ที่มาของชื่อ “ข้าวตอก–ข้าวเม่า”

Food Story อาหาร

วันนี้มีชื่อของขนมไทยมาให้รู้กันอีกแล้ว คราวนี้เป็นเรื่องที่มาของชื่อ “ข้าวตอก” และ “ข้าวเม่า”  ขนมทั้งสองชนิดนี้เป็นตันตระกูลของขนมก็ว่าได้  ขนมต่างๆ อีกหลายชนิดเป็นตัวแปรมาจากข้าวตอกและข้าวเม่า นอกจากนี้ในสมัยโบราณยังถือเป็นของที่ใช้ในพิธีต่างๆ เช่น ในการรำอวยพร ก็มีโปรยข้าวตอกดอกไม้ เป็นต้น  สมัยโบราณ แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีเวลาจะทำพิธีบวงสรวงบูชาอะไร  จะต้องมีข้าวตอกดอกไม้  ซึ่งจริงๆแล้วหากสังเกตให้ดี ข้าวตอกก็มีลักษณะคล้ายดอกไม้ คือดอกมะลิมากกว่าดอกไม้อย่างอื่น

ชาวอัสสัมหรือไทยอาหม เรียกดอกมะลิว่า “ม็อกเข่า-แต๊ก” หรือดอกข้าวตอก โดยทั่วๆ ไปเข้าใจกัน ว่าข้าวตอกเป็นของกินกับน้ำกะทิ  เป็นของหวานแบบไทยๆ หรือบางทีก็ไปร่วมสมาคมกับพวกถั่วผสมรวมกันกลายเป็นกระยาสารท แต่ถ้าพูดถึงศักดิ์ศรีของข้าวตอกแล้ว ก็ใช้เป็นเครื่องบูชาได้ด้วย  การบูชาด้วยข้าวตอกและดอกไม้ของไทย เป็นประเพณีมีมาแต่ดั้งเดิม  แต่ตามธรรมเนียมอินเดียก็มีเช่นกัน สมัยอินเดียโบราณเวลารับเสด็จพระเจ้าแผ่นดินต้องโปรยข้าวตอกดอกไม้

สำหรับประเทศไทย ย้อนไปในสมัยสุโขทัยก็มีการบูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้ มีหลักฐานกล่าวไว้ในหนังสือไตรภูพระร่วง ตอนหนึ่งว่า  “…จึงชักชวนกันแต่งแง่แผ่ตน ทากระแจะแลจันทน์น้ำมันหอมแลมีมือถือเข้าตอกตอกไม้ไปบูชากงจักรแก้วนั้นแล”  ดังนี้ แสดงว่าในครั้งโน้นใช้ข้าวตอกบูชาสิ่งที่คารพ

และอีกตอนหนึ่งกล่วว่า “…แล้วจึงยกศพไปสงสักการด้วยแก่นจันทน์กฤษณาทั้งหลาย แล้วบูชาตัวยข้าวตอกดอกไม้ทั้งหลาย…” จากหลักฐานที่กล่าวนี้ส่อให้เห็นว่า ในสมัยสุโขทัยได้ใช้ข้าวตอกเป็นเครื่องบูชามาแล้ว และใช้ทั้งงานมงคล งานศพ  ในสมัยก่อนทางภาคอีสาน เมื่อจะนำศพไปฝังหรือเผา ก็จะมีคนถือพานข้าวตอกเดินนำหน้า แล้วโปรยข้าวตอกตั้งแต่ออกจากบ้านไปถึงที่ฝังหรือเผาการใช้ข้าวตอกโปรยของชาวอีสานมีคำอธิบาย ว่าคนที่ตายไปนั้นเปรียบเสมือนข้าวตอก ไม่มีทางที่จะงอกเงยขึ้นมาได้อีก  คนตายก็เช่นเดียวกัน ไม่มีทางที่จะฟื้นคืนชีวิตกลับมาอีก

