ขนมหวานสัญลักษณ์วันคริสต์มาส

Food Story อาหาร

“Jingle bells, jingle bells

Jingle all the way Oh, what fun it is to ride

In a one horse open sleigh  Hey…”

ได้ยินเสียงเพลงนี้เมื่อไหร่ แน่นอนว่าเทศกาลปีใหม่ของฝรั่งหรือ “คริสต์มาส”  มาถึงแล้ว  ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ตามมาด้วยงานเฉลิมฉลองอย่างมีความสุข โดยเฉพาะครอบครัวแต่ละบ้านลูกหลานมากันพร้อมหน้าพร้อมตา เมื่อถึงวาระเฉลิมฉลอง นอกจากอาหารของคาวที่เป็นสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาสแล้ว  ยังมี “ขนมหวาน” ประจำเทศกาลคริสต์มาสด้วย  หลายคนอาจนึกแปลกใจว่าพอถึงวันสำคัญเช่นนี้ทีไร ทำไมต้องมีเค้กรูปร่างเหมือนขอนไม้ หรือ ขนมปังขิง ที่ทำเป็นรูปตุ๊กตุ่นตุ๊กตา นำมาอวยพรมอบให้กันเป็นประจำทุกที  ว่าแล้วก็มาดูกันว่าขนมหวานประจำเทศกาลคริสต์มาส ทำไมต้องเป็นชนิดนี้และเขามีอะไรเป็นสัญลักษณ์กันบ้าง

แรกทีเดียวเลย คือ “คริสต์มาสพุดดิ้ง” หรือ “พุดดิ้งคริสต์มาส” แล้วแต่จะเรียกกันตามสะดวก ถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอบอุ่นในครอบครัว แต่ละบ้านมักมีสูตรเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของตนสืบต่อกันรุ่นต่อรุ่น  โดยมากในพุดดิ้งชนิดนี้มีเนื้อค่อนข้างหนัก เพราะมีส่วนผสมหลักเป็นผลไม้แห้งและถั่ว สีจะออกคล้ำถึงดำ เนื่องจากใช้น้ำตาลทรายแดง และน้ำเชื่อมที่มีสีดำ ขั้นตอนการทำพุดดิ้งชนิดนี้นับว่าเป็นกิจกรรมพิเศษอย่างหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว เพราะมีธรรมเนียมว่า สมาชิกทุกคนจะต้องมาช่วยกันคนส่วนผสม และระหว่างคนก็สามารถอธิษฐานขอพรได้ 1 ข้อ แล้วจะสมหวัง

คริสต์มาสพุดดิ้ง มีต้นกำเนิดมาจากโจ๊กในศตวรรษที่ 14 ที่เรียกว่า “frumenty” ซึ่งทำจากเนื้อวัวและเนื้อแกะกับลูกเกด ลูกพรุน ไวน์ และเครื่องเทศ สิ่งนี้มักจะเหมือนซุปมากกว่า และรับประทานเป็นอาหารเตรียมพร้อมสำหรับเทศกาลคริสต์มาส  ต่อมาในปี 1595 frumenty ค่อยๆ เปลี่ยนเป็น “พุดดิ้งลูกพลัม” โดยมีไข่ข้น เกล็ดขนมปัง ผลไม้แห้ง และเติมรสชาติให้เข้มมากขึ้นด้วยการเหยาะเบียร์และเหล้าลงไปด้วย จึงกลายเป็นขนมคริสมาสต์จารีตประเพณี แต่พอมาในปี ค.ศ. 1664 มีการห้ามรับประทาน ในสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 1 ประมาณ ค.ศ.1714 ได้นำกลับมาเป็นขนมหวานเฉลิมฉลองอีกครั้ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของอาหารคริสต์มาส  ในสมัยวิกตอเรียพุดดิ้งคริสต์มาสได้เปลี่ยนเป็นสิ่งที่คล้ายกับที่กินในปัจจุบัน

มีความเชื่อหลากหลายเกี่ยวกับคริสต์มาสพุดดิ้ง อาทิ ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ที่กล่าวว่าควรทำพุดดิ้งคริสต์มาสด้วยส่วนผสม 13 อย่าง เพื่อเป็นตัวแทนของพระเยซูและสาวกของพระองค์ และสมาชิกทุกคนในครอบครัวควรผลัดกันกวนพุดดิ้งด้วยช้อนไม้ โดยกวนจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก หรือที่น่ารักไปกว่านั้น คือสมัยก่อนจะมีประเพณีการใส่เงินเหรียญ 6 เพนนีลงไปอบกับส่วนผสมด้วย หากใครได้เหรียญก็จะถือว่าเป็นผู้โชคดี เชื่อว่าจะเจอแต่สิ่งดีงามตลอดปีที่กำลังจะมาถึง  ขนมชนิดนี้มักประดับประดาด้วยช่อโฮลีก่อนเสิร์ฟ หรือไม่ก็ราดด้วยบรั่นดีแล้วจุดไฟเป็นการเรียกเสียงปรบมือต้อนรับขนมพิเศษของคนในครอบครัว

