รู้จัก ตี๋-วรชัย หยิบกระดาษทิ้งจากโรงพิมพ์มาสร้างเครื่องประดับราคาพรีเมียม!

Talk with Matichon Academy บทสัมภาษณ์

ใครว่ามูลค่าเครื่องประดับต้องมาจากทองคำ เพชร เงิน พลอย อัญมณี หรือมุกเท่านั้น แต่วัสดุที่คนมองข้ามอย่างเศษกระดาษเหลือทิ้งจากโรงพิมพ์ ก้อนกรวด เศษกระจก หรือถ่าน ก็นำมาทำเครื่องประดับหรูได้เช่นกัน

เห็นได้จากแบรนด์ “BASIC TEEORY” (เบสิค เทียรี่) แบรนด์จิวเวลรี่ที่มีการนำวัสดุเหลือทิ้งอย่างเศษกระดาษและเศษกระจกมารีไซเคิลให้มีมูลค่า บวกกับดีไซน์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนแทบไม่น่าเชื่อเลยว่ามาจากของเหลือทิ้ง

“ตี๋-วรชัย ศิริวิภานันท์” เป็นผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์เครื่องประดับแบรนด์เบสิค เทียรี่ เล่าให้ “มติชน อคาเดมี” ฟังว่า ก่อนหน้านี้ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบผ้า เนื่องจากจบด้านสิ่งทอ แต่ชอบเรื่องของวัสดุและการนำวัสดุเข้ามาใช้ในงานดีไซน์อยู่แล้ว นอกจากนี้ก็ทำงานหลายที่ รวมไปถึงเป็นดีไซเนอร์ให้กับของตกแต่งบ้านสไตล์ฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้การใช้วัสดุที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

“จากการได้ทำงานที่นั่น เลยเริ่มที่จะใช้วัสดุที่เหลือในสตูดิโอมาทำเป็นจิวเวลรี่ และเริ่มชอบตั้งแต่นั้น และอยากจะมีแบรนด์จิวเวลรี่ของตัวเอง แต่จะทำอย่างไรให้แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ เลยพยายามเลือกใช้วัสดุและเทคนิคการผลิตที่แตกต่างจากคนอื่น จึงเป็นที่มาของเบสิค เทียรี่ รวมถึงเราต้องการจะสื่อว่า จริงๆ แล้วคุณค่าของจิวเวลรี่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าทำมาจากเงิน ทอง หรือเพชรพลอย แต่จริงๆ คุณค่าของมันเป็นวัสดุอะไรก็ได้ โดยเริ่มทำตั้งแต่ปี 2014 และเริ่มวางขายจริงๆ ในช่วงปลายปี 2014” วรชัยระบุ

พลิกจุดอ่อนพัฒนาสู่จุดขายที่แข็งแกร่ง

ผลงานของเบสิค เทียรี่ที่ออกมาในยุคแรกทำมาจากกระดาษ ซึ่งเขาให้เหตุผลที่เลือกใช้กระดาษหลังทดลองวัสดุมาหลายชนิดว่า เป็นเพราะไม่เหมาะสมที่สุด แต่ถ้าเขาสามารถทำให้มันใช้งานได้ จะกลายเป็นว่าเขาสามารถทำให้จุดอ่อนที่สุดกลายมาเป็นจุดขายที่แข็งแรงที่สุด จึงทำการพัฒนาคุณสมบัติของกระดาษให้สามารถใช้งานได้

โดยช่วงแรก “ตี๋-วรชัย” เริ่มจากจากการใช้กระดาษ A4 ทั่วไป แต่ก็ยังไม่ดีนัก จึงทดลองอยู่หลายกระดาษ จนตอนนี้ที่ใช้คือกระดาษเจียนทิ้งจากโรงพิมพ์ ซึ่งพบว่าเหมาะสมมาก เพราะนอกจากจะเป็นกระดาษรีไซเคิลจริงๆ แล้ว ยังเป็นกระดาษที่สะอาด เรียบ เวลาเอามาม้วนจะทำได้ง่าย แน่น และแข็งแรงมาก ไม่มีฟองอากาศ ซึ่งการม้วนแต่ละชิ้นวรชัยจะทำด้วยมือทั้งหมด โดยเคยนำเครื่องจักรช่วยม้วน แต่ก็ไม่เวิร์ค เพราะคอนโทรลความแน่นไม่ได้

