ปะทะสังสรรค์วัฒนธรรมไฮบริด “ทวารวดี-เขมร” ศานติ ภักดีคำ & รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง(คลิป)

Talk with Matichon Academy บทสัมภาษณ์

“แม่น้ำชี” มีกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ในเขต อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ไหลผ่าน จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด  กาฬสินธุ์ ยโสธร ไปบรรจบแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี มีความยาว 765 กิโลเมตร ลุ่มแม่น้ำชีแบ่งเป็น 3 ตอน คือ 1. ลุ่มแม่น้ำชีตอนบน เป็นที่ราบสูงและภูเขาในเขต จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น 2. ลุ่มแม่น้ำชีตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม ในเขต จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด 3. ลุ่มแม่น้ำชีตอนล่างเป็นที่ราบลุ่มในเขต จ.ยโสธร อุบลราชธานี ในอดีตบริเวณลุ่มแม่น้ำชีมีการตั้งชุมชนมานานนับพันปี

จากการศึกษาทางโบราณคดี พบว่าในบริเวณลุ่มน้ำชีและลำน้ำสาขาเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณที่เรียกว่า “แอ่งโคราช” มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง เหมาะแก่การเพาะปลูกและตั้งถิ่นฐาน จึงปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีที่ผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3,500 ปีมาแล้ว

ดินแดนอิสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทั้งแบบทวารวดี เขมรโบราณ ไปจนกระทั่งวัฒนธรรมล้านช้าง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าลุ่มน้ำชีเป็นจุดปะทะสังสรรค์ของวัฒนธรรมอันหลากหลาย เรียกว่าเป็น “วัฒนธรรมลูกผสม” หรือ “วัฒนธรรมไฮบริด” ขณะเดียวกันผู้คนก็มักมองว่า อิสานตอนบน คือลาว ส่วนอิสานล่าง คือเขมร เรื่องราวข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร “รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง” อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมทวารวดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ “ศานติ ภักดีคำ” กูรูนักอ่านศิลาจารึก อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มศว.ประสานมิตร มีคำอธิบาย..

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง

“วัฒนธรรมทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจถือเป็นยุคต้นประวัติศาสตร์ของภาคอีสาน”

พื้นที่ลุ่มแม่น้ำชี ถ้าเราพิจารณาคร่าวๆ คือ ภาคอีสานตอนกลาง ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มประวัติศาสตร์ จะเป็นช่วงที่เราให้นิยามหรือความหมายหรือกำหนดเป็นช่วงทวารวดี ซึ่งวัฒนธรรมทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เราอาจจะถือเป็นยุคต้นประวัติศาสตร์ของภาคอีสาน และเป็นยุคสมัยประวัติศาสตร์ที่พร้อมๆ กับวัฒนธรรมเขมรเข้ามา เพียงแต่ว่าบางส่วนไปสัมพันธ์กับภาคกลางเสียเยอะ

ทีนี้วัฒนธรรมทวารวดีเข้ามาได้อย่างไร? ผมคิดว่าการที่วัฒนธรรมทวารวดีเข้ามาภาคอีสานได้นั้น เราปฏิเสธถึงความสัมพันธ์กับพื้นที่ภาคกลางไม่ได้ คือในช่วงแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ราวๆ พ.ศ.1100 เป็นต้นมา ภาคกลางมีบ้านเมืองที่เราเรียกว่าทวารวดีอยู่แล้ว บ้านเมืองแห่งนี้เจริญรุ่งเรือง จะมีคติความเชื่อทางศาสนา มีระบบการเมืองการปกครองที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมภายนอกกับภายใน ตรงนี้นี่เองของพื้นที่ภาคกลางในที่สุดก็ส่งผ่านมายังภาคอีสาน