ถัดมาเป็น “Buche de Noel” หรือ “Yule Log” เป็นเค้กชนิดหนึ่งซึ่งเทำจากแผ่นสปันจ์เค้กม้วนจนกลมคล้ายแยมโรล ตกแต่งด้วยครีมสีน้ำตาลเป็นเปลือกไม้  ใช้ไอซิ่งแทนหิมะ บางแห่งใช้เมอร์แรงแทนเห็ด ผลราสเบอรี่ตามแต่ไอเดียของแต่ละคน ก่อนจะกำเนิดเค้กชนิดนี้ เดิมทีชาวฝรั่งเศสมีวัฒนธรรมในการเผาท่อนไม้ขนาดใหญ่  Yule Log ต่อเนื่องในปล่องไฟตลอดช่วงเวลาคริสต์มาสถึงปีใหม่ เพราะมีความเชื่อว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ปีใหม่ที่จะมาถึงจะมีแต่ความโชคดี  นอกจากนี้ยังนำขี้เถ้าที่ได้จากการเผาท่อนไม้เหล่านี้ไปโปรยในพื้นที่เพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี

แต่เมื่อถึงสมัยพระเจ้านโปเลี่ยนที่1 (ศตวรรษที่ 19) มีกฎให้ประชาชนในปารีสปิดปล่องไฟในระหว่างฤดูหนาว เพราะเชื่อกันว่าการเปิดปล่องไฟทิ้งไว้ทำให้อากาศหนาวเข้าบ้าน และจะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย คำสั่งนี้ทำให้ชีวิตของชาวปารีสที่ผูกพันอยู่กับเตาผิงต้องเปลี่ยนไป แต่เพื่อระลึกถึงวิถีชีวิตเก่าๆ จึงมีการทำขนมเค้กรูปขอนไม้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ของชาวฝรั่งเศส เป็นสัญลักษณ์แทนไม้ฟืนที่เคยใช้เป็นเชื้อเพลิง และใช้เป็นเครื่องหมายความโชคดี นอกจากนั้น ก็ยังเป็นการสร้างโอกาสให้สมาชิกในครอบครัว

มาร่วมรับประทานเค้กด้วยกัน และพูดคุยเล่าเรื่องต่างๆ เหมือนครั้งที่เคยนั่งผิงไฟ สร้างความอบอุ่นร่วมกันเหมือนเมื่อสมัยที่ยังนิยมใช้เตาผิงกันอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป วัฒนธรรมการกินเค้กขอนไม้ได้แพร่ไปยังหลายๆ ประเทศทั่วโลก รูปแบบของเค้กขอนไม้ก็เริ่มเปลี่ยนแปลง ถูกพัฒนาให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น มีรูปแบบที่แปลกตาน่าสนใจมากขึ้น

ขนมลำดับถัดมา “Christstollen” เรียกง่ายๆ ว่าขนมปังคริสต์มาส มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับเด็กทารกห่ออยู่ในผ้าสีขาว ซึ่งให้ความหมาย หมายถึงพระเยซูตอนประสูติอยู่ในรางหญ้า ณ เมืองเบธเลเฮม โดยขนมปังชนิดนี้เป็นขนมปังผลไม้คล้ายเค้ก ทำจากแป้ง ยีสต์ น้ำ นม น้ำตาล เนย และมักจะเติมความอร่อยด้วยเหล้ารัม เปลือกส้มหวาน ลูกเกด อัลมอนด์ และเครื่องเทศต่างๆ

ความเป็นมาของ Stollen เป็นขนมปังที่รับประทานระหว่างเทศกาลอดอาหารในยุคกลาง ซึ่งขนมปังชนิดนี้จะทำจากแป้ง ยีสต์ และน้ำเท่านั้น เป็นขนมปังรสจืด ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เนย น้ำมัน ต่อมามีการร้องขอให้สมเด็จพระสันตปาปาอินโนเซนต์ที่ 8  (ค.ศ. 1432–1492)ทรงอนุญาตให้ใช้เนยเป็นส่วนผสมเพิ่มเติมได้ ขนมปังที่มีรสจืดๆ กลับกลายเป็นขนมปังที่มีรสหวานกว่าเดิม  Stollen กลายเป็นขนมปังคริสมาสต์ที่ได้รับความนิยมมากในสหราชอาณาจักร เพราะส่วนใหญ่แล้วจะมีแต่พุดดิ้งแบบเดิมๆ

