เครื่องเทศ เป็นเครื่องแต่งกลิ่นที่โดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ในอาหารแถบประเทศอุษาคเนย์ ได้แก่ พริกไทย กระวาน กานพลู อบเชย ดีปลี ยี่หร่า ลูกผักชี ลูกจันทน์เทศ เป็นต้น การใช้เครื่องเทศนั้นก็เป็นการรับเอามาจากอาหรับและอินเดีย ในอดีตนั้นเครื่องเทศมีราคาแพงกว่าทองคำหลายร้อยเท่า เครื่องเทศพื้นๆในปัจจุบันอย่างพริกไทยนั้น เคยเป็นสิ่งบอกสถานภาพทางสังคมของชาวตะวันตก การที่ชาติตะวันตกออกเดินเรือมายังดินแดนที่ไม่รู้จักในตะวันออกไกล เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง คือ ต้องการเครื่องเทศนั่นเอง
แต่เดิมนั้นชาวยุโรปซื้อเครื่องเทศผ่านพ่อค้าชาวอาหรับ และอินดีย เมื่อความนิยมในเครื่องเทศมีมากขึ้นก็อยากที่จะมาค้าขายกับแหล่งเครื่องเทศโดยตรง จึงดั้นดนเดินเรือมาไกลแสนไกล แหล่งค้าขายเครื่องเทศในยุคนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่มะละกา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขายระหว่างอินเดียและจีน แต่โปรตุเกสยึดเอาเป็นเมืองขึ้นไว้ได้
หมู่เกาะอินดีสตะวันออก ซึ่งก็คืออินโดนีเซียนั้นอุดมไปด้วยเครื่องเทศถึงกับได้ฉายาว่า “หมู่เกาะโมลุกกะ” หรือ มาลูกู maluku ซึ่งแปลว่าหมู่เกาะเครื่องเทศนั้นก็ตกเป็นเมืองขึ้นของฮอลันดา
เมื่อชาติตะวันตกมาถึงดินแดนแถบนี้ นอกจากจะค้าขายแล้วยังยึดเอาเป็นเมืองขึ้นเพื่อกอบโกยเอาทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งเข้ามาเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และฮอลันดาโดยถ้วนหน้า เว้นเสียแต่ไทยที่ยังเอาตัวรอดมาได้ แม้ว่าจะต้องเสียดินแดนไปบางส่วนให้ฝรั่งเศสและอังกฤษ
การเข้ามานั้นได้นำพืชพันธุ์จากแดนไกลมาด้วย เราจึงเริ่มรู้จักวัตถุดิบแปลกใหม่ มีพืชผลชนิดใหม่ๆ เข้ามาปลูกในแถบนี้ เช่น พริก มะละกอ มันฝรั่ง มันเทศ มะเขือเทศ สับปะรด มันสำปะหลัง ข้าวโพด และข้าวสาลี ซึ่งพืชผักเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบอาหารอาเซียนในปัจจุบัน
หนังสือโอชาอาเซียน Asean Flavors สนพ.มติชน