ท่อง “วัดสุทัศน์ฯ” นครแห่งพระอินทร์ ศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งรัตนโกสินทร์

Culture ศิลปวัฒนธรรม

“มติชนอคาเดมี” นำชม วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และ  โบสถ์พรามหณ์ สถานที่สองแห่งที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครชั้นใน และถือเป็นวัดแห่งพุทธ และโบสถ์แห่งพราหมณ์ ที่ตั้งอยู่ “ใจกลางเมือง” ของกรุงรัตนโกสินทร์ มีสิ่งโดดเด่นอยู่หน้าวัด คือ “เสาชิงช้า”

ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โดยภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๘ ได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรังคาร มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ ในวันที่ ๙ มิถุนายน ของทุกปี

วัดสุทัศนเทพวรารามเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔๖ ถนนบำรุงเมือง แขวงราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีชื่อเรียกกันเป็นสามัญหลายชื่อในสมัยโบราณ เช่น วัดพระใหญ่ วัดพระโต ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะพระพุทธรูปสำคัญของวัด คือ พระศรีศากยมุนี วัดเสาชิงช้า เรียกตามสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับเสาชิงช้า

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (ภาพจาก : วิกิพีเดีย)

เทวสถานของพราหมณ์กลางเมือง วัดมหาสุทธาวาส เป็นนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ พระราชทาน อันหมายถึงสวรรค์ชั้นพรหมโลกชื่อสุทธาวาส วัดสุทัศนเทพธาราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระราชทาน และวัดสุทัศนเทพวราราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระราชทานทั้งสองชื่อนี้หมายถึง สุทัสสนนครบนเขาพระสุเมรุศูนย์กลางของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ประทับของพระอินทร์

แรกเริ่มการสร้างวัดสุทัศน์ฯ ในต้นยุคกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าให้มีการสร้างวัดขึ้นในพื้นที่พระนครชั้นใน ปี พ.ศ.๒๓๕๐ เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส”

บริเวณที่ตั้งของวัดสุทัศนเทพวรารามอยู่เกือบกึ่งกลางของกรุงเทพมหานคร เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจักรวาล เป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่งที่น่าสนใจ รูปแบบการก่อสร้างของสิ่งก่อสร้างภายในวัด มีทั้งคติธรรม ปริศนาธรรม สัญลักษณ์ที่ต้องขบคิดตีปัญหาให้เข้าใจ การวางผังการก่อสร้าง ก็ทำอย่างเป็นระบบเป็นระเบียบสวยงาม เป็นจุดเด่นและเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง

พระวิหารหลวง (ภาพจาก : วิกิพีเดีย)

เดิมบริเวณที่ตั้งวัดสุทัศน์ฯ เป็นดงสะแกและเป็นที่ลุ่ม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ถมที่และสร้างเป็นวัด โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐาน พระศรีศากยมุนี หรือพระโต ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย แต่สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม ดังนั้น ชาวบ้านทั่วไปในตอนนั้นจึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดพระโตบ้าง วัดพระใหญ่บ้าง หรือวัดเสาชิงช้าบ้าง

กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ และยังทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยพระองค์เอง แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน ก่อนที่การก่อสร้างจะเสร็จสิ้น การก่อสร้างวัดมาเสร็จบริบูรณ์ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๓๙๐ ได้พระราชทานนามว่า “วัดสุทัศน์เทพวราราม” แต่ปรากฎในจดหมายเหตุว่า “วัดสุทัศน์เทพธาราม” ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ จึงทรงผูกพระนามพระประธานในพระวิหาร พระอุโบสถ และศาลาการเปรียญให้คล้องจองกันว่า “พระศรีศากยมุนี”  “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” และ “พระพุทธเสรฏฐมุนี”

ย้อนกลับไปถึงการสร้างวัด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น แต่ทรงสร้างค้างไว้แต่เพียงรากฐานพระวิหารเท่านั้น พอมาถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างใหม่ทั้งอาราม และมาปฎิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การสร้างวัดแห่งนี้เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์  มีเรื่องราวปรากฏในพงศาวดาร ว่าเมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมาเป็นราชธานีแล้ว ความมุ่งหมายที่จะทำนุบำรุงให้เหมือนกรุงศรีอยุธยาเดิม ด้วยนับถือกันว่าครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเป็นสมัยที่บ้านเมืองรุ่งเรือง “…ครั้งบ้านเมืองดี รั้ววังวัดวาที่สร้างขึ้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มักถ่ายแบบมาจากกรุงศรีอยุธยา ยกตัวอย่างเช่นที่สร้างวัดสุทัศน์ฯ เป็นที่ประดิษฐานพระโต ซึ่งเชิญมาแต่กรุงสุโขทัยในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก็มีพระราชประสงค์จะสร้างแทนวัดพระเจ้าพนัญเชิงที่กรุงเก่าดังนี้เป็นต้น…”

อีกฉบับหนึ่ง “…ด้วยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชรับสั่งใส่เกล้าฯ ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสั่งว่า ทรงพระราชศรัทธาให้อาราธนาพระพุทธรูปซึ่งอยู่ ณ เมืองสุโขทัยลงมากรุงเทพฯแล้ว ทอดทุ่นอยู่กลางน้ำหน้า พระตำหนักแพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการมหรสพสมโภชเพลากลางวัน กลางคืน ครั้นถึงวัน ๓ ฯ ๙ ๕ ค่ำ (ไม่มีปี ไม่มีศักราช เห็นจะเป็นปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐) เพลาเช้า พระสงฆ์ ๒๐ รูปรับพระราชทานฉันที่เรือบัลลังก์ แล้วเถิงเพลาบ่าย ๒ โมง จะได้ตั้งบายศรี ทอง เงินตอง ที่เรือหน้าพระพุทธรูป สมโภชเวียนพระเทียนนั้น ให้ข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนมารับแว่นเวียนพระเทียนให้พร้อม จงทุกหมู่ทุกกรม อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง

สั่งบายศรีแปลกอยู่ บายศรีเงินสำรับ ๑ ทองสำรับ ๑ ตอง ๒ สำรับ รวม ๔ สำรับให้มีพุ่มข้าว ขันเชิงพานรองนำวักแว่น (สำหรับ) เวียนเทียน ติดเทียน เทียนยอดบายศรีแป้งหอม น้ำมันหอม…”

มีเรื่องเล่ากันต่อมาว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีรับสั่งให้แต่งเครื่องนมัสการพระทุกหน้าวังทุกหน้าบ้านและร้านค้า ตลาด ไปตลอดทางที่จะมีการชัดพระพุทธรูปเคลื่อนผ่าน รัชกาลที่ ๑ เองทรงพระประชวรอยู่แล้ว แต่ทรงพระอุตสาหะเพิ่มพระบารมี จะทำนุบำรุงพระศาสนา ได้เสด็จพระดำเนินตามกระบวนแห่พระและร่วมชักเลื่อนพระด้วย โดยไม่ทรงฉลองพระบาท จนถึงพลับพลาเสด็จขึ้นเซพลาด

มีบันทึกไว้ว่า “..เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทตามกระบวนนี้ ดูเป็นลักษณะอย่างเดียวกันกับแบกตัวลำยอง (กรมหลวงพระราชวังบวรทรงแบกตัวไม้ลำยองด้วยพระองค์เอง ตั้งแต่ท่าเจ้าสนุกจนถึงยอดเขาพระพุทธบาท) เห็นจะเสด็จพระราชดำเนินได้จริง เพราะการชักพระเช่นนี้คงจะเดินไปช้าๆ และไปติดไปขัด ต้องหยุดเอะอะกันบ่อยๆ เป็นเวลาได้ทรงพัก แต่คงจะทรงเหนื่อยมาก เพราะทรงพระประชวรอยู่แล้ว จึงได้เซ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรารับพระองค์ไว้…”  กรมขุนกษัตราองค์นี้ คือ เจ้าฟ้าเหม็น เดิมเป็นเจ้าฟ้าสุพันธุพงษ์ แล้วเปลี่ยนเป็นเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ ได้เป็นกรมขุนกษัตรานุชิต

การชักเลื่อนพระตามทางบกนั้น แพพระพุทธรูปได้มาเทียบที่ท่าช้าง แต่ที่ท่าช้างประตูเมืองไม่ตรงถนน ถึงว่าจะตรงถนน พระก็ใหญ่กว่าประตูเข้าไม่ได้ จึงต้องรื้อกำแพง เมื่อแห่พระมาถึงแล้วจึงก่อกำแพงขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนั้นในราชการจึงเรียกเป็น “ท่าพระ” มาทุกวันนี้

เมื่อเข้าไปภายในพระวิหารหลวง จะเห็นแปลกตากว่าที่อื่น คือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สร้างสรรค์อย่างวิจิตรจากพื้นจรดเพดาน ว่าด้วยเรื่องประวัติพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ รวมไปถึงเสาสี่เหลี่ยมทั้งแปดต้น เขียนภาพเรื่องไตรภูมิโลก สัณฐานว่าด้วยภพภูมิ โลก และจักรวาล ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนา เหนือกรอบประตูและหน้าต่าง

พระศรีศากยมุนี (ภาพจาก : วิกิพีเดีย)

มีภาพชุดจิตรกรรมสีฝุ่นบนกระดาษข่อยบรรจุในกรอบไม้แกะสลักลวดลายพรรณพฤกษาอย่างฝรั่งประดับอยู่เหนือช่องประตูหน้าต่าง ช่องละ ๓ ภาพ รวม ๔๘ ภาพ เป็นงานฝีมือชั้นสูงของช่างหลวงในราวสมัยรัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๔

สำหรับภาพทั้งหมดนั้นปัจจุบันเหลือ ๔๖ ภาพ เสียหายไป ๒ ภาพ เป็นภาพที่ประดับเหนือช่องประตูกลาง เมื่อครั้งเกิดไฟไหม้บานประตูไม้แกะสลักฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ ๒ ในปี ๒๕๐๒ (ประตูไม้ชิ้นนี้ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) ภาพชุดนี้ถือเป็นภาพชุดจิตรกรรมที่เล่าเรื่องสัตว์หิมพานต์ที่สมบูรณ์แบบและมีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ตามคติการสร้างเมืองแบบโบราณนั้น รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดสุทัศน์ขึ้นกลางพระนครเปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล การออกแบบพระวิหารหลวงจึงจำลองเป็นเขาพระสุเมรุและภาพชุดจิตรกรรมสัตว์หิมพานต์ จึงได้รับการสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับคติความเชื่อดังกล่าว

จิตรกรรม พระสงฆ์พิจารณาสังขารผีเปรต วัดสุทัศนเทพวราราม (ภาพจาก : วิกิพีเดีย)

ก่อนเข้าไปในพระวิหารหลวง ดูหน้าบันจะเห็นด้านบนเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนด้านล่างเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค ส่วนข้างในพระวิหารมีพระะศรีศากยมุนี ด้านหน้าฐานชุกชี มีช่องประดิษฐานพระสรีรังคารของรัชกาลที่ ๘ ตรงผ้าทิพย์ด้านหน้าฐาน ด้านหลังของฐานองค์พระมีสถาปัตยกรรมแผ่นศิลาสลักศิลปะทวารวดี ตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ และ เสด็จทรงโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งงดงามมาก

