มณฑลจักรวาล (จำลอง) ในบุโรพุทโธ (2)

Culture ศิลปวัฒนธรรม

จากเมื่อครั้งก่อนเราได้ทราบกันเบื้องต้นแล้วว่าบุโรพุทโธ มหาสถูปทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดและซับซ้อนที่สุดในศิลปะชวา สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 14 โดยราชวงศ์ไศเลนทร์ ตามคติ ‘มณฑล’ หรือระบบจักรวาลในพุทธศาสนามหายาน รวมทั้งยังจำลองระบบภูมิ 3 ระบบอาทิพุทธ-ธยานิพุทธ และระบบตรีกาย ซึ่งถือเป็นพุทธปรัชญาสำคัญของนิกายนี้นั่นเอง

สถูปเกสาริยา (Kesariya) ศิลปะอินเดียสมัยปาละ

เมื่อพิจารณารูปแบบทางสถาปัตยกรรมจะพบว่าบุโรพุทโธแห่งนี้ น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถูปเกสาริยา ซึ่งเป็นสถูปในศิลปะอินเดียสมัยปาละ ศาสนสถานแห่งนี้สร้างอยู่บนเนินดินธรรมชาติที่มีความสูงจากระดับพื้นปกติประมาณ 15 เมตร แสดงถึงความฉลาดของผู้สร้างที่ใช้สภาพภูมิศาสตร์และลักษณะกายภาพของพื้นที่มาช่วยในการออกแบบให้สอดคล้องไปกับคติจักรวาลในพระพุทธศาสนา

โดยปกติจันทิหรือศาสนสถานที่พบในชวาภาคกลางจะแบ่งองค์ประกอบเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนฐาน หมายถึง โลกหลังความตาย ส่วนเรือนธาตุ หมายถึง โลกมนุษย์ ภายในอาคารถือเป็นดินแดนบริสุทธิ์ และส่วนยอด หมายถึง ชั้นภูมิเทวดาหรือเทพเจ้า แต่สำหรับที่บุโรพุทโธนั้นแม้จะแบ่งอาคารออกเป็น 3 ส่วนเหมือนกัน แต่ความหมายจะต่างออกไป ดังนี้ (Jan Fontain : 1990)

  1. “กามธาตุ” หมายถึง โลกหรือดินแดนที่ยังอยู่ในสังสารวัฏ
  2. “รูปธาตุ” หมายถึง โลกหรือดินแดนบริสุทธิ์ ที่ซึ่งมนุษย์สามารถเอาชนะกิเลสตัณหาได้ แต่ยังคงมีรูปอยู่
  3. “อรูปธาตุ” หมายถึง ภาวะสูงสุด เป็นการหลุดพ้นออกไปสู่การไม่มีรูปใดๆ อีกต่อไป

สำหรับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของบุโรพุทโธแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ฐานล่างสุด ฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมที่มีทางประทักษิณ และฐานกลมด้านบนซึ่งรองรับสถูป โดยใช้กระบวนการ 3 วิธี ในการจำลองระบบมณฑลจักรวาล คือ (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)

  1. แผนผังทางสถาปัตยกรรม จะสังเกตได้ว่า บุโรพุทโธนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม 2 ส่วน คือ ส่วนฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมซึ่งมีภาพสลักและส่วนฐานกลมซึ่งไม่มีภาพสลัก

                เนื่องจากฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมนั้น “มีการหยักมุม” และมีภาพสลักที่ซับซ้อน ดังนั้นจึงเปรียบได้กับการมีรูป ซึ่งตรงกับ ‘กามภูมิ’ และ ‘รูปภูมิ’ ส่วนฐานกลมด้านบนนั้นเป็นฐานเขียงที่เรียบง่าย ไม่มีการหยักมุมและไม่มีภาพสลักใดๆ

ส่วนนี้จึงน่าจะตรงกับ ‘อรูปภูมิ’ ซึ่งเป็นภูมิที่ไม่มีรูปแล้ว เป็นภูมิแห่งการหลุดพ้นและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระอาทิพุทธเจ้า

