แบงก์ชาติแจงโทษปลอมธนบัตร

Journal ข่าวสาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกออนไลน์ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อความที่ปรากฏอยู่บนหลังธนบัตรแบบใหม่ (แบบ 17) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้นำธนบัตรชนิดราคา 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท ออกมาใช้หมุนเวียนในระบบตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา โดยข้อความดังกล่าวระบุว่า “โทษฐานปลอมหรือแปลงธนบัตร คือจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกอย่างสูงยี่สิบปี และปรับอย่างสูงสี่หมื่นบาท” นั้นเป็นอัตราโทษเก่า เนื่องจาก พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 ที่บังคับใช้ตั้งแต่มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ตามมาตรา 240 ระบุว่า “ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท”
รายงานข่าวจากธปท. ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า ธปท.ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดพิมพ์ธนบัตรแบบ 17 ซึ่งกระบวนการจัดพิมพ์ธนบัตรแบบ 17 เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2559 เพราะกระบวนการออกแบบและจัดพิมพ์ธนบัตรใหม่ต้องใช้เวลาเตรียมการล่วงหน้า ข้อความเตือนที่ปรากฏระบุโทษการปลอมหรือแปลงธนบัตรตามกฎหมายข้อความเดิมเช่นเดียวกับธนบัตรส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (พ.ศ. 2560) ซึ่งได้ปรับปรุงโทษสูงสุดของการปลอมหรือแปลงธนบัตรจากสี่หมื่นบาทเป็นสี่แสนบาท ดังนั้น ผู้ที่ปลอมหรือแปลงธนบัตรจะต้องได้รับโทษตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

รายงานข่าว ธปท. ระบุอีกว่า ธปท. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อปรับแบบธนบัตรให้สอดคล้องกับกฎหมายที่ออกมาใหม่ โดยธนบัตรทั้ง 5 ชนิดราคา ได้แก่ 20 บาท 50 บาท 100 บาท 500 บาท และ 1000 บาท ที่จะออกใช้ตั้งแต่วันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ วันที่ 28 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป จะใช้ข้อความว่า “การปลอมหรือแปลงธนบัตรเป็นความผิด ต้องระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญา” แทนข้อความเดิมเพื่อให้สามารถรองรับการแก้ไขกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย