เลี่ยงบุหรี่ ลดเสี่ยง ‘มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ’

Health สุขภาพดีๆ

ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน คำกล่าวที่ว่า “ไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ดูจะเป็นสิ่งที่ใช้ได้อยู่เสมอ เพราะไม่ว่าเราจะดูแลตัวเองแค่ไหน ก็อาจจะป่วยเป็นโรคต่างๆ นำมาซึ่งการเจ็บไข้ทั้งทางกาย ใจ รวมทั้งสูญเสียเงินทอง

หากยิ่งมีพฤติกรรม สูบบุหรี่ หรือสูดดมควันบุหรี่เป็นประจำ ร่างกายสัมผัสเคมีในกลุ่มอะโรมาติค เอมีน ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยาง สิ่งทอ เครื่องหนัง สายไฟฟ้า พลาสติก และสิ่งพิมพ์ และชอบกินอาหารประเภทหมักดองและแปรรูป หรือได้รับอาหาร น้ำดื่มที่ปนเปื้อนสารหนู ยิ่งต้องระวังการป่วยเป็น “มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ” ที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มมะเร็งระบบขับถ่ายปัสสาวะ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เกิดจากความผิดปกติในเซลล์เยื่อบุทางเดินปัสสาวะ เติบโตและแบ่งตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ ทำให้กลายเป็นก้อนเนื้อ เจริญเติบโตได้เรื่อยๆ และลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำเหลือง ลามไปถึง กระดูกสันหลัง ปอด ท่อไต นอกจากนี้ การติดเชื้อและระคายเคืองในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน เช่น มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ก็ยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเช่นกัน โรคนี้ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง พบบ่อยในช่วงอายุ 50-70 ปี แต่สามารถหายขาดได้หากได้ตรวจพบและรักษาแต่เนิ่นๆ

อาการของโลกนั้น คือปัสสาวะเป็นเลือด โดยไม่มีอาการเจ็บปวด แต่เพราะลักษณะอาการจะเป็นๆ หายๆ ทำให้ไม่ควรชะล่าใจ บางรายปัสสาวะบ่อย ปวดท้องน้อยหรือปลายท่อปัสสาวะ หรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เนื่องจากเนื้องอกไปรบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ทั้งยังปวดหลัง เนื่องจากมะเร็งกระจาย ไอเรื้อรัง เนื่องจากมะเร็งกระจายไปที่ปอด และน้ำหนักลด หรืออุดตันของท่อไต ทำให้เกิดภาวะไตวาย ในการรักษา ระยะที่ 1-3 สามารถใช้การผ่าตัดเอาเฉพาะเนื้องอกออก โดยไม่ต้องตัดกระเพาะปัสสาวะ การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกบางส่วน หรือการผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด ควบคู่กับการฉีดยา ฉายรังสี และเคมีบำบัด

นพ.พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า แม้นวัตกรรมต่างๆ จะดีขึ้น แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอย่าง สูบบุหรี่ เพราะร่างกายจะขับสารจากบุหรี่ออกทางปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะสัมผัสกับสารก่อมะเร็งโดยตรง โดยเฉพาะการสูบก่อนนอน เพราะสารก่อมะเร็งจะไปคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน หากทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องสัมผัสสารเคมีกลุ่มเสี่ยง ควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร เพราะสารเคมีอาจติดมือ ปนเปื้อนในอาหาร และหากพบอาการผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันที

ที่มา : มติชนออนไลน์

นายแพทย์พิชัย จันทร์ศรีวงศ์