ประเพณีการโปรยข้าวตอกเวลาเคลื่อนศพพบว่าในกรุงเทพฯ ก็เคยมี วิธีโปรยไม่เหมือนเทวดานางฟ้าโปรยดอกไม้เวลารำอวยพร  คนโปรยจะหยิบข้าวตอกทีละดอก โปรยไปทางขวาดอกหนึ่ง โปรยไปทางซ้ายดอกหนึ่ง สลับกันไปอย่างนี้ตลอดทาง  ในปัจจุบันนี้เครื่องบูชาของหลวงก็ยังใช้ข้าวตอกอยู่ แต่ถ้ามองดูเผินๆ ก็จะไม่รู้ว่าเป็นข้าวตอก เพราะเขาเอาข้าวตอกมาอัดติดทำเป็นพุ่ม ที่เห็นเป็นพุ่มสีขาวตั้งเรียงอยู่หน้าแท่นบูชานั่นแหละคือ ข้าวตอก

ข้าวตอก (ภาพจาก Nok's Nest)
ข้าวเม่า (ภาพจาก th.openrice.com)

เมื่อกล่าวถึงข้าวตอกแล้วก็ทำให้นึกถึง “ข้าวเม่า” ซึ่งเป็นการพูดแบบคล้องจองกัน ข้าวเม่าเป็นการนำเอาข้าวอ่อนๆ มาคั่ว ตำจนเม็ดข้าวแบน  ข้าวเม่าส่วนมากจะเป็นของหวานมากกว่าของคาว แต่ก็มีการนำไปใช้ในพิธีต่างๆ เหมือนกับข้าวตอก  สมัยก่อนมีเพลงกล่อมเด็กร้องว่า “โอละเห่เอย หัวล้านนอนเปล ลักข้าวเม่าเขากิน เขาจับตัวได้ เอาหัวไถลไถดิน หัวล้านมักกิน ตกสะพานลอยไป…” บทเพลงกล่อมเด็กบทนี้แสดงว่าสมัยก่อนชอบกินข้าวเม่า และตามปรกติจะมีคนทำมาขายตามงานวัดตอนหน้าน้ำ พวกแม่ค้าจะนำขนมใส่เรือมาขาย มีพวกข้าวโพดคั่ว ถั่วลิสงต้ม และที่มีมากที่สุดก็คือ “ข้าวเม่าทอด” ขนมนี้มีกล่าวถึงในนิราศน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2460 ตอนหนึ่งว่า “พวกแม่ค้ามาขายข้าวเม่าทอด  ตังเมหลอด  น้ำยาแกงปลาไหล เป็นต้น

“ข้าวเม่าทอด” ก็คือข้าวเม่ากวนกับน้ำตาลผสมแป้ง นำไปผอกกล้วยไข่ไว้ทั้งลูกแล้วทอด ไม่ใช่เอาข้าวเม่าไปทอดอย่างเดียว  ในเวลาที่มีข้าวเม่านี้เป็นวลาเดียวกับกล้วยไข่สุกพอดี จึงเป็นของประกอบกัน แบบเดียวกับกล้วยไข่กับกระยาสารท ข้าวเม่าทอดแต่ก่อนนั้นทำเป็นแพใหญ่ติดกันสามถึงสี่ลูก  ภายหลังจำนวนลดลงเรื่อยๆ  ปัจจับันนิยมทำเป็นสองลูก  นอกจากข้าวเม่าทอดแล้ว มีขนมอีกอย่างหนึ่งนิยมทำติดกัณฑ์เทศน์มหาขาติ ในหนังสือ “ขุนข้างขุนแผน” มีกล่าวไว้ตอนนางศรีประจันกับนางพิม เตรียมทำขนมไปติดกัณฑ์เทศน์กัณฑ์มัทรี มีกลอนว่า…