พื้นที่สำคัญจุดแรกๆ ที่จะเกี่ยวข้องกัน คือการเข้ามาโดยผ่านเทือกเขาเข้าสู่พื้นที่ที่ราบสูงโคราช แถวๆ ชัยภูมิ โคราช แล้วมาขอนแก่น นี่น่าจะเป็นจุดแรกๆ ที่สะท้อนความสัมพันธ์โดยผ่านกลุ่มผู้คน ซึ่งกลุ่มผู้คนตรงนี้เราอาจจะมองได้ว่า เป็นกลุ่มผู้คนที่นับถือพระพุทธศาสนา หลักฐานที่ค้นพบส่วนมากคือเรื่องของพุทธศิลป์ ดังนั้น บทบาทของคนไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนิกชน คนทั่วไป หรือแม้แต่พระภิกษุสงฆ์ที่จะเผยแผ่วัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลาง เข้าสู่ภาคอีสาน น่าจะมีบทบาทอยู่สูง นี่คือจุดเริ่มต้น ก่อนที่วัฒนธรรมทวารวดีจะค่อยๆ ขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของภาคอีสาน ซึ่งแถบบริเวณภาคอีสานที่ใกล้กับภาคกลางก็คือ โคราช หรือ ชัยภูมิ ก่อนที่แม่น้ำไม่ว่าแม่น้ำมูล หรือแม่น้ำชีจะเป็นเส้นทางสายหลักค่อยๆ เผยแผ่วัฒนธรรมนี้ไปสู่เมืองอื่นๆ ตอนในของภาคอีสานต่อไป

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง

ถ้าเรายึดแม่น้ำชีเป็นหลัก แม่น้ำชีเหมือนกับว่าจะเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของวัฒนธรรมทวารวดีอิสาน คือจากการขุดค้นเราเจอบ้านเมืองหลักๆ ที่มีขนาดใหญ่ และมีร่องรอยหลักฐานที่นิยามว่าทวารวดีอิสานอยู่ค่อนข้างเยอะ เช่น แถวๆ กาฬสินธุ์ เราพบเมืองฟ้าแดดสองยาง เป็นต้น ที่ขอนแก่นก็เจอหลายเมือง ชัยภูมิที่ทัวร์มติชนอคาเดมีอาจจะมีโอกาสได้ไปดู อย่างเช่น แถวๆ คอนสวรรค์ เราก็จะพบหลักฐานอยู่ ซึ่งเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดีอิสาน คือหลักฐานที่เป็น “ใบเสมาหิน” ถ้าไปเที่ยวอิสานในยุคที่เป็นวัฒนธรรมแรกเริ่มในช่วงประวัติศาสตร์ จะพบได้ว่าในภาคอีสาน ถ้าแบ่งคร่าวๆ จะมีลักษณะวัฒนธรรม 2 แบบ คือแบบที่สัมพันธ์กับเขมร และแบบที่สัมพันธ์กับทวารวดี เราเรียกทวารวดีอิสานมีเอกลักษณ์สำคัญคือการทำ “หลักหิน” หรือ “ใบเสมา” ปักอยู่บนพื้น บางที่ปักล้อมรอบพื้นที่ บางที่ปักระเกะระกะไม่ได้มีทิศทางแน่นอน นี่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์

ถามว่าใบเสมาหิน หลักหินพวกนี้สร้างขึ้นเพื่ออะไร? ก็อาจพิจารณาได้ 2 แบบ คือ แบบแรกเป็นร่องรอยหลักฐานของคติความเชื่อดั้งเดิม ที่อาจจะมีเค้าโครงความเชื่อตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ก็คือการบูชาธรรมชาติ ตลอดจนบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ที่อยู่ในฐานะผีบรรพบุรุษ เพราะเราค้นพบว่าหลักหินหรือใบเสมาบางกลุ่มฝังอยู่บนพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการฝังศพมนุษย์ หรือฝังโครงกระดูก หรือ กระดูกบรรจุอยู่ในภาชนะแล้วเอาไปฝังอีกทีหนึ่ง ดังนั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในมิติความเชื่อของหลักหินพวกนี้สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องผู้ตายกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้คุณให้โทษได้