  1. ภาพสลักในพุทธศาสนา ที่ฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมนั้นปรากฏภาพสลักทางพุทธศาสนามหายานจำนวนหลายเรื่อง ซึ่งภาพสลักเหล่านี้นอกจากจะเพื่อจำลองภพภูมิทางจักรวาลแล้ว ผู้ศรัทธาสามารถเรียนรู้เรื่องราวและคติธรรมทางพุทธศาสนาสอดแทรกอยู่ระหว่างเดินประทักษิณอีกด้วย โดยภาพสลักที่ด้านบนมักเป็นสัญลักษณ์ทางภูมิธรรมที่สูงกว่าด้านล่างเสมอ

ฐานชั้นล่างสุด สื่อถึง ‘กามภูมิ’ หรือดินแดนของมนุษย์ ผู้อาศัยอยู่ในกามภูมิยังคงมัวเมาในกิเลสตัณหา ด้วยเหตุนี้บริเวณฐานชั้นล่างสุดจึงได้สลักภาพตาม คัมภีร์กรรมวิภังค์ อันเป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนามหายานที่เกี่ยวข้องกับกฎแห่งกรรมและการทำดี-ชั่วของมนุษย์ (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)

สำหรับภาพสลักที่ปรากฏนั้นมักแบ่งออกเป็น 2 ตอนเสมอ คือ การกระทำและผลของการกระทำ อย่างเช่น ภาพสลักเรื่องผลของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ด้านหนึ่งเป็นภาพคนกำลังเหวี่ยงแหจับปลาและกำลังล่านก ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นภาพนรกซึ่งมีกระทะทองแดง อันเป็นผลจากการกะทำดังกล่าว เป็นต้น

ปัจจุบันได้มีภาพสลักบางภาพที่ชั้นนี้ถูกปิดไม่ให้ชม ส่วนสาเหตุนั้นบางท่านเชื่อว่าเป็นการเสริมหินที่ฐานให้มั่นคงแข็งแรง แต่ก็มีบางท่านคิดเห็นว่าบุโรพุทโธเป็นศาสนสถานที่น้อมนำคนสู่การบรรลุภพภูมิที่สูงขึ้น จึงไม่เป็นการเหมาะสมที่จะให้ภาพของกามภูมิปรากฏให้เห็น จึงมีการปิดไว้ไม่ให้เห็น

– ฐานประทักษิณชั้นที่ 1 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างกามภูมิกับรูปภูมิ เพื่อให้ฐานประทักษิณชั้นนี้เป็นกามภูมิที่มีภูมิธรรมสูงกว่ากามภูมิชั้นล่าง จึงได้มีการเลือกเอาภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี ผู้เป็นพระมานุษิพุทธเจ้าในกัปปัจจุบัน ตามคัมภีร์ลลิตวิสตระและชาดก-อวทาน

ภายในเจดีย์โปร่งที่บุโรพุทโธ ประดิษฐานพระไวโรจนะพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี ตามคติฝ่ายมหายานนั้นถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ในกามภูมิอันเป็นขั้นแรกของการตรัสรู้เท่านั้น นอกจากนี้ภาพที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์ยังแสดงให้เห็นความพยายามหลุดพ้นจากกามภูมิสู่รูปภูมิ จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของหัวลี้ยวหัวต่อระหว่างทั้งสองภูมิได้ (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)

คัมภีร์ลลิตวิสตระ ถือเป็นคัมภีร์พุทธประวัติฝ่ายมหายานที่มีปาฏิหาริย์และรายละเอียดที่แตกต่างจากแบบเถรวาท อย่างไรก็ตามเรื่องราวพุทธประวัติในคัมภีร์นี้ได้กล่าวจบที่ตอนแสดงปฐมเทศนา โดยภาพสลักที่บุโรพุทโธนี้ก็บที่ตอนแสดงปฐมเทศนาเช่นกัน

ส่วนชาดกและอวทานทางฝ่ายมหายานนั้น เป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระสาวก ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายมหายานหลายเล่ม เช่น คัมภีร์ชาดกมาลา (John N. Miksic : 2010), คัมภีร์ทิวยาวทาน และคัมภีร์อวทานศตกะ เป็นต้น โดยพระโพธิสัตว์จะเน้นการสละชีวิตช่วยเหลือสรรพสัตว์ เพื่อการบรรลุโพธิญาณสู่การเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปในอนาคตกาล

