ความจริงเกี่ยวกับ “เส้นก๋วยเตี๋ยว”

Food Story อาหาร

กินก๋วยเตี๋ยวมีความเสี่ยงหรือไม่?

ถ้าสิ่งที่เราพบในก๋วยเตี๋ยวให้พลังงานในระดับพอเหมาะต่อการเป็นอาหาร 1 มื้อ นั่นคือ มีปริมาณที่ไม่มาก และไม่น้อยจนเกินไปก็คงไม่จำเป็นต้องพูดถึงความเสี่ยงที่พบจากการกินก๋วยเตี๋ยวกัน หากแต่ในโลกความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เรามาดูส่วนประกอบของเส้นก๋วยเตี๋ยวกัน

ประกอบด้วย แป้งข้าวเจ้า น้ำ สารกันบูด และน้ำมันสำหรับทุกเส้น (กรณีของเส้นใหญ่) แป้งข้าวเจ้า ไม่ใช่ปัญหา แต่สารกันบูดและน้ำมันในเส้นใหญ่ เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้

เส้นก๋วยเตี๋ยวสด ซึ่งทำมาจากแป้งที่มีความชื้นอยู่สูงนั้น สามารถขึ้นราภายใน 2-3 วัน แต่เรากลับพบว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวสดในปัจจุบันสามารถเก็บได้นานถึง 7 วัน หรือบางทีอาจนานกว่านั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าในเส้นก๋วยเตี๋ยวมี “สารกันบูด” อยู่

สารกันบูดที่นิยมใช้ในเส้นก๋วยเตี๋ยวมีทั้งกรดเบนโซอิก ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กรดโพรพิโอนิก เพื่อยับยั้งเชื้อราและจุลินทรีย์อื่นๆ ซึ่งตามมาตรฐานที่กำหนดให้ใช้ คือ สารกันบูดทุกๆตัวรวมกันต้องไม่เกิน 1,000 ppm (1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม)

แต่ก็ไม่ต้องถึงกับตระหนกเกินไป เพราะแม้ปริมาณที่กฎหมายกำหนดไม่ให้ใส่สารกันบูดเกินกว่าค่ามาตรฐานคือ ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

แต่ไม่ได้หมายความว่าหากได้รับเกินกำหนดแล้วร่างกายจะได้รับอันตรายจากการรับประทานเส้นก๋วยเตี๋ยวโดยทันที เพราะปริมาณที่ได้รับต่อการกิน 1 มื้อนั้น ไม่อาจส่งผลทันทีต่อร่างกายได้ นอกเสียจากจะกินในปริมาณ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ซึ่งมีปริมาณที่มากพอที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ อีกแง่หนึ่งการได้รับสารดังกล่าวในปริมาณเล็กน้อย แต่ติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน เพราะจะทำให้มีสารพิษสะสมในร่างกาย ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง

ส่วนของน้ำมันทาเส้นใหญ่ การกินก๋วยเตี๋ยวโดยลวกเส้นก่อนอาจช่วยให้ปลอดภัยได้

และคำแนะนำที่ดีที่สุดที่จะลดความเสี่ยงในการรับประทานก๋วยเตี๋ยวได้ คือ ทำกินเอง โดยสามารถเลือกซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ปลอดภัยได้ จากการสำรวจพบว่าเส้นอบแห้งจะมีความปลอดภัยกว่าเส้นสด และควรพิจารณาซื้อเส้นที่ระบุชัดว่ามาจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการรับรองมาตรฐานไว้

ขณะเดียวกันวิธีรับประทานก็อาจสลับสับเปลี่ยนเมนูอาหาร เช่น จากการกินก๋วยเตี๋ยวเส้นอย่างเดียว ก็เปลี่ยนมากินเกาเหลาบ้าง หรือหันมากินก๋วยเตี๋ยวหมู เนื้อ กระดูกหมู ไก่ หรือเป็ด แทนการกินลูกชิ้นทุกวันก็อาจจะช่วยลดอันตรายลงบ้าง

คลิกอ่าน > เปิดสูตร วิธีทำก๋วยเตี๋ยว-ทำลูกชิ้นกินเอง ให้ปลอดภัย

 


Source เรียบเรียงจากหนังสืออาหารเสี่ยงเลี่ยงได้ สนพ.มติชน