‘แฟชั่นรีไซเคิล farmhouse’ กระตุ้นรักษ์โลก ‘ฟาร์มเฮ้าส์-เมกาบางนา’ จัดแสดงดีไซน์สุดล้ำ

Event อีเวนต์

เมื่อบริษัทและห้างขนาดใหญ่อย่าง บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ จับมือกับศูนย์การค้าเมกาบางนา ร่วมกันรณรงค์ลดโลกร้อน การรีไซเคิลพลาสติก ลดขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อม จัดเป็นหนึ่งองคาพยพสำคัญที่ผนึกกำลังกระตุ้นให้สังคมเกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด ฟาร์มเฮ้าส์ และศูนย์การค้าเมกาบางนา นำโดยผู้บริหารรุ่นใหม่ อย่าง คุณแบงก์ อภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการ    รองผู้อำนวยการ บริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) และ คุณพราว สิรินฉัตร แสงศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ศูนย์การค้าเมกาบางนา ร่วมกัน จัดนิทรรศการ แฟชั่นรีไซเคิล “farmhouse Happy ปังปัง 2019” เพื่อร่วมกันรณรงค์ให้สังคมให้ความสำคัญเรื่องการรีไซเคิลเเละการรักษาสิ่งแวดล้อม

โดยนำชุดที่ชนะการประกวดแฟชั่นรีไซเคิล “farmhouse Happy ปังปัง” 4 รางวัล ในงานสหกรุ๊ปแฟร์เมื่อปลายเดือนมิถุนายน      ที่ผ่านมา มาจัดแสดงบริเวณตรงข้าม Take Home Food ศูนย์การค้าเมกาบางนา วันที่ 21-27 ส.ค.นี้ โดยทุกชุดเป็นการดีไซน์ และตัดเย็บจากถุงพลาสติกขนมปังฟาร์มเฮ้าส์

ทั้ง 4 ชุดที่ได้รับรางวัล ต้องชื่นชมว่าไอเดียเก๋กู้ด ดีไซเนอร์สามารถเนรมิตถุงขนมปังที่ไม่ใช้แล้ว มาเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ได้หลากหลายสไตล์จนน่าทึ่ง แทบไม่เหลือเค้าเดิมว่าชุดเหล่านี้ทำมาจากถุงพลาสติก ซึ่งทางฟาร์มเฮ้าส์ต้องการสื่อให้เห็นถึงการรีไซเคิล ที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

อย่างชุดที่ได้รางวัลชนะเลิศ จากทีม HINODE ออกแบบโดย นายสหพลพชร อุ่นทายา นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม สาขาการออกแบบ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาในคอนเซ็ปต์ชุดสีแดงสไตล์ญี่ปุ่น ดุจดั่งพระอาทิตย์ ที่มาจากสีแดงของโลโก้ฟาร์มเฮ้าส์ เป็นดีไซน์ที่เก๋ เรียบเท่ และดูมีพลัง

คุณแบงก์ อภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ที่มาของนิทรรศการแฟชั่นรีไซเคิล “farmhouse Happy ปังปัง” มาจากฟาร์มเฮ้าส์จัดประกวดนำถุงพลาสติกใช้แล้วมาดีไซน์เป็นชุดรีไซเคิล ในการประกวดแฟชั่นรีไซเคิล “farmhouse Happy ปังปัง” งานสหกรุ๊ปแฟร์ที่ไบเทค บางนา เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และได้รับผลตอบรับดี จึงอยากต่อ ยอดนำชุดที่ได้รับรางวัลมาจัดแสดงให้คนรับรู้และตระหนักว่าการรีไซเคิลเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสิ่งที่ฟาร์มเฮ้าส์ให้ความสนใจ เพราะเป็นกระบวนการที่เราทำอยู่แล้ว

“ที่ผ่านมาฟาร์มเฮ้าส์มีกระบวนการรีไซเคิลภายในบริษัทอยู่แล้ว สินค้าที่เก็บแล้วรับคืนมาเราจะแยกขนมปังไปขายต่อให้เป็นอาหารปลาหรือหมู ส่วนถุงพลาสติกเรานำไปรีไซเคิลกลับมาใช้อีก และสามารถผลิตเป็นอุปกรณ์ต่างๆได้ด้วย เราจึงอยากให้คนทั่วไปตระหนักถึงเรื่องการรีไซเคิลขยะพลาสติก เรื่องการทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกทาง มิเช่นนั้นจะกลายเป็นขยะในทะเล โดยซองขนมปังของเรา สามารถนำมารีไซเคิลได้ โดยฟาร์มเฮ้าส์ได้รณรงค์เรื่องนี้มาโดยตลอด

