“หมูเกาหลี” หมูย่างแดนกิมจิ

Food Story อาหาร

หลายคนอาจสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่างกันหรือระหว่างหมูกระทะบุฟเฟ่ต์กับหมูเกาหลีที่กําลังพูดถึงอยู่นี้ ก็ต้องบอกว่ามีทั้งเหมือนและไม่เหมือน

ที่เหมือนคือ ความเสี่ยงในเรื่องปริมาณไขมันคอเลสเตอรอล ที่ต่างก็คือ เราไม่ต้องกังวลเรื่องการกินมากเพราะไม่ใช่บุฟเฟ่ต์และคุณภาพของอาหารอาจดีกว่า แต่ความเสี่ยงที่มาจากการกินหมูเกาหลีก็มีเพิ่มขึ้นด้วย

กิมจิก็มีความเสี่ยง

ตามปกติแล้วร้านหมูเกาหลีมักเสิร์ฟกิมจิให้มากินคู่ บางร้านมีกิมจิเป็นสิบๆ อย่าง หากมองในแง่ดี กิมจิเป็นอาหารชนิดโปรไบโอติกส์ที่ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ชนิดดีให้แก่ร่างกาย แต่ขณะเดียวกันกิมจิก็เป็นเช่นเดียวกับอาหารชนิดอื่นๆ คือ หากไม่ได้ทําอย่างถูกต้องและพิถีพิถันก็มีความเสี่ยงได้

ความเสี่ยงต่อการใช้ผักปนเปื้อนสารเคมี เป็นความเสี่ยงแรกที่มองข้ามไม่ได้อย่างเด็ดขาดกับการ กินกิมจิ เพราะ “ผักกาดขาว” ซึ่งถือเป็นกิมจิมาตรฐานที่ทุกร้านเกาหลีเสิร์ฟ เป็นหนึ่งในสี่ชนิดของผักที่ตรวจพบยาฆ่าแมลงมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบว่ามีไข่พยาธิปนเปื้อนอยู่ในกิมจิบางชนิดด้วย เพราะกระบวนการทํากิมจิที่ไม่ได้ผ่านความร้อน ดังนั้น ไข่พยาธิที่ล้างออกไม่หมดก็จะยังมีชีวิตอยู่และส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หากกินเข้าไป อีกความเสี่ยงหนึ่งของกิมจิก็คือ ในกิมจิมีเกลือผสมอยู่ค่อนข้างมาก หากเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว การรับประทานเกลือหรือโซเดียมเข้าไปมากๆ จะทําให้ความดันโลหิตสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทํากิมจิในบ้านเราในช่วงหลังที่มักพบว่ามีการเติมผงชูรสลงไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มรสชาติ ซึ่งนั่นเป็นการเพิ่มเกลือลงไปในอาหารโดยไม่จําเป็นและส่งผลเสียอย่างแน่นอน

ร้านเกาหลีมีความเสี่ยง

ไม่เฉพาะความเสี่ยงจากอาหารเท่านั้น แต่การกินอาหารเกาหลีแบบปิ้งย่างในร้านมีความแตกต่างจากหมูกระทะบุฟเฟ่ต์อย่างชัดเจนคือ “สถานที่” ซึ่งส่วนใหญ่ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์มักอยู่ในร้านที่เปิดโล่งเพื่อประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศ

แต่หมูเกาหลีซึ่งอยู่ในร้านและมีราคาค่อนข้างสูงมักตกแต่งร้านอย่างสวยงาม โดยทําเป็นห้องแอร์เพื่อทําให้คนกินรู้สึกคุ้มค่าต่อการจ่ายค่าอาหารที่สูง ทว่านี่แหละคือความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะร้านที่ได้รับความนิยมสูงหรือมีผู้อุดหนุนมากๆ

มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนว่ามีผู้เข้าไปรับประทานอาหารหมูกระทะ-เนื้อย่างเกาหลีในร้านอาหารเขตกรุงเทพมหานครแล้วเกิดเป็นลมมากกว่า 5 คน ต่อมา กองอนามัยสิ่งแวดล้อม สํานักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ตรวจสอบข้อมูลและเปิดเผยว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในร้านอาหารหมูกระทะ-เนื้อย่างเกาหลีแห่งหนึ่ง

ในวันเกิดเหตุ ภายในร้านมีการจัดงานเลี้ยงของบริษัทแห่งหนึ่ง และใช้ห้อง วี.ไอ.พี. ขนาดพื้นที่ 35 ตารางเมตร แต่มีผู้เข้าไปร่วมงานถึง 30 คน พร้อมเครื่องปิ้งย่างหลายกระทะ ทําให้ขาดอากาศถ่ายเท ขาดก๊าซออกซิเจน จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ร่วมงานหลายคนมีอาการมึนงงและเป็นลมในที่สุด ขณะนี้ได้สั่งห้ามไม่ให้ใช้ห้อง วี.ไอ.พี. เป็นสถานที่บริการหมูกระทะ-เนื้อย่างเกาหลีแก่ลูกค้า เพราะเป็นห้องขนาดเล็กและไม่มีระบบดูดควันหรือการถ่ายเทอากาศที่ได้มาตรฐาน