“ส่วนกระดาษตอนแรกเราคิดว่าโรงพิมพ์จะชั่งกิโลฯขาย แต่ไม่ใช่ กระดาษเหล่านั้นโรงพิมพ์ทิ้งหมด ทำให้เราจ่ายแค่ค่าขนส่ง แต่ทุกครั้งจะมีการคุยกันว่ากระดาษครั้งนี้เป็นกี่แกรม ความยาวเท่าไหร่ แล้วเราต้องให้เขาตัดให้ เนื่องจากว่าหากไม่บอกก่อนเขาจะไม่มาตัดให้เราทีหลัง เพราะงานเขาต้องทำอย่างรวดเร็ว เราเลยต้องบอกขนาดเขาก่อน”

ผ่านหลายกระบวนการ จนได้ผลงานที่คงทน

จากกระดาษจะกลายเป็นเครื่องประดับได้ต้องผ่านการเคลือบ ซึ่งผลงานในยุคปัจจุบันเป็นเวอร์ชั่นที่ 4 ที่ใช้ตัวเคลือบเป็นพวกลามิเนตฟิล์ม ที่สามารถกันชื้น กันเหงื่อ และมีผลต่อกระดาษที่ใช้ เนื่องจากพอเคลือบแล้วนำไปจุ่มสีเมทัลลิค ทำให้ได้สีและเท็กซ์เจอร์บนกระดาษออกมาในลักษณะแบบนี้

แต่ในแต่ละคอลเลคชั่นก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกัน เช่น คอลเลคชั่นที่เป็นสีแดง จะเคลือบด้วยเมทัลลิคเบส ทำให้ได้สีที่ค่อนข้างเงา ส่วนสีดำ สีเขียว จะเคลือบด้วยวอเตอร์เบส ทำให้สีที่ค่อนข้างด้าน ผลงานแต่ละคอลเลคชั่นจึงแตกต่างกัน

ส่วนเรื่องความทนทาน วรชัยย้ำให้ฟังว่า ผลงานจากกระดาษที่เขาใช้งานมาตั้งแต่ปี 2014 ยังใช้งานได้ดีอยู่ อาจมีสึกหรอบ้าง แต่ก็สามารถซ่อมแซมได้ โดวิธีการดูแลรักษา คือ 1. ห้ามฉีดน้ำหอม หรือให้ฉีดน้ำหอมก่อนแล้วค่อยใส่จิวเวลรี่ 2.ห้ามแช่น้ำนานๆ แต่สามารถโดนน้ำได้ ตากฝนได้ เช็ดทำความสะอาดได้ และ 3.ห้ามกระแทก ห้ามโยน ถ้าวันไหนเหงื่อออกเยอะๆ ควรผึ่งไว้ก่อนค่อยเก็บเข้ากล่อง

เรียนรู้จากการทำจริง

งานออกแบบของเบสิก เทียรี่ จะเน้นลายกราฟิกเป็นหลัก เนื่องจากพบว่าลายกราฟิกช่วยเพิ่มคอนทราสต์ ขับให้ตัวงานดูเด่น เห็นชัดเจนขึ้น โดยผลงานช่วงแรกๆ เน้นไปที่สีพื้นอย่างขาวและดำ เนื่องจากออกมาในช่วงไว้ทุกข์ แต่หลังจากออกทุกข์ก็เริ่มทำสีสันมากขึ้น เนื่องจากออกทุกข์ และต้องการขยายกลุ่มลูกค้า เพราะปกติกลุ่มลูกค้าของ “วรชัย” เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ อายุประมาณ 40-80 ปี ที่มีกำลังซื้อสูง แต่ช่วงหลังอยากจะขยายไปที่กลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มตลาดญี่ปุ่น จึงพยายามที่จะใช้เรื่องของแพทเทิร์น เรื่องของสี ให้ดึงดูดกลุ่มที่เด็กขึ้นมา