พระศรีศากยมุนี เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง หล่อด้วยสำริดที่ใหญ่กว่าพระพุทธรูปหล่อองค์อื่นๆ ซึ่งปรากฏในประเทศไทย ขนาดหน้าตักกว้าง ๖.๒๕ เมตร เดิมพระศรีศากยมุนีเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย มีศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวอ้างถึงว่า พระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ. ๑๘๙๐ – ๑๙๑๙ ปีครองราชย์) แห่งสุโขทัย โปรดเกล้าฯ ให้หล่อและทำการฉลองในปีพุทธศักราช ๑๙๐๔ พระพุทธลักษณะพระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาอยู่ในท่าปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวลงมาถึงระดับพระนาภี มีปลายเป็นสองแฉกเขี้ยวตะขาบ ลักษณะพระองค์ค่อนข้างสั้น บั้นพระองค์เล็ก พระอังสาใหญ่ หัวพระถันโปน ลักษณะพระพักตร์และพระเศียรที่ปรากฏ คือ พระรัศมีเป็นเปลวสูงตั้งอยู่บนพระอุษณีษ์รูปมะนาวตัด เส้นพระศกขมวดเล็กแบบก้นหอย พระพักตร์รูปไข่เกือบกลม พระขนงโก่งแยกออกจากกัน ระหว่างพระขนงมีพระอุณาโลมคั่นอยู่ พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระหนุกลม จุดสังเกตที่ปลายนิ้วเสมอกันทั้ง ๔ นิ้ว ถือเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ที่ดัดแปลงจากแบบโบราณ

เดินต่อไปที่พระอุโบสถ ภายในมีภาพจิตรกรรมเช่นเดียวกัน เรียกว่าเป็นภาพจับรามเกียรติ์ หมายถึงภาพต่อสู้กัน พระอุโบสถแห่งนี้เป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีขนาดกว้าง ๒๒.๖๐ เมตร ยาว ๗๒.๒๕ หน้ามุขกระสันกว้าง ๑๔.๐๐ เมตร ยาว ๑๐.๔๐ เมตร ภายในประดิษฐาน “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” พระประธานในพระอุโบสถ ประดิษฐานบนฐานชุกชี เบื้องหน้าของพระประธาน มีพระพุทธรูปปูนปั้นลงสี “พระอสีติมหาสาวก” ๘๐ องค์ ซึ่งเปรียบเสมือนการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ทั้งพระอุโบสถและพระประธานนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ผนังด้านในของพระอุโบสถมีภาพจิตกรรมฝาผนังฝีมือช่าง ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดงดงามมาก รอบๆ พระอุโบสถ มีซุ้มเสมา ๘ ซุ้ม ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว เป็นใบเสมาคู่ซึ่งทำจากหินอ่อนสีเทา สลักเป็นภาพช้าง ๓ เศียร งวงชูดอกบัวตูมเศียรละ ๑ ดอก เบื้องบนมีดอกบัวบาน ๓ ดอก บนกำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีเกยอยู่ด้านละ ๔ เกย ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับประทับโปรยทานแก่ประชาชนในงานพระราชพิธี เรียกว่า เกยโปรยทาน ภาพวาดบนฝาผนังในอุโบสถที่เป็นรูป เปรต ตนหนึ่งนอนพาดกายอยู่ และมีพระสงฆ์ยืนพิจารณาอยู่ ซึ่งภาพนี้มีชื่อเสียงมากในสมัยอดีต เป็นที่เลื่องลือกันของผู้ที่ไปที่วัดแห่งนี้ว่าต้องไปดู

พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ (ภาพจาก : วิกิพีเดีย)

นอกจากนี้ ภายในวัดสุทัศน์ยังมีสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ สัตตมหาสถาน แห่งเดียวในกรุงเทพฯ สัตตมหาสถาน หมายถึงสถานที่สำคัญทั้ง ๗ เเห่งที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุติสุขหลังการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำหรับสัตตมหาสถานที่วัดสุทัศน์นี้แตกต่างจากที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะสร้างในรัชกาลที่ ๓ จึงเป็นศิลปะแบบจีน มีความแปลกและงดงามไปอีกแบบ ซึ่งต้องไปดูด้วยตาตัวเองจึงจะซึมซับความงามและได้บรรยากาศ