ไหน ๆ เราก็ปลูกเพชร ปลูกเนื้อ ในห้องแล็บกันได้แล้ว จะปลูกนมวัว อีกสักอย่างคงไม่เหนือบ่ากว่าแรง
แต่ขอหน้าตา รสชาติ และสารอาหารเหมือนนมวัวที่รีดสด ๆ จากเต้าด้วยนะ แต่ห้ามใช้แม่วัวในกระบวนการผลิตเด็ดขาด
หลายคนคงคิด ถ้าจะเรื่องมากยุ่งยากขนาดนี้ กลับไปกินนมวัวแบบเก่าก็ได้
แต่ไม่ใช่สองหนุ่มเจ้าของ Perfect Day สตาร์ตอัพที่จะพูดถึงในวันนี้
ไรอัล ปัญญา และ พีเรอมัล คานธี หนุ่มนักวิจัยด้านไบโอเทคโนโลยีวัยยี่สิบต้น ๆ คิดวิธีผลิต “โปรตีนนม” ที่นำมาใช้ผลิตนมวัวสด ๆ และอาหารอีกมากมาย โดยไม่ต้องใช้แม่วัวสักตัว
ทั้ง คู่ตัดสินใจตั้งบริษัท Perfect Day ในปี 2014 เพื่อนำเสนอทางเลือกให้คนที่ไม่อยากกินผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว รวมถึงคนที่แพ้โปรตีนนมวัวและคนกินมังสวิรัติ
โปรตีนนมที่ Perfect Day ผลิตได้ประกอบด้วย เคซีนและเวย์ อันเป็นสารอาหารสำคัญที่พบในนมวัวทั่วไป ผู้ผลิตอาหารนำโปรตีนนี้มาใช้เป็นส่วนผสมหลักในการผลิตน้ำนมที่มีรสชาติและ คุณค่าทางโภชนาการเหมือนนมวัวแท้ ๆ ทุกประการ
นมที่ได้ยังสะอาด ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ เพราะไม่มีแล็กโทส คอเลสเตอรอล สเตอรอยด์ และสารแอนติไบโอติกทำให้คนแพ้นมวัว หรือชาวมังสวิรัติกินได้อย่างสบายใจ ทั้งนำนมที่ได้มารังสรรค์เป็นอาหารแสนอร่อยได้อีกมาก ทั้งชีส พิซซ่า ลาซานญ่า ไอศกรีม โยเกิร์ต ฯลฯ
การผลิตในห้องแล็บยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย
นักวิจัยของ University of the West of England และ The European Commission Joint Research Centre พบว่า กระบวนการผลิตของ Perfect Day ใช้น้ำและที่ดินน้อยกว่าการทำฟาร์มโคนมปกติถึง 98% และ 91% ตามลำดับ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการผลิตแบบดั้งเดิมถึง 84%
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา food tech startup ที่ผลิตอาหารได้เองโดยไม่ง้อหรือพึ่งพาการเลี้ยงสัตว์แบบดั้งเดิมกำลังมาแรง แซงโค้ง เพราะหมายถึง การค้นพบแหล่งอาหารแหล่งใหม่ที่นำมาหล่อเลี้ยงประชากรโลกผู้หิวโหยโดยไม่ เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติที่ร่อยหรอลงทุกปี
สตาร์ตอัพที่ดังเป็น พลุแตกไปแล้วก็มี Memphis Meats ที่เอาเซลล์ของสัตว์ไม่กี่เซลล์มาผลิตเป็นเนื้อสดให้เรากินได้ มหาเศรษฐีผู้มองการณ์ไกลอย่าง บิล เกตส์ แจ็ก เวลช์ และ
ริชาร์ด แบรนสัน ถึงกับมือไม้สั่นรีบเอาเงินมาทุ่มใส่แทบไม่ทัน อีกเจ้าที่ดังไม่แพ้กันคือ Beyond Meat ที่ผลิตเนื้อจากโปรตีนพืช
