นมวัวไทยที่คนไทยไม่ค่อยดื่ม

Health สุขภาพดีๆ

เรื่อง : ธฤต อังคณาพาณิช

 

มวัวเป็นอาหารที่มนุษย์นิยมดื่มมานานแล้ว อาจจะมีมานานถึงสองพันปี จึงกล่าวได้ว่านมวัวเป็นหนึ่งในอาหารหลักของมนุษย์

นมวัวนั้นอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด ทั้งโปรตีนที่มีคุณภาพ ช่วยในการเจริญเติบโต เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง แคลเซียมในนมมีคุณภาพที่สามารถย่อยและดูดซึมได้ดี ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง บวกกับวิตามินแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย ถึงอย่างไรก็ตาม ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ตระหนักถึงการดื่มนม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยดื่มนมน้อยมาก เฉลี่ยเพียงคนละประมาณ 14 ลิตรต่อปี ในขณะที่อัตราการดื่มนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี ทั่วโลกเฉลี่ย 103.9 ลิตรต่อปี ซึ่งอัตราการดื่มนมของคนไทยต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกันและโลก 4-7 เท่า

นมดีแต่คนไทยไม่ดื่ม

คนไทยมีอัตราการดื่มนมเฉลี่ยน้อยอย่างน่าใจหายเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลก ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ

อ.สง่า ดามาพงศ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ “มติชนอคาเดมี” ว่า สาเหตุที่คนไทยดื่มนมน้อย อย่างแรกเกิดจากวัฒนธรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิม ที่บอกกล่าวกันว่านมนั้นเหมาะสำหรับเด็กเท่านั้นผู้ใหญ่ ไม่ควรดื่มหลังจากหย่านม จนกลายเป็นความเชื่อที่ผิดไปแล้ว

สง่า ดามาพงศ์

“อย่างที่สองคือ คนไทยไม่ได้ถูกให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของนมมากเท่าที่ควร เรารณรงค์การดื่มนมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อย่างที่สาม หลังจากที่หยุดดื่มนมแล้วมาดื่มอีกครั้ง จะทำให้เกิดการท้องเดิน เกิดอาการอึดอัดท้องทำให้ไม่อยากดื่มนม รวมถึงระยะหลังๆ มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับการดื่มนม นมเป็นอาหารที่ไม่ดี ไม่เหมาะสำหรับคนไทย คนเอเชีย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนดื่มนมน้อย”

อ.สง่า กล่าวต่ออีกว่า นมที่ดีที่สุดต้องเป็นนมวัวรสจืด เนื่องจากนมรสอื่นมีน้ำตาลสูงดื่มเข้าไปมากๆ จะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากจนเกินไป ทำให้เด็กฟันผุและอ้วนได้ ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ต้องผลิตนมออกมาหลายรสนั้น เพราะเด็กไทยไม่ชอบดื่มนม บริษัทผู้ผลิตจึงเติมน้ำตาลให้นมดื่มได้ง่ายขึ้น จนกลายเป็นเด็กติดนมรสหวานมากกว่านมจืด ซึ่งเด็กก็ดื่มนมรสหวานมาเรื่อยๆ ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดัน หรือโรคหัวใจตามมา

อ.สง่า เสริมอีกว่า คนที่ออกมากล่าวว่านมทำให้เกิดโรคต่าง ๆ มีงานวิจัยสนับสนุนจริง แต่ไม่เพียงพอที่จะเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อเผยแพร่ออกมาแล้วทำให้คนไม่กล้าดื่มนม ถือเป็นทำร้ายสังคมอย่างมาก การสื่อสารอะไรออกไปทางโซเชียลมีเดียต้องระมัดระวังเนื้อหาอย่างยิ่ง ถ้างานวิจัยยังไม่ชัดเจนอย่าเพิ่งแชร์ สำหรับผู้บริโภคจงฟังหูไว้หู อย่าไปเชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์ ข่าวที่ออกมาว่าดื่มนมแล้วเป็นมะเร็ง ดื่มนมแล้วทำให้เป็นอัลไซเมอร์ ดื่มนมแล้วทำให้แม่วัวล้มตายเพราะขาดแคลเซียม ตรงนั้นยังไม่มีงานวิจัยออกมาสนับสนุนเพราะฉะนั้นอย่าไปปักใจเชื่อ นมวัวยังเป็นอาหารที่ดีต่อมนุษย์อยู่ เพราะเราก็มีประวัติดื่มนมกันมายาวนานกว่า 2 พันปีแล้ว รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขก็ยังรณรงค์ให้ดื่มนมมาจนถึงทุกวันนี้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ก็ทรงส่งเสริมให้มีเกษตรกรเลี้ยงโคนมเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 50-60 ปีที่ผ่านมา จึงยังถือว่านมเป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับมนุษย์อยู่