อย่างไรก็ตาม อีกอันหนึ่งที่เห็นชัดเจนควบคู่กันไป คือ ความสัมพันธ์กับคติทางพุทธศาสนา ซึ่งโดยรวมค้นพบว่าเป็นเรื่องของพุทธศาสนาเถรวาทมากกว่าฝ่ายมหายาน และน่าจะสัมพันธ์กับภาคกลางนั่นเอง ทำไมถึงบอกอย่างนั้น เพราะว่าในเชิงของพุทธศิลป์ แน่นอนว่าภาคกลางไม่นิยมใบเสมา แต่การสลักพระพุทธรูป หรือแม้แต่พระพิมพ์ พระพุทธรูปที่พบใกล้ๆ กับแหล่งใบเสมาหินพวกนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางด้านรูปแบบกับพื้นที่ภาคกลางค่อนข้างชัดเจน หรือแม้แต่ความนิยมพุทธเถรวาท แทนที่จะเป็นมหายานเหมือนทางกัมพูชา ก็คิดว่าน่าจะสัมพันธ์กับภาคกลางมากกว่า

เอกลักษณ์ที่สำคัญ ใบเสมาทวารวดีอีสานจะไม่ได้มีขนาดเล็กๆ เหมือนใบเสมาล้อมรอบโบสถ์ในปัจจุบัน ที่เป็นขนาดเล็กก็สูงประมาณหัวเข่า ที่สูงแบบท่วมหัว 2 เมตรเกือบ 3 เมตร ก็เจอ นั่นแสดงว่าคติการทำหลักหิน หรือ ใบเสมาอิสาน ไม่ใช่ทำล้อมรอบอุโบสถเหมือนในยุคหลัง และยังมีมิติความเชื่ออื่นด้วย เช่นมีการสลักเป็นรูปพระพุทธรูป หรือเป็นภาพเล่าเรื่องชาดก เล่าเรื่องพุทธประวัติ รวมถึงสัญลักษณ์ทางศาสนารูปธรรมจักร หลักหินนั้นๆ ก็อยู่ในฐานะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปูชนียวัตถุให้คนกราบไหว้บูชา ดังนั้นหลักหินจึงไม่ได้อยู่ในฐานะล้อมรอบอุโบสถที่เราคุ้นเคยกัน แต่มีมิติความเชื่อในแง่การเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย นั่นเป็นความศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา แต่ว่าความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะที่เป็นที่สถิตย์ของผีบรรพบุรุษ หรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นใดก็ตามที่นอกเหนือพุทธศาสนา ผมว่าก็มีด้วย คล้ายๆ กับประเพณีที่เรานับถือบูชาศาลหลักเมือง เราคิดว่ามีเจ้าพ่อหลักเมืองสถิตย์อยู่ภายใน ทำนองเดียวกันหลักหินพวกนี้บางทีอาจมีความเชื่อท้องถิ่นว่าตรงนี้เป็นที่สถิตย์ของบางอย่างข้างใน

“ทวารวดี” กับ “วัฒนธรรมเขมร” มีจุดร่วมหรือไม่?

จริงๆ แล้ว เวลาเราพูดถึงอีสาน บ่อยครั้งเราแยกทวารวดีกับเขมร ที่เข้ามายังอีสานออกจากกันได้ แต่บางครั้งมันไม่สามารถแยกออกจากกันได้ก็คือ บางพื้นที่รับวัฒนธรรมทั้ง 2 สาย 2 กระแสพร้อมๆ กัน ทั้งภาคกลาง และ เขมร เกิดการผสมผสาน ดังนั้น การคงอยู่ของวัฒนธรรมทวารวดีกับวัฒนธรรมเขมรในพื้นที่อีสาน หรือพื้นที่ลุ่มแม่น้ำชี จึงมี 2 แบบ แบบแรกมองว่าต่างคนต่างอยู่ คือบางพื้นที่เป็นทวารวดีไปเลย บางพื้นที่ก็เป็นเขมรไปเลย แต่ว่าจะไม่ใช่ลักษณะแบบนั้นโดยตลอด เพราะถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดการผสมผสานกันของสองวัฒนธรรม

เช่น เราอาจเจอลักษณะของพระพุทธรูปแบบเขมรอยู่บนใบเสมาทวารวดี นี่เจอที่ชัยภูมิ หรือ บางทีอาจมีคำจารึกที่เป็นคำยืมในภาษาเขมร มาปรากฎอยู่บนใบเสมาทวารวดี ตรงนี้เองผมคิดว่าบางครั้งหรือบ่อยครั้ง มันก็คือลักษณะการเอาทั้งสองสายวัฒนธรรมมารวมกันอยู่ในลุ่มแม่น้ำชี อยู่ในภาคอีสาน แต่ว่ายังไงก็แล้วแต่ในที่สุดพอถึงจุดๆ หนึ่ง อาจจะพุทธศตวรรษที่ 16-17 เราค้นพบว่าภาคอีสานวัฒนธรรมที่เรานิยามว่าทวารวดีอีสานจะค่อยๆ ถดถอยลง จนในที่สุดลักษณะของวัฒนธรรมเขมร ค่อยๆ แรงขึ้น จนทำให้วัฒนธรรมทวารวดีทางภาคอิสานค่อยๆ หายไป แต่หายไปโดยสิ้นเชิงโดยไม่เหลือเค้าหรือไม่ บอกได้ว่าบางพื้นที่อาจจะไม่ใช่ลักษณะแบบนั้นเสียทีเดียว แต่มีการผสมผสานกับวัฒนธรรมที่เข้ามาใหม่

ระหว่างสองวัฒนธรรมนี้มีการล้มล้างกันหรือไม่นั้น ผมมองว่ามันเป็นลักษณะการผสมผสานอยู่ด้วยกัน ในพื้นที่เดียวกันมากกว่า เริ่มต้นรับมาแล้วก็ผสมกันไป แต่ในที่สุดวัฒนธรรมที่เด่นในภาคอีสานและมีอายุยาวนานกว่า เห็นชัดเจนกว่า อาจจะเป็นเขมรที่เข้ามาจนถึงช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ขณะที่ทวารวดีอีสานจะค่อยๆ หายไปก่อนนั้นแล้ว ผมไม่ได้มองในลักษณะการเข่นฆ่าโดยใช้กำลังเพื่อให้อีกวัฒนธรรมหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่า แต่ผมว่ามันเป็นลักษณะของการค่อยๆ เปลี่ยนความเชื่อไปมากกว่า ซึ่งการเปลี่ยนความเชื่อ แน่นอนมีจากหลากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางการเมือง การปกครอง เป็นต้น และเหตุปัจจัยในการหายไปอาจไม่เหมือนกัน

ดูเหมือนว่าพอมาถึงพุทธศตวรรษที่ 16-17 มันค่อยๆ หายไป พอเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ค่อนข้างเข้มแข็ง ทำให้พบหลักฐานในยุคของท่านในดินแดนไทยเยอะแยะเลย ซึ่งผมว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมทวารวดีอีสานหายไป

ศานติ ภักดีคำ

ศานติ ภักดีคำ

“พื้นที่แถบ จ.ชัยภูมิ เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำชี เพราะฉะนั้นจึงมีแง่มิติที่น่าสนใจมาก มันเป็นเส้นทางจุดปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่สมัยทวารวดีหรือเขมรเท่านั้น”

สำหรับวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมร อยากให้มองก่อนว่าบริเวณพื้นที่นี้ย้อนกลับไปในอดีต มันเป็นเส้นทางโบราณตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่เส้นทางที่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมทวารวดีหรือวัฒนธรรมเขมรอย่างเดียว แต่ว่าเส้นทางไม่ว่าชัยภูมิก็ดี ขอนแก่นก็ดี จริงๆแล้ว อาจจะไม่ใช่แค่สองวัฒนธรรมด้วยซ้ำ พื้นที่ตรงชัยภูมิ-ขอนแก่น ถ้ามองในแง่ภาพรวมทางประวัติศาสตร์ เราจะเห็นถึงร่องรอยของผู้คนในมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และคนเหล่านี้มีการสัญจร มีการเคลื่อนย้าย เดินข้ามไปข้ามมา โดยแนวเขาที่อยู่ตรงกลางเป็นตัวคั่นระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับภาคกลาง ก็คือ “เขาพังเหย”

ซึ่งเขาพังเหยนี้อยู่ในแนวลำพญากลาง หรือแนวเทือกเขาตรงที่เป็นตัวกั้นระหว่างภาคอีสานและภาคกลาง และลำพญากลาง (อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี) มีช่องทางที่สมัยโบราณ เราพบหลักฐานว่ามีอย่างน้อย 2 ช่องทาง ซึ่งใช้เป็นเส้นทางเดินข้ามไปข้ามมา เส้นแรกเป็นเส้นทางไปตามรอยที่ลงไปทางเหวตาบัว ไปด่านขุนทด แล้วลงไปที่เมืองเสมา อ.ด่านขุนทด อีกเส้นทางจะวกขึ้นเหนือ ซึ่งเส้นที่ขึ้นเหนือนั้นจะเป็นเส้นทางที่ใช้กันมาตลอดเวลาในมิติทางประวัติศาสตร์ ในพื้นที่บริเวณนั้น มันเป็นเส้นทางที่พบหลักฐานว่าไม่ว่ายุคก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี หรือแม้แต่วัฒนธรรมเขมร ล้วนใช้เส้นทางนี้  และยังใช้สืบเนื่องมากระทั่งยุครัตนโกสินทร์ เส้นทางที่ว่านี้ คือ เส้นทางที่ไปทางลำสนธิแล้วข้ามไปขึ้นที่เขาพังเหย ข้ามเขาพังเหย ไปขึ้นที่ อ.เทพสถิต จาก อ.เทพสถิต มุ่งตรงขึ้นไปแถบชัยภูมิ ซึ่งพูดง่ายๆ ว่าพื้นที่แถบชัยภูมิเป็นต้นทางหรือต้นกำเนิดของแม่น้ำชี

เพราะฉะนั้นพื้นที่แถบชัยภูมิจึงมีแง่มิติที่น่าสนใจมาก มันเป็นเส้นทาง มันจึงเป็นจุดปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม และไม่ได้ปะทะสังสรรค์แค่สมัยทวารวดีเท่านั้น แต่สืบเนื่องต่อมาแม้กระทั่งในช่วงที่ทวารวดีหายไปแล้ว วัฒนธรรมเขมรเสื่อมอำนาจ พอมาถึงในช่วงสมัยอยุธยา ล้านช้าง ก็มีการปะทะสังสรรค์กันระหว่างวัฒนธรรมอยุธยาและวัฒนธรรมล้านช้างในพื้นที่เดียวกันนี้ด้วย

เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่น่าสนใจมาก และอยากให้ตามไปดูกัน เพราะว่าในจุดตรงนั้นมันสะท้อนให้เห็นถึงความต่อเนื่องทางวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าความจริงผู้คนอาจจะมีความเปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนทางวัฒนธรรม แต่ดินแดนแถบนั้นปรากฏการอาศัยอยู่ของผู้คนต่อเนื่องกันมา

ประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการขยายเข้ามาของวัฒนธรรมเขมร หรือเขมรโบราณในพื้นที่แถบชัยภูมิ ขอนแก่น คือตามลำน้ำชีซึ่งสำคัญ ถือได้ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของอีสานตอนกลาง และไหลไปบรรจบกับอีสานล่างที่ จ.อุบลราชธานี แม่น้ำตรงที่บรรจบ มันเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมเขมร เพราะว่าวัฒนธรรมเขมรโบราณเราพบหลักฐาน ว่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 สมัยพระเจ้ามเหนทร    วรมัน หรือเจ้าชายจิตรเสน ได้ขยายอิทธิพลอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมเข้ามาทั้งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี แม่น้ำมูลนั้นผ่านทางอุบลราชธานีแล้วย้อนขึ้นไปเรื่อยๆ ไปทางสุรินทร์ บุรีรัมย์ ไปจนถึง อ.ตาพระยา เราพบหลักจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมันที่นั่น

ขณะเดียวกันถ้าเรามองขึ้นในเส้นเหนือ เราจะเห็นว่าวัฒนธรรมเจนละของพระเจ้ามเหนทรวรมัน ฉีกขึ้นเหนือด้วยในแนวไปตามลำน้ำชีที่ จ.ร้อยเอ็ด เราพบจารึกเจ้าชายจิตรเสน และพบอีกหลักน่าสนใจมาก อยู่ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น คือจารึกวัดศรีเมืองแอม ที่นั่นถือได้ว่าอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีเหมือนกัน นี่คือร่องรอยหลักฐานการเข้ามาของเขมรระลอกแรกที่เราพบในอีสานและตามลำน้ำชี

วัฒนธรรมเขมรช่วงพระเจ้าจิตรเสน เราพบในพุทธศตวรรษที่ 12 แต่พอหลังจากนั้นร่องรอยของวัฒนธรรมเขมรโบราณก็เสื่อมลง เพราะมีการขยายตัวลงไปทางภาคใต้มากกว่าจะขยายอิทธิพลขึ้นทางด้านบน และตอนหลังยังแตกแยกแบ่งออกเป็นเจนละบก เจนละน้ำ ทำให้อำนาจทางการเมืองของเจนละหรือเขมรโบราณเสื่อมลงไป ซึ่งเป็นเวลาที่พอดีเราพบว่าช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ตอนปลายๆ หรือพุทธศตวรรษที่ 13-14 พบร่องรอยวัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลางได้เข้ามาและมาทับซ้อนในพื้นที่

วัฒนธรรมนี้ข้ามแนวเทือกเขาที่กั้นระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน ซึ่งเทือกเขานั้นคือแนวลำพญากลาง และข้ามเทือกเขาพังเหย วกขึ้นผ่านแนวเส้นทางโบราณ ซึ่งย่านบริเวณนี้จะพบแหล่งโบราณคดีหลายแหล่งมาก เช่น จ.ชัยภูมิ วัฒนธรรมทวารวดี ที่ อ.คอนสวรรค์ ก็พบเมืองโบราณที่เป็นสมัยทวารวดี นี่คือต้นทางที่วัฒนธรรมทวารวดีแผ่เข้าสู่อีสาน และจะทแยงขึ้นทั้งด้านเหนือและด้านใต้ ถ้าฉีกลงใต้ก็ลงไปทาง อ.สูงเนิน ถ้าฉีกขึ้นเหนือจะผ่านเขาพังเหยแล้ววกขึ้นไปที่ชัยภูมิ จากชัยภูมิไปที่ขอนแก่น และในขณะเดียวกันก็ฉีกไปทางตะวันออก จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ เพราะฉะนั้น จะเห็นถึงรอยต่อความเชื่อมโยง ขณะเดียวกันหลังพุทธศตวรรษที่ 15 มาแล้ว เขมรโบราณย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองพระนคร อำนาจทางการเมืองกลับมาแล้วเขมรค่อยๆ เริ่มขยายอำนาจกลับเข้ามาสู่พื้นที่ทางอิสาน

เราพบว่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 วัฒนธรรมเขมรเริ่มแผ่กลับเข้ามา แต่ตอนต้นจะอยู่ทางอีสานใต้

