีผลผลิตออกมาเพียง 10% และจะมากช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม โดยผลผลิตทุเรียนพันธุ์หมอนทองจะจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกจีน ส่วนพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแล ปัจจุบันจำหน่ายภายในประเทศเท่านั้น และความต้องการบริโภคยังคงสูง ซึ่งพันธุ์หลงลับแล 350 บาท/กก. และพันธุ์หลิน 400 บาท/กก. รวมถึงขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเริ่มขยายการผลิตทุเรียน เพื่อรองรับความต้องการของตลาด
ปัจจุบันเริ่มเห็นล้งไทยและจีนเข้ามาตั้งจุดรับซื้อผลผลิตในพื้นที่แล้ว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบนโยบายเรื่องการแนะนำเกษตรกรไม่ให้จำหน่ายทุเรียนอ่อน เพื่อรักษาภาพลักษณ์คุณภาพของทุเรียนพื้นเมือง รวมถึงขณะนี้กำลังปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ในการผลักดันให้จัดเทศกาลเชิญชวนนักชิม นักช็อป เข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อสัมผัสบรรยากาศการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนตามธรรมชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
นายธีรพล เหมืองหม้อ เกษตรอำเภอลับแล กล่าวว่า อำเภอลับแลมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 32,000 ไร่ ส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นพันธุ์หมอนทอง รองลงมาเป็นพันธุ์หลงลับแล 3,000 ไร่ ซึ่งเป็นสินค้าเด่นของจังหวัด เจาะกลุ่มตลาดพรีเมี่ยม และหลินลับแล 700-800 ไร่ โดยที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนลองกองหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น ซึ่งอำเภอลับแลถือเป็นแหล่งผลิตทุเรียนใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ หรือคิดเป็น 95% ของทุเรียนภาคเหนือ
นอกจากนี้ ยังมีการปลูกในพื้นที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์และท่าปลาโดยปี 2560 สร้างรายได้ให้จังหวัด 2.5 พันล้านบาท ซึ่งปี 2561 คาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 3 พันล้านบาท
บุกหนัก – จังหวัดอุตรดิตถ์ นับเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในภาคเหนือโดยปลูกมากที่สุดที่อำเภอลับแล และกว่า 80% เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคของชาวจีน ทำให้ปัจจุบันมีล้งจีนจากจันทบุรีประมาณ 6-7 ราย เข้ามารับซื้อผลผลิตกันจำนวนมาก
โดยปี 2561 คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนประมาณ 3-4 รุ่น เนื่องจากมีผลผลิตมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะสภาพอากาศและปริมาณฝนค่อนข้างดี โดยผลผลิตจะเริ่มออกช่วงเดือนพฤษภาคม และออกมากสุดช่วงมิถุนายน จะออกสู่ตลาดหลังจากภาคตะวันออก โดยพันธุ์หมอนทองผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 1,000 กิโลกรัม/ไร่ ราคาอยู่ที่ประมาณ 80-85 บาท/กิโลกรัม พันธุ์หลงลับแลและหลินลับแล 850-900 กิโลกรัม/ไร่ โดยราคาอยู่ที่ 450 และ 600 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ
ทั้งนี้ มีการส่งจำหน่ายตลาดภายในประเทศเป็นหลักถึง 90% เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และทั่วประเทศ ขณะที่การส่งออก ตลาดหลักคือ จีน ซึ่งมีทั้งล้งจีนจากจังหวัดจันทบุรี และพ่อค้าในท้องถิ่นเข้ามารับซื้อและแพ็กกล่องส่งออกเฉพาะพันธุ์หมอนทองเท่านั้น โดยล้งจะเข้ามาติดต่อกับเทศบาลตำบลหัวดง อำเภอลับแล ซึ่งคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 6-7 รายที่เข้ามาตั้งล้งรับซื้อ โดยจะขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ไปที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมองว่าหากมีล้งเข้ามาหลายราย ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขัน ส่งผลให้ราคาสูงขึ้น
ขณะเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา กลุ่มพัฒนาคุณภาพทุเรียนของชาวสวนในจังหวัดได้รวมกลุ่มและทดลองส่งทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแลไปตลาดไต้หวันและฮ่องกงประมาณ 7-8 ตัน ได้รับการตอบรับที่ดี แต่ยังคงติดปัญหาเรื่องปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จังหวัดจึงวางแผนขยายพื้นที่เพาะปลูกให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มปีละ 2-3 พันไร่
ที่มา นสพ.ประชาชาติธุรกิจ