ที่เป็นตำนาน คือ Stollen ในงานเลี้ยงปี ค.ศ. 1730 ของแกรนด์ดยุคแห่งลิทัวเนีย พระราชาผู้ทรงรักความโอ่อ่าหรูหรา ต้องการสร้างความประทับใจให้กับกองอาสาสมัคร โดยสั่งให้ทำ Stollen ขนาดยักษ์ 1.7 ตัน ซึ่งมีขนาดใหญ่พอสำหรับแขกราว 24,000 คน ที่เข้าร่วมในงานเฉลิมฉลอง รู้จักกันในชื่อ Zeithainer Lustlager

ต่อมาเป็น “ขนมปังขิง” หรือ Santa Claus Ginger Bread ถือเป็นคุกกี้คริสต์มาสในยุคแรกๆ ก็ว่าได้  โดยนิยมปั้นเป็นตุ๊กตาต่างๆ อาทิ ซานตาคลอส กวางเรนเดียร์ ต้นคริสต์มาส เกล็ดหิมะ และที่นิยมมากที่สุดคือรูปมนุษย์ขนมปังขิง มีส่วนผสมของเครื่องเทศหลากหลายชนิด ทั้ง ขิงผง อบเชย

พริกไทยดำ อัลมอนด์ และผลไม้แห้งต่างๆ  ในยุคกลางเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าเครื่องเทศ เช่น กานพลู ลูกจันทน์เทศ และอบเชย มีต้นกำเนิดในสวนเอเดนของพระเจ้า ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ไหนสักแห่งทางตะวันออกของดินแดนศักดิ์สิทธิ์  ดังนั้น จึงเชื่อกันว่าวิสุทธิชนผู้พลีชีพหรือซากศพของพวกเขาทำให้เกิดเครื่องเทศที่มีรสหวานและมีกลิ่นหอม และขนมปังขิงของพวกเขาก็เช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องเทศจากตะวันออกมีราคาสูง และหายาก ขณะที่คนอังกฤษชอบขิง จึงเรียกขนมปังเครื่องเทศแบบนี้ว่า “ขนมปังขิง” ในเยอรมนีและส่วนอื่น ๆ ของยุโรปกลาง “ขนมปังขิง” หรือ Lebkuchen ในท้องถิ่นมักไม่มีขิงแต่อย่างใด

ปิดท้ายด้วย “ฟรุ๊ตเค้ก” หรือ Christmas Fruit Cake แต่ก่อนเรียก “เค้กลูกพลัม”  เป็นเค้กเนยสดที่ประกอบไปด้วยผลไม้แห้ง ถั่วจำพวกนัท และเครื่องเทศเป็นหลัก บางสูตรจะมีส่วนผสมของเหล้ารัมเพื่อเพิ่มความหอมและความอบอุ่นให้ร่างกาย เนื่องจากนิยมแจกและบริโภคกันเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสหรือปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวของประเทศแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในอังกฤษยังนิยมใช้เป็นเค้กแต่งงานด้วย เพราะถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์

ฟรุ๊ตเค้กแบบดั้งเดิมนั้นเกิดขึ้นที่กรุงโรม มีเพียงเมล็ดทับทิม ถั่วสน และลูกเกดที่ผสมลงในข้าวบาร์เลย์บด ต่อมาได้ใส่ส่วนผสมน้ำผึ้งและเครื่องเทศเพิ่มเติม ในไม่ช้าฟรุ๊ตเค้กแพร่หลายไปทั่วยุโรป สูตรที่แตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับส่วนผสมที่มีอยู่ อย่างเช่นในบาฮามาส ไม่เพียงแต่ผลไม้เท่านั้นแต่ยังชุ่มไปด้วยเหล้ารัม หรือในบัลแกเรีย ฟรุ๊ตเค้กทั่วไปเรียกว่า keks โดยทั่วไปจะประกอบด้วยแป้งเนยและน้ำมันปรุงอาหาร นม ยีสต์ โยเกิร์ต ไข่ โกโก้วอลนัทและลูกเกด โดยปกติจะอบในกระทะสไตล์ Bundt ฟรุ๊ตเค้กจึงเป็นขนมหวานอีกหนึ่งชนิดที่นิยมรับประทานกันทั่วไปในช่วงคริสมาสต์