วัฒนธรรมเขมรได้ใช้เส้นทางตรงเขาพังเหย เหวตาบัว ขยายอิทธิพลเข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เข้าสู่ภาคกลาง ขณะเดียวกันพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มถูกครอบคลุมด้วยวัฒนธรรมเขมรโบราณ ร่องรอยหลักฐานที่พบคือการสร้างศาสนสถานที่เป็นปราสาทหินตามที่ต่างๆ ซึ่งที่ชัยภูมิจะพบเป็นสองปีกด้วยกัน ปีกที่ขึ้นทางทิศตะวันตก เราเจอปรางค์แดง ตรงนั้นเป็นเส้นทางโบราณเส้นทางหนึ่งที่น่าสนใจมาก

ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งในยุคหลัง สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 วัฒนธรรมอิสานถูกปกครองในมิติทางการปกครองของกัมพูชา เพราะช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงให้สร้างโรงพยาบาลเอาไว้ในพื้นที่ที่เป็นพระราชอาณาเขต ฉะนั้น ที่เราพบอโรคยาศาล ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ “โซนใน” ไม่ใช่พื้นที่ “โซนนอก” พื้นที่ “โซนใน” ก็คือพื้นที่ที่อยู่ในพระราชอาณาเขต ส่วนที่ลพบุรีไม่พบว่ามีอโรคยาศาล อันนั้นถือเป็นส่วนนอก

การปกครองของเขมรเองในยุคโบราณก็มีความแตกต่างกัน การก่อสร้างศาสนสถานก็ให้ค่าความสำคัญของเมืองแต่ละเมือง ชุมชนแต่ละชุมชนแตกต่างกันด้วย ในกรณีของ จ.ชัยภูมิ เราเจอ      อโรคยาศาลที่ “ปรางค์กู่” ซึ่งจะได้ไปดูกัน ปัจจุบันอยู่ในตัวเมืองชัยภูมิ และเส้นทางที่ออกไปที่ อ.แก้งคร้อ ก็จะมีอโรคยาศาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อยู่ และเส้นนี้คือเส้นต่อมาภายหลัง เป็นเส้นที่ขึ้นไปที่ อ.หนองบัวลำภู ซึ่งตรงนั้นช่วงหนึ่งดั้งเดิมมีวัฒนธรรมทวารวดีกระจายอยู่แล้ว หลังจากนั้นเขมรเข้าไปซ้อนทับและอยู่ร่วมกัน

นอกจากนี้แล้ว ชัยภูมิ-ขอนแก่น ยังเป็นจุดบรรจบกันของวัฒนธรรมล้านช้างและวัฒนธรรมอยุธยาด้วย เพราะฉะนั้นเส้นทางไม่ใช่แค่การปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมแต่อย่างเดียว แต่เป็นเส้นทางโบราณที่ผู้คนในภูมิภาคนี้ ใช้สัญจรเดินทางไปมา ใช้ติดต่อเชื่อมความสัมพันธ์กัน

ศิลปะเขมรที่เข้ามาในอิสาน พอมาสร้างมันไม่ได้เป็นแบบเขมรพระนครแท้ๆ แต่มันเป็นวัฒนธรรมเขมรซึ่งมีร่องรอยของวัฒนธรรมท้องถิ่นปนอยู่ด้วย หรือแม้แต่วัฒนธรรมที่เป็นทวารวดีก็มีกลิ่นอายของเขมรเข้ามาปนอยู่ด้วย กระทั่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16 ไปแล้ว ทวารวดีค่อยเสื่อมลงหลังพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ขยายอำนาจเข้าไปสู่เมืองละโว้ได้แล้ว มันเหมือนวัฒนธรรมหยุดชะงักไป สะท้อนว่าพื้นที่ในอิสานไม่ใช่แค่หนึ่งวัฒนธรรม แต่มีความหลากหลายและเป็นไฮบริด ในวัฒนธรรมทวารวดีมีกลิ่นอายเขมร ในวัฒนธรรมเขมรก็มีกลิ่นอายทวารวดี