ไอเดีย “การผลิตนมวัวโดยไม่ใช้วัว” ของไรอัล และคานธี จึงชนะใจเจ้าแม่ Horizons Ventures อย่างโซลีน่า โชว์ ไม่ยาก ได้เงินลงทุนก้อนแรกมา 2 ล้านเหรียญ จากนั้นก็ระดมทุนได้อีกเกือบ 27 ล้านเหรียญ หลัก ๆ เพื่อวิจัยและจ้างนักวิทยาศาสตร์อาหารเพิ่ม จากตอนแรกที่คาดว่าจะผลิตนม หรือชีสออกขายเอง ปรากฏว่าไรอัลกับพีเรอมัล
ตัดสินใจใช้วิธีทำธุรกิจแบบพันธมิตรโดยตัวเองผลิตโปรตีนนมอย่างเดียวแล้วจับมือกับบริษัทที่สนใจนำโปรตีนนี้ไปผลิตเป็นอาหารอื่น ๆ ต่อไป ทำให้ผู้บริโภคมีสินค้าให้เลือกหลากหลายขึ้น และ Perfect Day มีโอกาสต่อยอดธุรกิจได้เยอะขึ้นด้วย
ตอนนี้บริษัทกำลังเจรจากับผู้ผลิตอาหารหลายรายที่สนใจจะนำโปรตีนนมของ Perfect Day ไปผลิตเป็นเมนูอาหารต่าง ๆ โดยคาดว่าจะสามารถปิดดีลและประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรได้ในปีนี้
คอลัมน์ สตาร์ตอัพ “ปัญหา” ทำ “เงิน” โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 เมษายน 2561
ข้อมูลเพิ่มเติม
Perfect Day คือใคร มาจากไหน?
คอนเซ็ปต์ของสตาร์ทอัพรายนี้ คือ การขายไอเดียคนรุ่นใหม่ใส่ใจโลก มีความเป็นอิโค่รักษ์สิ่งแวดล้อมกับการผลิตน้ำนมโดยไม่ใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์อันเกี่ยวเนื่องจากสัตว์ พร้อมกับการมุ่งไปที่เทรนด์สุขภาพ ด้วยการพยายามสร้างน้ำนมที่มีโภชนาการ ปลอดภัย และยั่งยืนมากกว่าฟาร์มปศุสัตว์ที่ด้านหนึ่งก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการพยายามขายไอเดียว่า น้ำนมคราฟต์ของเขาจะมีรสชาติไม่ต่างจากนมวัว
สำหรับ Perfect Day เป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกันอยู่ในแคลิฟอร์เนีย
แนวคิดของสตาร์ทอัพรายนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2014 จากสองหนุ่มที่อยากจะแบ่งปันความชอบกินชีส แต่พวกเขาคิดว่าทุกวันนี้ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารจากนมที่เติบโตขึ้นล้วนเป็น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัตถุดิบของสัตว์และเห็นว่าอยากจะมีทางเลือกใหม่ๆจึงได้นำ ไอเดียไปหารือกับทีมกับเชฟนักออกแบบอาหารนักโภชนาการนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ในการสร้าง “อาหารที่ผลิตจากนม” โดยไม่ใช้วัตถุดิบจากสัตว์
ส่วนชื่อสตาร์ทอัพ Perfect Day นั้น มาจากนักวิทยาศาสตร์ 2 คน ที่ค้นพบฟาร์มปศุสัตว์ และกำลังฟังดนตรีสบายอารมณ์เหมือนอย่างเพลงดัง Perfect Day ของศิลปินผู้ล่วงลับระดับตำนานลู รีด นั่นเอง
ขณะที่อ่านมาถึงตรงนี้แนวคิดผลิต คราฟต์ มิลค์ จะช่วยด้านสิ่งแวดล้อมแค่ไหน ทางผู้ก่อตั้งระบุว่า จะช่วยลดการใช้พลังงานได้ 65 % ลดการใช้พื้นที่ทำปศุสัตว์ได้ 91% ลดการปล่อยมลภาวะและช่วยลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกได้ 84% และลดการใช้น้ำ 98%