“บุคคลทั่วไปสามารถเริ่มต้นด้วยตัวเองง่ายๆ คือการแยกถุงพลาสติกที่ใช้ในครัวเรือน หรือถุงอะไรก็ได้ที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ เราก็เก็บไว้ หรือจะเริ่มต้นได้ง่ายๆ โดยหยุดการใช้หลอดพลาสติก ในการจัดนิทรรศการแฟชั่นรีไซเคิล “farmhouse Happy ปังปัง” ครั้งนี้ ต้องการสื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้รับรู้ถึงภัยของภาวะโลกร้อน ปัญหาการใช้ถุงพลาสติก รวมถึงการใช้จินตนาการในการออกแบบมาทำเป็นเสื้อผ้าหรือการดีไซน์อื่นๆ ได้

“โดยฟาร์มเฮ้าส์จะสานต่อการประกวดแฟชั่นรีไซเคิล “farmhouse Happy ปังปัง” เพื่อรณรงค์ลดโลกร้อนและการรีไซเคิลอย่างแน่นอน เพราะผลตอบรับดี ลูกค้าชอบและสร้างแรงบันดาลใจที่ดีให้กับคนทั่วไป โดยรูปแบบจะออกมาเป็นแนวรักษ์โลกเช่นเคย โดยจะหาไอเดียใหม่ๆ มาเสริมด้วย” กรรมการรองผู้อำนวยการ บริษัทเพรซิเดนท์ เบเกอรี่ฯ ระบุ

คุณแบงก์ อภิเศรษฐ ธรรมมโนมัย
คุณพราว สิรินฉัตร แสงศรี

ขณะเดียวกัน ศูนย์การค้าเมกา บางนา แหล่งช้อปปิ้งขนาดใหญ่ ฝั่งกรุงเทพตะวันออก ได้จัดแคมเปญใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก เช่น การผลิตถุงผ้าและทำแคมเปญร่วมกับร้านค้าในการจัดโปรโมชั่นลดราคาพิเศษสำหรับลูกค้าที่ใช้ถุงผ้าและขอไม่รับถุงพลาสติก รวมถึงการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยใช้พลังงานทางเลือกอย่างโซลาร์พาเนล (พลังงานแสงอาทิตย์) แทน

คุณพราว สิรินฉัตร แสงศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ศูนย์การค้าเมกาบางนา เผยว่า เราเป็นช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ จึงไม่มีการบริโภคถุงที่เกิดขึ้นจากทางห้างมากนัก แต่เรามีร้านค้าปลีกที่อยู่กับเราเยอะ กระบวนการลดการใช้พลาสติกเชื่อว่าทุกคนตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้แล้ว อยากร่วมมือช่วย ลดละเลิกการใช้ถุงพลาสติก

“ในส่วนของเมกาบางนา มีแคมเปญรณรงค์เรื่อยๆ เช่น การผลิตถุงผ้าทำแคมเปญร่วมกับร้านค้า ให้ลูกค้านำไปใช้ หรือหากนำถุงผ้าของเราไปใช้จะได้ส่วนลดกี่เปอร์เซ็นต์ ในจุดนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการกระตุ้นเพื่อให้ผู้คนหันมาตระหนักรู้และใช้ร่วมกัน” คุณพราวเผย

นอกจากนี้ คุณพราว บอกด้วยว่า ในส่วนของศูนย์การค้าเมกาบางนา เน้นเรื่อง sustainability (การพัฒนาที่ยั่งยืน) มีการใช้โซลาร์พาเนล (พลังงานแสงอาทิตย์) ติดตั้งแผงโซลาร์ไว้บนหลังคา โดยผลิตไว้ใช้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะเป็นโซลาร์พาเนลที่อยู่ในลานจอดรถด้านนอก จุดนั้นจะไม่ใช้พลังงานไฟฟ้าเลย แสงสว่างที่ลานจอดรถด้านนอกทั้งหมดจะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์

“รวมถึงเรื่องการทำโรงบำบัดน้ำเสีย เรามองว่าเป็นเรื่อง LONGTERM (ระยะยาว) แต่ต้องทำตอนนี้ ค่อยๆกระตุ้นสร้างไป เชื่อว่าผู้บริโภคจะค่อยๆเปลี่ยนกระบวนการการใช้ชีวิตของเขาเอง การรีไซเคิลเริ่มต้นจากตัวเราง่ายๆ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ศูนย์การค้าเมกาบางนาเผย