ดื่มนมอย่างไรให้เหมาะสมกับแต่ละวัย

อ.สง่า กล่าวว่า นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสำหรับทุกวัย แต่จะมีสัดส่วนปริมาณการดื่มในแต่ละวันไม่เท่ากัน เริ่มจากวัยแรกเกิดถึง 6 เดือนให้เด็กดื่มนมแม่อย่างเดียวเท่านั้น ห้ามเอานมและอาหารอื่นมาให้ลูกกิน

หลัง 6 เดือนไปแล้วเมื่อนมแม่ให้สารอาหารไม่พอ จึงค่อยให้กินอาหารเสริมอย่างอื่นเข้าไป โดยนมวัวเป็นหนึ่งในนั้นที่เป็นอาหารเสริมที่ดีที่สุด เพราะนมนั้นมีโปรตีน วิตามินบี 12 แร่ธาตุฟอสฟอรัส และแคลเซียม ที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ร่างกายจะนำสารอาหารนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่านมวัวเป็นอาหารที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่จะเสริมเข้าไป

แต่จะดื่มนมอย่างไรให้เหมาะสม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขบอกไว้ว่า นมวัวเป็นอาหารที่ต้องดื่มในโภชนบัญญัติข้อที่ 5 การดื่มนมให้ได้ประโยชน์สูงสุด สำหรับเด็กจนถึงช่วงวัยเข้าประถมหรือมัธยมต้น สามารถดื่มนมได้ประมาณคนละ 2-3 กล่องหรือแก้วต่อวัน ปริมาณ 250 ซีซี แต่ถ้ามากกว่านั้นหากกินนมมากเกินไปจะทำให้ร่างกายอิ่มเกินไป ซึ่งทำให้ขาดสารอาหารที่จำเป็นบางตัวไป ดังนั้น มื้อหลักอย่างไรก็ต้องกินข้าว ส่วนนมเป็นเพียงอาหารเสริมเท่านั้น แต่ถ้าโตเป็นผู้ใหญ่แล้วหรือเป็นผู้สูงอายุ สามารถดื่มนมได้คนละประมาณ 1-2 แก้วต่อวัน ถ้าผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องไขมันเกิน สามารถดื่มนมได้วันละ 1-2 แก้ว แต่ต้องเป็นนมรสจืดพร่องมันเนยเท่านั้น

ปัญหาของการไม่สามารถดื่มนมได้

ถึงแม้ “น้ำนม” จะเป็นอาหารที่สำคัญและมีประโยชน์ แต่ก็ยังมีบางคนที่ไม่สามารถดื่มนมได้ ซึ่ง อ.สง่ากล่าวว่า สาเหตุที่บางคนดื่มนมไม่ได้ หรือดื่มนมวัวแล้วท้องเสีย เป็นเพราะร่างกายขาดน้ำย่อยตัวหนึ่งที่เรียกว่าแลคเทส ที่จะไปย่อยน้ำตาลแลคโทสที่อยู่ในนม ทำให้เมื่อดื่มนมเข้าไป นมจะถูกแบคทีเรียตัวอื่นมาย่อยแทน ทำให้เกิดแก๊ส ท้องเดินและอึดอัดท้อง

