“กาแฟถั่งเช่า” ลดอาการปวดข้อ ปวดหลังได้จริงหรือ?

Health สุขภาพดีๆ

“กาแฟถั่งเช่า” เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาตามสื่อต่างๆ มากมาย ว่ามีสรรพคุณช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยทางร่างกายต่างๆ เช่น ปวดข้อ และปวดหลัง ในความเป็นจริงกาแฟถั่งเช่าสามารถรักษา หรือบรรเทาอาการเหล่านี้ได้จริงหรือไม่ เรามีข้อมูลที่น่าสนใจจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. มาฝากกัน

“กาแฟถั่งเช่า” ลดอาการปวดข้อ ปวดหลังได้จริงหรือ?

ส่วนประกอบของกาแฟถั่งเช่า หลักๆ ก็คือกาแฟ และ ถั่งเช่า

สำหรับกาแฟมีสารสำคัญที่ชื่อว่า คาเฟอีน (Caffeine) มีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาท ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น และมีสมาธิ ไม่สามารถแก้ปวดข้อ และหลังได้

ส่วนถั่งเช่า เป็นสมุนไพรที่พบได้บริเวณแถบทุ่งหญ้าบนภูเขาของประเทศจีน นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากหลายคนเชื่อว่าสามารถบรรเทาอาการปวดข้อ และปวดหลังได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ยังไม่มีงานวิจัยใดสรุปได้ว่าสมุนไพรถั่งเช่านั้นสามารถบรรเทาอาการดังกล่าวได้

ดังนั้นจากที่มีการอ้างว่า กาแฟถั่งเช่า บรรเทาอาการปวดข้อ ปวดหลัง นั้นไม่เป็นความจริง ความจริงแล้วอาการปวดข้อ และหลังเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักๆ นั้นมาจากการใช้งานที่มากเกินไป และด้วยอายุที่มากขึ้น จึงทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้น

โดยมากแล้ว การรักษาอาการปวดข้อ และปวดหลังนั้นสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น กินยา การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น

ยาบรรเทาอาการปวดข้อ ปวดหลัง

ยาที่บรรเทาอาการปวดมีหลายชนิด เช่น

  1. ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) แนะนำให้กินห่างกันอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง และใน 1 วัน ไม่ควรกินยาเกิน 8 เม็ด หรือ 4,000 มิลลิกรัม
  2. ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) นาโปรเซน (Naproxen) เป็นต้น โดยตัวยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียง คือ อาจทำให้ ระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ จึงแนะนำให้กินหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ และไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะอาจทำให้เกิดอันตราย หรือแพ้ยาได้
  3. ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) เช่น มอร์ฟีน (Morphine) มีฤทธิ์ระงับปวดรุนแรง ซึ่งยาในกลุ่มนี้ต้องใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามหาซื้อยาจากร้านที่มีการลักลอบขายโดยเด็ดขาด เพราะยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงที่อันตราย หากใช้ไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

สุดท้าย อย. แนะนำว่า วิธีที่ดีที่สุด คือไม่ควรหลงเชื่อคำกล่าวอ้างของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพราะอาจทำให้เราตกเป็นเหยื่อทางการตลาดได้ นอกจากนี้หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์

ที่มา : Sanook.com