นอกจากนี้คุณพราว ยังแสดงความเห็นต่อกรณีข่าวสะเทือนใจที่ดังไปทั่วโลก การตาย‘มาเรียม’ปลาพะยูน โดยพบว่ามีพลาสติกไปอุดตันที่ลำไส้ทำให้เกิดแก๊สจำนวนมาก ว่า ปกติเป็นนักดำน้ำอยู่แล้ว จึงเห็นว่านอกจากการรณรงค์ลดใช้พลาสติกหรือกระบวนการรีไซเคิลแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของการทิ้ง คนเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราทิ้งอะไรลงไป ถ้าทิ้งถูกที่มันจะไม่เกิดปัญหา แต่ถ้าเกิดจากการใช้แล้วทิ้งไม่ถูกที่ จะก่อให้เกิดปัญหา

“อย่างทางฟาร์มเฮ้าส์จะมีกระบวนการเอาซองพลาสติกมารีไซเคิล ในขณะเดียวกันเราเป็นมนุษย์ผู้บริโภค สิ่งที่สำคัญที่สุดคือรู้ไหมว่าชิ้นไหนควรอยู่ที่ไหน เก็บได้หรือไม่ ไม่ทิ้งลงตามสถานที่สาธารณะ เพราะเราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราทิ้งลงในที่สาธารณะนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ หรือแม้กระทั่งสัตว์ต่างๆ ไม่ใช่แค่น้องมาเรียมที่เป็นพะยูนอยู่ในทะเล น้องหมาน้องแมวที่อยู่ตามท้องถนน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองใช้ชีวิตอยู่กับอะไร

“มันเป็นเรื่องการตระหนักรู้มากกว่า ว่าสิ่งไหนควรจะอยู่ในสถานที่ไหน จึงเกิดความคิดกันว่าจะต้องแยกขยะให้ถูกต้อง เริ่มจากวินัยในตัวเราว่าจะไม่ทิ้งขยะลงบนท้องถนน ไม่ทิ้งลงคลองหรือทะเล เก็บกลับบ้านไปแยกขยะตามสิ่งที่ถูกต้อง แม้เรายังไม่มีลูก แต่มันเริ่มจากตัวเรา พ่อแม่ พี่น้องเราที่จะส่งต่อไป อย่าไปคิดว่าเราทำบ้านเดียว บ้านอื่นไม่ทำถ้าทุกคนคิดเหมือนกันก็จะเริ่มไม่มีใครทำ แต่ถ้าเราเริ่มทำจะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าแรงบันดาลใจ

“พราวมีเพื่อนที่แยกขยะทั้งหมด 16 ถัง แยกจนถึงชิ้นที่เล็กที่สุดจากที่บ้าน เราเห็นว่ามีคนแบบนี้เยอะขึ้นในประเทศ ในสังคมเรา เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้ออกมาพูด แต่เขาทำเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ เช่น ทุกวันนี้มีร้านสะดวกซื้อที่ไม่มีพลาสติก มีข้าวสารให้แต่เราต้องเอากล่องจากที่บ้านแล้วไปซื้อข้าว ซื้อน้ำตาลมาใช้ โดยที่เราไม่ต้องใช้ถุงเลยก็มี

“สิ่งที่เราต้องรู้จักอีกอย่างคือต้องรู้จักปฏิเสธ ไม่รับ ไม่เอา ไปตลาดรู้จักเอาถุงพลาสติกของตัวเองไป อาจจะลำบากในช่วงแรก เพราะมีคนเคยลองแล้วลำบากเหมือนกัน อาจจะไม่เคยชิน แต่ก็มีคนทำแล้ว เป็นร้านที่เราไปซื้อด้วย พอเห็นหน้าเรา เขาจะรู้ว่าคนนี้ไม่เอาถุงพลาสติก ฉะนั้นควรปฏิเสธให้เป็นก่อน ทุกอย่างเริ่มจากตัวเรา” คุณพราว สิรินฉัตร แสงศรี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ศูนย์การค้าเมกาบางนา กล่าวทิ้งท้าย

การขับเคลื่อนและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการลดโลกร้อน การรีไซเคิล และการงดใช้ถุงพลาสติก ของ 2 องค์กรใหญ่ จึงเป็นการรวมพลังกระตุ้นการตระหนักรู้ของสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ลดการใช้ถุงพลาสติก การรีไซเคิล และการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะการช่วยกันคนละไม้คนละมือเป็นการรวมพลังก่อให้เกิดการรักษ์โลก!!