เปิดผลตรวจสารหนู “สาหร่ายทะเล” ทั้งห่อข้าวปั้น ผงโรย นำเข้า-ผลิตในประเทศ

Health สุขภาพดีๆ

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคสาหร่ายทะเลกันมาก ไม่ว่าจะในรูปแบบของขนมขบเคี้ยว สาหร่ายห่อข้าวปั้น สาหร่ายผงโรยบนข้าวหน้าต่างๆ โดยสาหร่ายทะเล (seaweed) นั้นเป็นวัตถุดิบที่มีสารอาหารและแร่ธาตุสูง เช่น มีสารไอโอดีน ช่วยในการป้องกันโรคคอหอยพอกได้ มีโปรตีน แคลเซียม เหล็ก สังกะสี แมกนีเซียม โพแทสเซียม และมีใยอาหารสูง แต่ในทางกลับกันสาหร่ายทะเลก็มีโอกาสปนเปื้อนโลหะหนักสูง เช่น แคดเมียม (cadmium) และสารหนู (arsenic) โดยเฉพาะสารหนูนั้นจะตรวจพบในปริมาณมาก ถ้าหากตรวจวิเคราะห์ในรูปของสารหนูทั้งหมด (total arsenic) เนื่องจากสารหนูในอาหารมีหลายสปีชีส์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ สารหนูอินทรีย์ (organic arsenic) และสารหนูอนินทรีย์ (inorganic arsenic) ทั้งนี้สารหนูอินทรีย์นั้นจะมีความเป็นพิษต่ำกว่าสารหนูอนินทรีย์ ดังนั้นจึงได้มีการกำหนดปริมาณสารหนูอนินทรีย์สำหรับสัตว์น้ำและอาหารทะเล จะต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 273 (พ.ศ.2546) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน (ฉบับที่ 2)

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ให้บริการตรวจวิเคราะห์สารหนูอนินทรีย์ในอาหาร ผลการตรวจวิเคราะห์ในปีงบประมาณ 2558-2560 ปรากฏว่าสาหร่ายและผลิตภัณฑ์สาหร่ายที่ผลิตในประเทศ 475 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ไม่พบสารหนูอนินทรีย์ และตรวจพบสารหนูอนินทรีย์เพียงร้อยละ 4 และปริมาณที่ตรวจพบทั้งหมดยังปลอดภัย เพราะอยู่ในช่วง น้อยกว่า 0.25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังตรวจสาหร่ายที่ผลิตจากต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน เกาหลี สิงคโปร สเปน ส่งตรวจจำนวน 78 ตัวอย่าง ตรวจพบสารหนูอนินทรีย์ร้อยละ 17 ปริมาณที่ตรวจพบอยู่ในช่วง 0.25–0.39 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังทางด้านคุณภาพและ ความปลอดภัยของสาหร่ายมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เทคนิควิเคราะห์ลิควิดโครมาโทกราฟี ร่วมกับ การวิเคราะห์ธาตุ โดยหลักการของอะตอมมิกสเปกโทรสโกปี โดยใช้เครื่องมือ HPLC-ICP-MS สามารถตรวจวัดเชิงปริมาณต่ำสุดได้ที่ระดับ 0.25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่าสาหร่ายในประเทศไทยนั้นมีความปลอดภัยจากสารหนูอนินทรีย์ และพบการปนเปื้อนในระดับต่ำกว่าต่างประเทศ จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ แต่อย่างไรก็ดีควรบริโภคสาหร่ายอย่างเหมาะสม เนื่องจากการนำสาหร่ายมาปรุงรสทำให้มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคไต ไม่ควรบริโภคในปริมาณมากหรือบริโภคบ่อยจนเกินไป” อธิบดีฯกล่าว

 


ที่มา มติชนออนไลน์