FoodieTrip พานักท่องเที่ยว-นักชิม บุกกิน “อาหารท้องถิ่น” กันแบบถึงใจ

Food Story อาหาร

สำหรับนักท่องเที่ยวหลายคน การได้กินอาหารแบบที่คนท้องถิ่นกินกันจริง ๆ จัดเป็นกิจกรรมที่พลาดไม่ได้ เพราะนอกจากจะได้ลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่ ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมและเรื่องราวของผู้คน แต่การเสาะหาร้านที่คนท้องถิ่นนิยมกัน ต้องใช้เวลาคลำทาง

FoodieTrip จึงกำเนิดขึ้น ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้นักชิมได้เจอกับ food guide ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นที่เชี่ยวชาญด้านอาหาร พร้อมจะพาตะลุยกินร้านเด็ด

ปัจจุบัน FoodieTrip มี food guides อยู่ใน 70 เมือง (รวม กทม.ด้วย) จาก 46 ประเทศทั่วโลก

“มาธาน แมคกริว” ซีอีโอและผู้ก่อตั้งได้ไอเดียนี้จากประสบการณ์ที่เคยซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ของไกด์ท้องถิ่นในฮานอยเพื่อตระเวนชิมอาหารที่คนท้องถิ่นโปรดปราน และพบว่าเขายังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนท้องถิ่นและได้เพื่อนเพิ่มขึ้นมากมายจากการเที่ยวแบบนี้

ความประทับใจนั้น ทำให้เขาตัดสินใจก่อตั้ง FoodieTrip ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางให้คนที่มีใจรักอาหารของบ้านเมืองตัวเองกับนักท่องเที่ยวที่ชอบลองอาหารที่หลากหลาย ได้มีโอกาสเจอะเจอกัน

หลังสมัครใช้งานแล้ว ฝ่ายไกด์สามารถนำเสนอโปรแกรมทัวร์พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ได้เลย ส่วนนักท่องเที่ยว/นักชิมก็แค่คลิกเลือกเมืองที่ตนเองจะไป เลือกโปรแกรมของไกด์ที่เข้าตา จากนั้นก็จ่ายเงินเป็นอันเสร็จ (FoodieTrip ไม่โอนให้ไกด์จนกว่าทัวร์จะเสร็จสิ้น กันการเบี้ยวกลางอากาศ)

ข้อดีของ FoodieTrip คือ มีโปรแกรมหลากหลาย ตั้งแต่ตะลอนกินอาหารข้างทางในไชน่าทาวน์ ดื่มด่ำรสชาติกาแฟหอมกรุ่นถึงแหล่ง ไปจนถึงตระเวนราตรีจิบเครื่องดื่มเย็น ๆ ตามสไตล์คนท้องถิ่น ไกด์คนไหนจัดทัวร์ดี ตรงเวลา มีคนชมเยอะ และมีประสบการณ์ออกรอบไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง จะได้เลื่อนขั้นเป็น “ซูเปอร์ ไกด์” ได้รับการโปรโมตเป็นพิเศษ ทั้งมีโปรไฟล์แนะนำเป็นลำดับแรก ๆ เวลานักท่องเที่ยวคลิกเข้ามา

รายได้ของ FoodieTrip มาจากทั้งนักท่องเที่ยวและไกด์ นักท่องเที่ยวต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มจากค่าทัวร์อีก 15% ส่วนไกด์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้บริษัทอีก 5% หลังจบงานเบ็ดเสร็จหลังหักค่าการโอน 3% บริษัทจะได้กำไรทั้งหมด 17%

หลังจากเปิดให้บริการไปเมื่อราวต้นปี 2016 บริษัทจัดทัวร์ไปแล้วกว่า 1,000 ครั้ง ในกว่า 70 เมืองทั่วโลก มีผู้ใช้งานประมาณ 12,000 คน และมีคนเข้าเยี่ยมชมเว็บเดือนละ 25,000 คน

อนาคต “มาธาน” วางแผนจะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมบริษัททัวร์ท้องถิ่นขนาดเล็กและจับมือเป็นพันธมิตรกับสายการบินด้วย เมื่อดูจากกระแสการท่องเที่ยวที่เน้นการหาประสบการณ์ด้านอาหาร (culinary tourism) ที่เงินสะพัดถึงปีละ 1.7 แสนล้านเหรียญ โอกาสที่ธุรกิจของเขาจะเติบโตก็มีสูง

สำหรับใครที่รักอาหารและอยากหารายได้พิเศษจากการเป็น food guide จะลองสมัครดูก็ไม่เสียหายนะคะ ไหน ๆ อาหารไทยเราก็ขึ้นชื่อลือชาไม่แพ้ใครอยู่แล้ว หรือใครมีแผนจะไปเที่ยวต่างแดนและอยากหาคนท้องถิ่นพาชิมอาหาร ลองแวะเข้าไปดูโปรแกรมทัวร์ใน FoodieTrip

ก็น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว


ที่มา คอลัมน์ สตาร์ตอัพปัญหาทำเงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ
นสพ.ประชาชาติธุรกิจ