ที่มาของ “จิตรกรรมรามเกียรติ์” ระเบียงคด วัดพระแก้ว

Culture ศิลปวัฒนธรรม

อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นเจ้าของงานวิจัยเรื่อง “จิตรกรรมระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม” และเป็นวิทยากรในรายการ “ทัวร์วัดพระแก้ว ยลรามเกียรติ์ : จิตรกรรมชุดใหญ่ชุดสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ของ “มติชนอคาเดมี” บอกเล่าถึงที่มาของจิตรกรรมรามเกียรติ์ ที่ระเบียงคด วัดพระแก้ว ว่าจิตรกรรมรามเกียรติ์ ที่ระเบียงคด พระอารามวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว แท้ที่จริงแล้วควรจะนับจุดเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงอวตารปางที่ 8

คือ ตอนพระนารายณ์อวตารเป็นอัปสร ซึ่งอยู่บริเวณผนังด้านทิศตะวันออกของซุ้มประตูศรีรัตน แต่เนื่องจากจารึกโคลงภาพรามเกียรติ์ นับฉากพระชนกฤาษีทำพิธีบวงสรวงไถได้นางสีดา เป็นห้องที่ 1 ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะตำแหน่งภาพที่เขียนนั้น หากพิจารณาจากเนื้อหาของจิตรกรรมและจารึกโคลงภาพรามเกียรติ์แล้ว  จะพบว่าโครงสร้างหลักๆ ของจิตรกรรมรามเกียรติ์น่าจะนำเนื้อหามาจากพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. เนื้อหาของพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 มีเนื้อความที่สมบูรณ์ที่สุด ถ้าเทียบกับรามเกียรติ์สำนวนต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในตอนท้าย ตั้งแต่ตอนหนุมานได้เป็นพญาอนุชิต

พระพรต พระสัตรุดรบกับท้าวจักรวรรดิ และพระรามแสร้งสิ้นพระชนม์ จนถึงพระรามเดินดงรอบสอง และปราบท้าวคนธรรพ์นุราช จะไม่ปรากฎในรามเกียรติ์ฉบับใดเลย แต่เรื่องราวเหล่านี้มีปรากฏในจิตรกรรมที่ระเบียงคดแห่งนี้

2. แม้ว่าในบางเหตุการณ์จะมีปรากฏในพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 2 ก็ตาม ยกตัวอย่าง เช่น อินทรชิตออกรบ โดยที่จะเริ่มต้นตอนศึกศรพรหมาสตร์ จากนั้นจึงเป็นศึกศรนาคบาศ ซึ่งจะเรียงลำดับสลับกับในจิตรกรรมฝาผนังระเบียงคด ที่จะเริ่มตอนศึกศรนาคบาศก่อน แล้วจึงมาเป็นศึกศรพรหมาสตร์ อันเป็นการเรียงลำดับเหตุการณ์ที่ตรงกับพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจารึกอธิบายภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ประดับอยู่ จะพบว่ามีความสัมพันธ์กับพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ดังตัวอย่างกรณีของนางอากาศตะไล พระเสื้อเมืองกรุงลงกา ซึ่งถ้าเป็นรามเกียรติ์ในบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 จะเรียกว่า “นางอังกาศตไล”

3. จากฉากเหตุการณ์ในศึกมัยราพณ์ ถ้าเป็นรามเกียรติ์ในบทพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 จะไม่ปรากฏเหตุการณ์หนุมานอมพลับพลา และมัยราพณ์โกรธนางจันทประภา หากแต่ในจิตรกรรมที่ระเบียงคด ปรากฏสองเหตุการณ์นี้ ซึ่งมีปรากฏในพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 ด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ เมื่อหนุมานได้ลงเมืองบาดาลเพื่อตามหาพระรามในจิตรกรรมฝาผนังจะเขียนลำดับเหตุการณ์ ว่าหนุมานลงไปถึงเมืองบาดาลแล้วจะพบด่านมีกองกำลังอสูร จากนั้นจึงพบช้างอสูร ภูเขากระทบกัน ยุงแม่ไก่ จนสุดท้ายจึงพบมัจฉานุ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

แต่ถ้าเป็นบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในพระเจ้ายู่หัวรัชกาลที่ 2 จะเรียงลำดับเหตุการณ์ต่างกัน ดังนี้ เมื่อหนุมานลงมาเมืองบาดาลทางก้านบัว พบยุงแม่ไก่ ต่อมาพบช้างอสูร พบมัจฉานุ แล้วจึงพบด่านมีกองกำลังอสูร

แม้ว่าเนื้อความรามเกียรติ์คำพากย์ กับพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 จะมีความใกล้เคียงกันก็ตาม แต่ถ้าจิตรกรรมที่ระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดารามต้องการเขียนขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ ก็น่าจะนำเนื้อหาในพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 มาเขียน และที่สำคัญคือ เมื่อมีรามเกียรติ์ฉบับสมบูรณ์อยู่แล้ว เหตุใดในการเขียนจิตรกรรมจึงจำเป็นต้องนำเนื้อหาจากต้นฉบับที่หลากหลายมาปะติดปะต่อกัน

อย่างไรก็ตาม จิตรกรรมบางฉาก เช่น อินทรชิตดูดนมนางมณโฑ ไม่ปรากฏในรามเกียรติ์สำนวนใดเลย แม้กระทั่งในจารึกโคลงภาพรามเกียรติ์ ก็ไม่ปรากฏ ซึ่งในประเด็นนี้ ไม่สามารถค้นได้ว่าช่างเขียนนำมาจากที่ใด แต่อย่างไรก็ตาม ภาพอินทรชิตดูดนมนางมณโฑคงจะไม่เขียนจากจินตนาการส่วนบุคคลของช่าง ทั้งนี้ เพราะในปัจจุบันโขนของกรมศิลปากรยังมีการเล่นโขน และยังปรากฏในภาพจำหลักที่พาไลพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ อีกด้วย ทั้งภาพเหตุการณ์ตอนนี้ยังมีปรากฏภาพร่างลายเส้นของพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลปไชย)