ข้าวตู-ข้าวตัง จากอาหารชาวบ้านถึงอาหารชาววัง

Food Story อาหาร

ชื่อขนมทั้งสองชนิดนี้อยู่คู่คนไทยมาแต่โบราณกาล นอกจากจะมีในชีวิตประจำวันแล้ว ยังสะท้อนผ่านวรรณคดีอย่างเรื่อง “ระเด่นลันได” บทประพันธ์ล้อการเมืองและชนชั้นสูง ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ที่ว่า…

ครั้นรุ่งแสงสุริยันตะวันโด่ง   โกงโค้งลงในอ่างแล้วล้างหน้า

เสร็จเสวยข้าวตังกับหนังปลา   ลงสระสรงคงคาในท้องคลอง”

จากร้อยกรองบทนี้ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า “ข้าวตัง” เป็นอาหารของคนจน เพราะระเด่นลันไดพระเอกในท้องเรื่องมีความเป็นอยู่อย่างยากเย็นแสนเข็ญ ซึ่งนอกจากข้าวตังที่ขูดออกมาจากก้นหม้อแล้ว “หนังปลา” ก็ยังเป็นส่วนที่เหลือจากการขูดเอาเนื้อปลาไปหมดแล้วเช่นกัน คนในสมัยก่อนก็คงไม่มีใครเอามากิน นอกจากคนจน แตกต่างจากสมัยนี้ที่หนังปลา กลับกลายเป็นของมีราคา กินแกล้มกับก๋วยเตี๋ยวน้ำตกเป็นของอร่อยคู่กันเลยทีเดียว

ข้าวตัง (ภาพจาก dtc.ac.th)

“ข้าวตัง” มาจากสมัยก่อนที่มีการเลี้ยงคนจำนวนมาก เวลาหุงข้าวต้องใช้กระทะใบใหญ่ๆ เรียก “กระทะใบบัว” เป็นเหตุให้มีข้าวติดก้นกระทะอยู่มาก ข้าวที่ติดก้นกระทะนี้จะร่อนออกมาเป็นแผ่นๆ กลายเป็น “ข้าวตัง” ถ้าปล่อยไว้ให้เกรียมในก้นกระทะก็จะกรอบอร่อย กลายเป็นของกินเล่นได้ ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือเอาข้าวสุกที่เหลือติดก้นหม้อหุงข้าวหรือข้าวเย็นที่เหลือ มาใส่กระด้งตากแดด บางครั้งเลยเรียกว่า “ข้าวตาก”

ข้าวตู (ภาพจาก เส้นทางเศรษฐีออนไลน์)

และยังมี “ข้าวตู” ที่เกิดจากการเอาข้าวตากไปคั่วแล้วโม่ให้เป็นผง จากนั้นจะนำเอาผงข้าวไปคลุกกับน้ำตาลมะพร้าวที่เคี่ยวจนเหลวเหนียว แล้วปั้นเป็นก้อนๆ ใส่โหล อบดอกมะลิไว้ แต่ถ้าไม่ปั้นต้องการความสวยงาม จะมีพิมพ์กดเป็นรูปต่างๆ กลายเป็นขนมอีกเช่นกัน เรียกว่า “ข้าวตู” สมัยก่อนเด็กๆ แทบไม่ต้องซื้อขนมกิน แต่ละบ้านมีข้าวตูเป็นของกินที่ทำกินได้เองแทบทุกบ้าน จึงเป็นความฉลาดคิดของคนโบราณที่เก็บเอาของเหลือมาทำเป็นของกิน หรือขนมที่อร่อยได้ ดังนั้น คนแต่ก่อนจึงไม่ค่อยเดือดร้อน อยู่กันอย่างง่ายๆ ความจริงข้าวตูเป็นของกินให้อิ่มก็ได้ เพราะทำด้วยข้าวและรสก็ไม่หวานมากนัก บางทีก็กินข้าวตูกับกาแฟแทนขนมปัง

ข้าวตังดังกล่าวนี้เป็นข้าวตังแท้ๆ ยังไม่ได้ปรุงแต่งให้มีรสชาติ หลุดออกมาจากก้นกระทะอย่างใดก็กินอย่างนั้น ส่วนคำว่า “ข้าวตังกับหนังปลา” คงให้คล้องจองกัน แต่การกินก็แยกกันอยู่ ข้าวตังเมื่อทอดแล้วก็มีเครื่องประกอบไปทางหนึ่งเช่น ข้าวตังหน้าตั้ง ส่วนหนังปลาก็แยกไปกินกับก๋วยเตี๋ยว มาถึงสมัยนี้ข้าวตังได้รับการยกขึ้นโต๊ะ กลายเป็นอาหารว่างขึ้นหน้าขึ้นตาไปแล้ว เช่น “ข้าวตังหน้าตั้งชาววัง” อย่างนี้เป็นต้น  มีเรื่องเล่าว่าเมื่อ พ.ศ. 2481 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตเมืองไทย ปรากฎว่ามีพระราชประสงค์จะเสวยข้าวตัง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์เล่าถึงเหตุการณ์นี้ ถึงหม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ตอนหนึ่ง ว่า

“กงสุลเขาได้รับโทรเลขมีรับสั่งมาว่าอยากเสวยข้าวตัง เขาออกลำบากไม่รู้ว่าจะไปหาที่ไหนในปีนังนี้

พ่อคิดจะทำขึ้นที่ซินนามอนฮอล แต่เผอิญไปค้นพบข้าวตังหลานแมวเอามาด้วยลุ้ง ๑ เลยริบเอาข้าวตังหลานแมวลงไปถวาย” ตอนนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับที่ชินนามอนฮอล ปีนัง เผอิญมีข้าวตังอยู่จึงได้ถวาย แสดงว่าเจ้านายก็โปรดข้าวตัง จึงได้นำไปจากกรุงเทพฯ ด้วย เสียดายที่ในลายพระหัตถ์ไม่ได้ทรงเล่าว่าได้ทำข้าวตังอะไรถวาย

ขนมของไทยสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นข้าวเม่า ข้าวตอก ข้าวตาก ข้าวตู ข้าวตัง จะเห็นว่าล้วนทำมาจากข้าวทั้งนั้น แล้วดัดแปลงให้มีรสขาติต่างกันออกไป นับเป็นภูมิปัญญาของคนไทยในสมัยโบราณอีกด้านหนึ่ง ที่นำของเหลือกินเหลือใช้มาทำเป็นของกินอร่อยได้อีก