“เรา learning by doing เพราะเรารู้แค่ว่าเรามีไอเดีย เราคิดว่ามันน่าจะขายได้ แต่ตอนนั้นเราก็ไม่แน่ใจว่ากลุ่มลูกค้าเราเป็นใคร เพราะถ้าเริ่มต้นทำธุรกิจ ทุกคนก็อยากจะขายให้ลูกค้าอายุ 20-80 ปีแน่นอน แต่สุดท้ายเรารู้แล้วว่ากลุ่มของเราไม่ใช่วัยรุ่นเลย แต่เป็นผู้หญิงทำงาน ไม่ใช่แม่บ้าน แต่เป็นผู้หญิงที่เป็นนักธุรกิจที่มีกำลังซื้อสูง มีความมั่นใจในตัวเอง โดยเมื่อเราเริ่มออกงานขายของ ลูกค้าที่ซื้อจะมีบุคลิกภาพที่คล้ายกันที่ชัดเจนมาก ชนิดที่ว่าพอมีคนเดินมาเรารู้เลยว่าคนนี้คือกลุ่มเป้าหมายของเรา พอกลุ่มลูกค้าชัดขึ้นมันก็ง่ายขึ้นว่ากลุ่มลูกค้าเหล่านี้รุปร่างเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเราทำแต่เส้นใหญ่ เพราะผู้หญิงที่กลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปเริ่มมีเนื้อ ไม่ใช่ตัวเล็กๆ แต่ก็ยังเห็นว่าผลงานชิ้นเพรียวๆ เราก็ยังทำอยู่ “

ขายออนไลน์อาจไม่ตอบโจทย์กับทุกโปรดักต์

นอกจากจะขายผ่านการออกร้านตามงานแสดงสินค้าแล้ว “วรชัย” ยังก้าวเข้าสู่การขายบนโซเชียลีเดียอีกด้วย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

“ตอนแรกเราคิดว่าขายบนออนไลน์จะไปได้ดี แต่ด้วยความที่ของเราใหม่มาก เป็นสร้อยกระดาษรีไซเคิล คนไม่เข้าใจ ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงด้วย จึงไม่ใช่ของที่คนจะแค่ซื้อมาลองใส่ก็ได้ จึงพบว่าออนไลน์ไม่ซัคเซสเลย สุดท้ายก็เป็นการขายด้วยวิธีเดิม แต่ออนไลน์เป็นช่องทางช่วยประชาสัมพันธ์ว่าเราถึงไหนแล้ว ทำอะไรอยู่ แต่ไม่มีใครตัดสินใจซื้อจากทางอินบ็อกซ์ เพราะคนยังไม่ได้จับ บางคนยังถามอยู่เลยว่าสร้อยกระดาษยับไหม แสดงว่าคนยังนึกภาพไม่ออก เราเลยคิดว่าสุดท้ายต้องออกร้านในงานที่คนจับต้องได้ เพราะไม่อย่างนั้นคนจะจินตนาการไม่ออกว่ามันแข็งแรงมาก”

สำหรับราคาเครื่องประดับของแบรนด์เบสิกช่วงแรกอยู่ที่ 1,500-7,500 บาท แต่ช่วงหลังเริ่มทำราคาให้ลดลงด้วยไอเท็มเล็กๆ เช่น ต่างหู ดังนั้นตอนนี้ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 500 บาท ส่วนราคาสูงสุดอยู่ที่ 38,000 บาท เป็นสร้อยคอที่ทำมาจากเศษแก้ว ถ่าน ก้อนกรวด ที่ยังเป็นวัสดุที่คนมองข้าม

ส่วนลูกค้าหลักๆ เป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ด้วยสไตล์อาจจะค่อนข้างแมตช์ไปกับลูกค้ากลุ่มนี้ นอกจากนี้ยังมีสิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย คนไทย และ expat ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่หลังๆ คนไทยจะเยอะที่สุด หลังเปิดตัวมา 2-3 ปี คนไทยก็เริ่มรู้จัก โดยวรชัยมองว่า เนื่องจากเป็นแบรนด์ไทย การโตในประเทศก็จะทำให้แบรนด์อยู่ได้

โดยปัจจุบันรายได้ของเสิก เทียรี่ อยู่ที่ตามฤดูกาล เนื่องจากวางขายตามโรงแรมบูติคในไทยด้วย ทำให้ช่วงไฮซีซั่นอย่างช่วงปลายปีและต้นปีจะขายดีเป็นพิเศษ

เป็นการนำวัสดุเหลือใช้ที่ใครๆ มองข้าม มาเพิ่มมูลค่าด้วยการรีไซเคิล ที่น่าจะเป็นตัวอย่างให้หลายๆ คนได้ดีเลยทีเดียว

 

————————-

 

Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111