ข้าวเม่ากวนแป้งนวลชุบทอด      เอาไม้แยงแทงตลอดใส่ยอดไข่

มะพร้าวน้ำตาลหวานไส้ใน      สุกแทงขึ้นไว้อ้ายลูกโคน

ขนมอย่างนี้จะเรียกว่าอะไรไม่ทราบ ไส้ในเหมือนจะเป็นหน้ากระฉีกเห็นจะหวานแหลมจนแสบไส้  ข้าวเม่าเป็นของที่ทำกินได้หลายอย่าง เช่น ทำเป็น “ข้าวเม่าคลุก” คือเอาน้ำพรมข้าวเม่าพอหมาดๆ เพื่อให้ข้าวเม่านิ่ม น้ำที่พรมผสมเกลือเล็กน้อย บางคนทำไม่เป็นข้าวเม่าจะจับเป็นก้อน  อย่างนี้ก็ไม่อร่อย  ข้าวเม่าอย่างนี้ต้องคลุกกินกับมะพร้าวขูดใส่น้ำตาลทรายนิดหน่อย  ถ้ากินกับกล้วยไข่  กล้วยหอม จะไม่ใส่น้ำตาลทรายมากนัก หากเป็นข้าวเม่าใหม่เคี้ยวกินเปล่าๆ ก็อร่อย  ข้าวเม่าอีกอย่างหนึ่งเขาเรียกว่า “ข้าวเมาบด”  อย่างนี้ใช้ข้าวเม่าใหม่คั่วให้หอม แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง ใช้หัวกะทิหยดลงบนข้าวเม่าที่กรองไว้  กะทิจะผสมกับข้าวเม่าจับเป็นก้อน นำไปกลิ้งไปมาบนฝ่ามือ กะให้พอเป็นก้อนกลมนิ่มๆ เหมือนไข่จะละเม็ด เป็นใช้ได้ ขนมข้าวเมาบดอย่างนี้ยังพอหากินได้

ข้าวเม่าทอด (ภาพจาก โอเลยฟู้ด)

“ข้าวเม่าราง” เป็นขนมที่ทำจากข้าวเม่าอีกชนิดหนึ่ง ข้าวเม่ารางก็คือข้าวเม่าที่เอามาคั่วจนพองแล้วกินกับน้ำกะทิ คล่องคอดีกว่าข้าวเม่าบด ในชนบทบ้านนอก ถ้าทำขนมเลี้ยงคนมากๆ นิยมทำข้าวเม่ารางน้ำกะทิเป็นดีที่สุด ภายหลังมีผู้ประดิษฐ์คิดทำข้าวเม่ารางอย่างแห้ง คือ ใส่กุ้งแห้ง เต้าหู้ทอด กินแบบเค็มๆ หรือไม่ก็ทำให้หวานใส่น้ำตาลทราย แต่เป็นของประดิษฐ์คิดทำขึ้นภายหลังข้าวเม่ารางน้ำกะทิทั้งนั้น

ความจริง ข้าวเม่า ข้าวตาก หรือ ข้าวคั่ว เป็นเสบียงกรังของคนไทยมาแต่โบราณ กล่าวกันว่าทุกบ้านจะต้องมีข้าวตากติดบ้านไว้ เวลาเกิดฉุกละหุก เช่น ต้องเดินทางอย่างรีบด่วน ก็เอาข้าวตากใส่ไถ้ติดตัวไปกินตามทาง เหมือนอย่างชูชกจะออกเดินทางไปขอสองกุมาร นางอมิตตดาก็จัดเสบียงให้ “…ข้าวเม่าข้าวพองเป็นของเดินทาง ถั่วงาสาคูข้าวตูข้าวตาก” ของเหล่านี้เก็บไว้ได้นานๆ ทั้งนั้น

ข้าวเม่าราง (ภาพจาก เพจ Saneh Jaan)

ข้าวเม่าถ้ากินเปล่าๆ ก็ออกจะฝืดคอไม่น้อย เพราะข้าวเม่าดูดน้ำลายทำให้น้ำลายแห้ง ได้ทราบมาว่าในสมัยก่อนข้าวเม่ามีส่วนในการตัดสินความด้วย คือมีเรื่องว่าฝรั่งคนหนึ่งได้เข้ามาเมืองไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เขียนล่าไว้ว่า…ธรรมเนียมทางภาคเหนือนั้น เมื่อเกิดคดีชู้สาวระหว่างพระกับผู้หญิงขึ้น เขาจะให้พระและผู้หญิงที่ถูกกล่าวหากินข้าวเม่าเปล่าๆ  ใครกินข้าวเม่าได้สะดวกไม่ติดคอ ไม่ร้องขอน้ำกิน ก็แสดงว่าผู้นั้นเป็นคนบริสุทธิ์  ดังนี้ แสดงว่าเอาข้าวเม่ามาเป็นเครื่องตัดสินคดี เป็นวิธีที่แปลกอีกวิธีหนึ่งของคนโบราณ