“อย่างไรก็ตาม กรณีนี้สามารถแก้ไขได้โดย 1.ห้ามดื่มนมตอนท้องว่างโดยเด็ดขาด ให้ฝึกดื่มนมทีละนิดๆ หลังจากการกินอาหารมื้อหลัก เช่น มื้อเย็นกินข้าวอิ่มแล้ว เราเอานมมาจิบทีละนิดๆ ประมาณหนึ่งในสี่ของกล่อง แล้วจิบแบบนี้ไปประมาณ 2 อาทิตย์ร่างกายเราจะสร้างน้ำย่อยออกมา พอดื่มแบบนี้ไปสักพัก ร่างกายเราก็จะสร้างน้ำย่อยออกมา เราก็จะสามารถดื่มนมได้โดยไม่เกิดอาการท้องเดิน ท้องอืด

“2.ถ้าเราดื่มไม่ได้จริง ๆ เราไม่อยากดื่ม เรารับกลิ่นมันไม่ได้เหม็นคาว ทางออกที่จะทำให้เราได้รับแคลเซียมและสารอาหารครบก็คือ การกินปลา โดยเฉพะปลาตัวเล็กๆ ที่สามารถกินได้ทั้งกระดูก นอกจากนี้ อาจกินผักใบเขียวให้มากขึ้น หานมถั่วเหลืองเมล็ดแห้งที่เห็นว่าแคลเซียมสูง น้ำตาลต่ำมากินเป็นประจำ เราก็จะสามารถทดแทนสารอาหารจากนมได้

แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ การออกกำลังกายและการพักผ่อนให้เพียงพอก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารให้ดีขึ้น ผู้สูงอายุที่ดื่มนมอย่างเดียวแต่ไม่ออกกำลังกาย กระดูกก็ไม่หนาขึ้น สำหรับเด็ก หากดื่มนม ออกกำลังกายไปเล่นกีฬาและนอนหลับพักผ่อนวันละ 9-10 ชั่วโมง จะทำให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง ตัวสูงสมวัย

ทุกภาคส่วนกระตุ้นการดื่มนมในไทย

นอกจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว หน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างก็เข้ามาส่งเสริมและกระตุ้นให้คนไทยดื่มนมมากขึ้นด้วย เช่นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา โฟร์โมสต์และเทสโก้โลตัส จัดกิจกรรมดื่มนมฟรีไม่อั้นใน “วันดื่มนมโลก 2018” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ดื่มนม ยิ่งดื่มยิ่งดี” ซึ่งรณรงค์ให้ทุกเพศทุกวัยดื่มนมโคสดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นประจำอย่างน้อยวันละ 2-3 แก้ว โดยหวังว่าจะเป็นหนึ่งในแรงสนับสนุนสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของนมวัว และหันมาดื่มนมมากยิ่งขึ้น

อ.สง่าหวังว่า งานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการจะทำให้คนไทยหันมาดื่มนมกันมากยิ่งขึ้น

“งานแคมเปญแบบนี้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะคนไทยยังดื่มนมน้อยอยู่ อาจเป็นเพราะการสื่อสาร หรืออาจเป็นเพราะการรณรงค์ยังทำไม่เต็มที่ ทำแล้วก็หยุด แต่มองว่าควรต้องมีการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ว่า ในปี 2569 คนไทยจะดื่มนมคนละ 25 ลิตรต่อปี จากปัจจุบัน 18 ลิตร ซึ่งต้องอาศัยการรณรงค์อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง รวมถึงจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมนมเข้ามาจับมือร่วมกันเพื่อจะทำให้นมราคาถูกลง และทำให้นมเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นกว่านี้ ขณะเดียวกันยังควรทำให้นมโรงเรียนดื่มง่ายขึ้น เนื่องจากนมโรงเรียนถูกเด็กมองว่าเป็นนมที่ไม่อร่อย เป็นนมเกรดสองที่คุณภาพไม่ดีนัก แล้วสุดท้ายเราจะทำอย่างไรให้คนไทยดื่มนมรสจืด ไม่ใช่นมปรุงแต่ง เพราะนมรสจืดเป็นนมที่ดีที่สุด” อ.สง่ากล่าวทิ้งท้าย


Content Team Matichon Academy
ติดต่อ อีเมล์ : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2954-3971 ต่อ 2111