แพ้ “น้ำผึ้ง” อันตราย เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีไม่ควรกิน

Food Story อาหาร

ผู้ที่มีประวัติแพ้น้ำผึ้งให้หลีกเลี่ยงขนมที่มีส่วนผสมของน้ำผึ้ง เพราะอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนทารกอายุน้อยกว่า 1 ปีห้ามรับประทานน้ำผึ้ง เพราะในน้ำผึ้งอาจมีแบคทีเรียปนเปื้อนตามธรรมชาติ ทำให้ทารกป่วยได้ พร้อมแนะวิธีป้องกันและปฏิบัติตนให้ถูกวิธี

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า น้ำผึ้งเป็นสารประกอบซับซ้อนที่ผึ้งสร้างขึ้นมาในรวงผึ้ง น้ำผึ้งมีส่วนประกอบจากหลายแหล่ง คือ

  1. สารประกอบที่ผึ้งสร้างขึ้น เช่น สารคัดหลังจากต่อมน้ำลายและต่อมในคอหอยของผึ้ง ขี้ผึ้ง โพรโพลิส สารที่เกิดระหว่างผึ้งสร้างรวงผึ้ง
  2. สารประกอบจากดอกไม้ที่ผึ้งไปตอมผสมเกสร เช่น น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ละอองเกสรดอกไม้ อาการแพ้น้ำผึ้งพบได้น้อย คาดว่าพบได้ประมาณ < 0.001% ของประชากร อาการแพ้รุนแรง เช่น anaphylaxis พบน้อยมาก แต่ถ้าเกิดขึ้นอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการหากแพ้น้ำผึ้ง

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า น้ำผึ้งอาจเป็นส่วนผสมอยู่ในขนมต่างๆ เช่น ช็อคโกแลต ลูกอม เค้ก ผู้ที่แพ้น้ำผึ้งอาจมีอาการแตกต่างกัน เช่น

  • มีผื่นลมพิษเล็กน้อย 
  • อาจมีผื่นขึ้นจำนวนมากหากมีอาการรุนแรง

บางคนอาจมีประวัติแพ้น้ำผึ้งหรือขนมที่ผสมน้ำผึ้ง หลังจากรับประทานน้ำผึ้งหรือขนมผสมน้ำผึ้ง ภายใน 1 ชั่วโมงจะมีอาการ เช่น

  • ปากบวม 
  • แน่นหน้าอก 
  • เสียงแหบ 
  • คัดจมูก
  • ค่อยๆ มีผื่นลมพิษแดงคันทั้งตัว
  • ความดันโลหิตต่ำ (เป็นอาการแพ้รุนแรงแบบ anaphylaxis)

การรักษาอาการแพ้น้ำผึ้ง

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การรักษาอาการแพ้รุนแรง คือ ผู้ป่วยต้องรีบไปที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลใกล้บ้าน แพทย์จะได้ฉีดยาแก้แพ้อย่างเร่งด่วน

การป้องกันอาการแพ้น้ำผึ้ง

การป้องกัน คือ ห้ามรับประทานน้ำผึ้งและขนมที่ผสมน้ำผึ้ง ก่อนรับประทานขนมที่ไม่เคยกินมาก่อน ต้องอ่านฉลากบนกล่องขนมว่ามีส่วนผสมของน้ำผึ้งอยู่หรือไม่

ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ไม่ควรกินน้ำผึ้ง

นอกจากนี้ น้ำผึ้งอาจมีสปอร์ของแบคทีเรีย Clostridium botulinum ปนเปื้อนตามธรรมชาติ ทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี มีสภาวะในทางเดินอาหารที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของ C.botulinum ถ้าทารกกินน้ำผึ้งที่ปนเปื้อน C.botulinum เชื้ออาจเข้าไปเจริญเติบโตในทางเดินอาหารและสร้างท็อกซิน ทำให้เกิดโรคโบทูลิซึมในทารก (Infant botulism) จึงห้ามทารกรับประทานน้ำผึ้ง

ที่มา : Sanook.com