ประวัติขนมไทย

Food Story อาหาร

ขนมไทย เป็นของหวานของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณกาล ใช้แป้ง น้ำตาล และกะทิเป็นส่วนผสมหลัก รสชาติหวาน มัน นุ่ม เหนียว รูปลักษณ์สีสันสวยงาม กลิ่นหอมหวานจากวัตถุดิบที่ใช้ทำชวนน่ารับประทาน แต่เพื่อนๆ รู้ไหมว่าขนมไทยมีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้าง

ขนมไทย มีประวัติความเป็นมายาวนาน หลักฐานเก่าแก่ที่สุดระหว่างขนมไทยกับคนไทยคือวรรณคดีมรดกสุโขทัยเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” (พ.ศ. 2431) ที่กล่าวถึง ขนมต้มไว้ว่า “กาลวันหนึ่งพระองค์จึงให้หาเข้าหนมต้มได้ 16,000 ลูก พระองค์จึงถอดแหวนพระธำมรงค์วงหนึ่งออกจากพระกรแห่งพระองค์ พระองค์จึงใส่เข้าในเข้าหนมนั้น” เป็นสิ่งบอกเล่าได้ดีว่าขนมไทยมีมาแต่โบราณ

ขนมไทยเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในสมัยอยุธยา ดังปรากฏข้อความในจดหมายเหตุหลายฉบับ บางฉบับกล่าวถึง “ย่านป่าขนม” หรือตลาดขนม คือบริเวณหน้าวัดมหาธาตุ ซึ่งชาวบ้านในย่านนี้จะทำขนมขายหน้าร้าน มีขนมโบราณชื่อแปลกๆ ให้ได้เห็นกัน อาทิ ขนมชะมด ขนมเกวียน สามเกลอ หรือหินฝนทอง บางฉบับกล่าวถึง “บ้านหม้อ” ที่มีการปั้นหม้อ กระทะขนมเบื้อง เตาและรังขนมครก

ขนมไทย มีบทบาทมากที่สุดในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชาวโปรตุเกส อย่างท่านผู้หญิงวิชาเยนทร์หรือบรรดาศักดิ์ว่า “ท้าวทองกีบม้า” ผู้เป็นต้นเครื่องขนมหรือของหวานในวัง ได้สอนให้สาวชาววังทำ

ของหวานต่างๆ โดยเฉพาะได้นำไข่ขาวและไข่แดงมาเป็นส่วนผสมสำคัญอย่างที่ทางโปรตุเกสทำกัน ได้แก่ ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมหม้อแกง และรวมไปถึง ขนมทองโปร่ง ขนมทองพลุ ขนมสำปันนี ขนมไข่เต่า ฯลฯ

ตำราอาหารถูกตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเริ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “แม่ครัวหัวป่าก์” เป็นตำราอาหารไทยเล่มแรก ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ในตำราอาหารไทยเล่มนี้ปรากฏรายการสำรับของหวานเลี้ยงพระอันประกอบด้วย ขนมทองหยิบ ขนมฝอยทอง ขนมหม้อแกง ขนมหันตรา ขนมถ้วยฟู ข้าวเหนียวแก้ว ขนมลืมกลืน วุ้นผลมะปราง ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าคนไทยนิยมทำขนมใช้ในงานบุญเป็นแบบแผนต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ที่มา : แม่บ้าน