นั่นหมายความว่า การรับประทานเนื้อย่างเกาหลีในห้องอาหารที่มีเครื่องปรับอากาศนั้นค่อนข้างเป็นอันตราย เพราะในขณะปิ้งหรือย่างจะเกิดควันขึ้น โดยควันเหล่านี้ประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์นั้นมีอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก

เมื่อคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่ร่างกายจะไปขัดขวางการจับเกาะของก๊าซออกซิเจนกับฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ในเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะจับกับฮีโมโกลบินอย่างแน่นหนาและถาวรกลายเป็นสารที่เรียกว่าคาร์บอกซีฮีโมโกลบิน (carboxyhemoglobin) และอัตราเร็วของการจับเกาะของก๊าซนี้กับฮีโมโกลบินจะเร็วกว่าการจับเกาะกันของก๊าซออกซิเจนกับฮีโมโกลบินประมาณ 200-300 เท่า เป็นผลให้เซลล์เม็ดเลือดแดงนำก๊าซออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ของร่างกายลดลง จึงเกิดอาการผิดปกติขึ้นได้ ส่วนอาการที่เกิดขึ้นจะรุนแรงมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับเวลาและปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ได้รับ

หากได้รับก๊าซนี้ทีละน้อยๆ เป็นเวลานานๆ หรือได้รับอย่างสม่ำเสมอจะทําให้เกิดอาการอ่อนเพลียทั้งร่างกายและจิตใจ มีอาการเวียนศีรษะ หงุดหงิด ความจําเสื่อม ประสาทสัมผัสในการเห็นและการได้ยินผิดปกติไปจนถึงเบื่ออาหาร และผลสุดท้ายทําให้สุขภาพทรุดโทรมได้ง่าย

แต่ถ้าหากได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณมากจะรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก ชีพจรเต้นช้า หน้ามืดตาลาย กล้ามเนื้อแขนขาหมดกําลังจนไม่สามารถยืนได้ และเป็นลมหรือหมดสติได้

ในกรณีของหญิงมีครรภ์ ถ้าได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไป จะทําให้ปริมาณก๊าซออกซิเจนที่จะไปสู่ทารกในครรภ์ลดลง ถ้าเป็นเช่นนี้ไปนานๆ เป็นผลให้ทารกเจริญเติบโตได้ช้า และทารกที่คลอดจะมีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ หรือบางกรณีก็อาจทําให้เกิดการแท้งได้

ลดความเสี่ยง

การเลือกรับประทานหมูเกาหลีในร้าน ต้องเลือกดูจากผู้ประกอบการที่ใส่ใจ ทั้งเรื่องความสะอาดและออกแบบสถานที่โดยคำนึงถึงการระบายอากาศในร้าน และข้อปฏิบัติมาตรฐานของการกินที่ปลอดภัยอีกประการหนึ่งที่ย้ำเสมอคือ การไม่รับประทานปริมาณมาก หรือบ่อยเกินไป

ในกรณีเหตุการณ์ที่ผู้บริโภคเป็นลมในห้องอาหารที่รับประทานหมูกระทะ-เนื้อย่างเกาหลีดังกล่าวแล้ว อาจเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ประกอบการหรือของร้านอาหาร การป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีกทําได้โดยผู้ประกอบการต้องให้บริการหมูกระทะ-เนื้อย่างเกาหลีในสถานที่โปร่งสบาย และมีการระบายอากาศหรือถ่ายเทอากาศที่ดี เพื่อให้ระบายความร้อนหรือควันจากการปิ้งหรือย่างออกไปได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนผู้ประกอบการที่ต้องการให้บริการลูกค้าในห้องปรับอากาศก็จะต้องติดตั้งเครื่องดูดอากาศไว้ด้วย และต้องมีอัตราการระบายอากาศในลักษณะใกล้เคียงกับห้องครัวในร้านอาหารและที่พักอาศัย ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 โดยให้มีอัตราการระบายอากาศไม่น้อยกว่า 12-24 เท่าของปริมาตรของห้องใน 1 ชั่วโมงจึงจะถือว่าปลอดภัย

หมู-เนื้อเกาหลี

เนื้อวัว-เนื้อหมู สันใน 500 กรัม / น้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ / ซีอิ๊วขาว 3 ช้อนโต๊ะ / น้ำมันงา 2 ช้อนโต๊ะ

เครื่องเคียง กิมจิ ผักกาดหอม กระเทียมสด

น้ำจิ้มสูตรเกาหลี

ส่วนผสม

มิโสะ 2 ช้อนโต๊ะ 1 ก้อน / โชยุหรือซีอิ๊วขาว ½ ถ้วยตวง / น้ำส้มสายชูหมัก ¼ ถ้วยตวง / น้ำตาลผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ / งาคั่วละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ / น้ำมันงาปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ / กระเทียมบดละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

  1. หั่นเนื้อสัตว์เป็นชิ้นบางๆ แล้วหมักด้วยน้ำผึ้ง ซีอิ๊วขาว และน้ำมันงา พักไว้
  2. ทำน้ำจิ้มโดยผสมเครื่องปรุงทั้งหมดเข้าด้วยกัน (น้ำจิ้มจะเป็นลักษณะข้นๆ)
  3. ย่างเนื้อสัตว์รับประทานกับน้ำจิ้ม ผัก และเครื่องเคียง

 

ข้อมูลจาก : หนังสืออาหารเสี่ยงเลี่ยงได้ สำนักพิมพ์มติชน