ส่วนที่เมืองเขมรในสมัยก่อน เขามีธรรมเนียมกินข้าวเม่าในวันลอยกระทง แต่ไม่ใช่เป็นการกินแบบกินเลี้ยงฉลอง แต่เป็นการกินเกี่ยวกับความเชื่อ เป็นประเพณีอย่างหนึ่ง เขาเรียกเป็นภาษาเขมรว่า “ออกอำบก” แปลว่า “กลืนข้าวเม่า” (คำว่า ออก แปลว่า กลืน คำว่า อำบก แปลตามตัวว่าสิ่งที่ต่ำ ก็คือข้าวเม่านั่นเอง) วิธีกินก็ไม่ยาก ใช้มือขวากำข้าวเม่าแล้วแหงนหน้ากรอกข้าวเม่าใส่เข้าไปในปาก เท่านั้นก็เป็นอันเสร็จพิธี แต่ตามปรกติเขามักจะเอาข้าวเม่าใส่ลงไปในมะพร้าวอ่อนกินรวมกับน้ำและเนื้อมะพร้าวอ่อนเลยทีเดียว ซึ่งจะอร่อยและสะดวกกว่ากินข้าวเม่าเปล่าๆ มาก  ที่เขากินข้าวเม่าในคืนวันเพ็ญลอยกระทงนั้น กล่าวกันว่าเป็นการขอสิริมงคลและความเจริญให้แก่ตนนั่นเอง เข้าทำนองกินผลิตผลเมื่อแรกได้

การกินข้าวเม่าในสมัยก่อนจะกินได้หลายวิธี นอกจากกินกับมะพร้าวอ่อนแล้ว คงจะกินกับน้ำตาลสดได้อีกด้วย เช่น มีกลอนตอนขุนช้างเฝ้าเรือนหอ ตอนหนึ่งว่า “โอ้สมรที่นอนเย็นเป็นน้ำรด  ทำอย่างไรที่ไหนเล่า จะได้กินข้าวเม่าน้ำตาลสด”  ซึ่งน้ำตาลสดก็หวานหอมตำราเดียวกับน้ำมะพร้าวอ่อน แต่น้ำตาลสดหวานกว่ามาก

ตามที่กล่าวมาแต่ต้นจะเห็นว่า “ข้าวตอก” และ “ข้าวเม่า” เป็นทั้งของกินและใช้ในงานพิธีต่างๆ ไม่ใช่ของต่ำต้อยที่บางคนคิดว่าเป็นของหวานของคนจน อย่างข้าวตอกน้ำกะทินั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เสวยอยู่เป็นประจำ สรุปว่าในบรรดาเจ้านายก็เสวยข้าวตอก ข้าวเม่า ลูกบัว ถั่วลิสง ของพื้นๆ อย่างนี้กันทั้งนั้น  มีธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่งว่าเวลาโล้ชิงช้าถึงตอนส่งพระเป็นเจ้า มักจะมีพระเจ้าลูกเธอตามเสด็จไปด้วย พระมหาราชครูก็ต้องเตรียมข้าวเม่า ข้าวตอก ลูกบัว ถั่วลิสง ใส่ขวดไว้ถวาย นอกจากนี้ยังถือเป็นประเพณีอีกว่าเมื่อเสร็จพิธีโล้ชิงช้าแล้ว พระมหาราชครูและพราหมณ์จะต้องจัดข้าวตอกใส่พานเข้าไปถวายในท้องพระโรง นอกจากข้าวตอกก็มีข้าวเม่า และของอย่างอื่นอีก ดังนี้จะเห็นว่าข้าวตอก ข้าวเม่า มีส่วนพัวพันกับชีวิตคนไทยมาแต่ใบราณ และจะคงมีอยู่ตลอดไป ถ้าเราไม่นิยมกินขนมต่างชาติจนลืมของไทยๆ ไปหมด