ตัวอย่างชาดกในชั้นนี้ เช่น มหากปิชาดก พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาวานร ต่อมาถูกกษัตริย์และบริวารออกมาล่าฝูงลิง พระโพธิสัตว์จึงได้ใช้หางของตนมัดไว้กับต้นไม้อีกต้นหนึ่งเพื่อช่วยฝูงลิงหนีไปได้ สุดท้ายกษัตริย์สำนึกผิดและได้ฟังธรรมจากพญาวานร นอกจากนี้ยังมีเรื่องกัจฉปาวทาน ที่พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาเต่ายักษ์ และพระเจ้าศีพี ผู้สละร่างกายของตนเพื่อช่วยนกเขาจากเหยี่ยว

– ฐานประทักษิณชั้นที่ 2-3 กล่าวถึง ‘รูปภูมิ’ ที่ฐานประทักษิณทั้ง 2 ชั้นนี้สลักภาพเล่าเรื่องจากคัมภีร์คัณฑวยุหสูตร อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระสุธนผู้แสวงหาการตรัสรู้โดยการเข้าหาครูถึง 55 คน แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการบรรลุธรรมขั้นสูงตามแบบพุทธมหายาน ฐานประทักษิณชั้นนี้จึงตรงกับรูปภูมิ อันเป็นการหลุดพ้นจากกามภูมิอย่างแท้จริง (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)

คัมภีร์คัณฑวยุหสูตรเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์อวตัมสกสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่สำคัญที่สุดพระสูตรหนึ่งในฝ่ายมหายาน ด้านในมีการเล่าเรื่อง “พระสุธน” ผู้แสวงหาการตรัสรู้เป็นพระโพธิสัตว์ โดยการแสวงบุญเพื่อหาครูผู้ที่จะชี้ทางไปสู่การบรรลุมรรคผล ครูทั้ง 55 คนของพระสุธนนั้นเรียกว่า ‘กัลยาณมิตร’ หรือเพื่อนที่ดี  (John N. Miksic and others : 2010) ประกอบด้วย พระโพธิสัตว์มัญชุศรีตัวแทนแห่งปัญญา ซึ่งพระสุธนเริ่มต้นเข้าหาเป็นพระองค์แรก, พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรตัวแทนแห่งความกรุณา, พระโพธิสัตว์ไมเตรยะอันเป็นอนาคตพุทธ ซึ่งได้สอนหลักธรรมให้แก่พระสุธนด้วยนิมิตต่างๆ จำนวนมาก และพระโพธิสัตว์สมันตภัทรแห่งการตรัสรู้ธรรม เป็นต้น

นอกจากนี้พระสุธนยังเดินทางไปหาพระนางมหามายาเทวี พุทธมารดา หรือแม้แต่พระศิวะเองนั้น ก็กลับใจมานับถือพุทธมหายาน ทั้งหมดนี้แสดงความไม่ถือตัวของพระสุธน ซึ่งน้อมรับและเรียนรู้ธรรมะจากกัลยาณมิตรทุกๆ คน

– ฐานประทักษิณชั้นที่ 4 เล่าเรื่องต่อจากชั้นที่ 2-3 กล่าวถึงเนื้อความจากคัมภีร์ภัทรจารี อันถือเป็นบทสรุปสุดท้ายของคัมภีร์คัณฑวยุหสูตรอีกทีหนึ่ง กล่าวถึงการที่พระสุธนได้ไปหาพระโพธิสัตว์สมันตภัทร ซึ่งถือเป็นครูคนสุดท้ายและได้บรรลุธรรม โดยพระสมันตรภัทรได้แสดงนิมิต “พระพุทธเจ้าทั้งหลายในจักรวาล” ให้แก่พระสุธน

ส่วนลานประทักษิณชั้นที่ 5 ไม่มีภาพสลัก เนื่องจากต้องการสื่อถึงการค่อยๆเข้าสู่ภาวะ “อรูปภูมิ” โดยมีเจดีย์โปร่งเป็นสัญลักษณ์ และเมื่อถึงชั้นที่เป็นเจดีย์ทึบตันบนยอดสูงสุด นั่นคือตัวแทนของ “อรูปภูมิ” ที่สมบูรณ์แล้วนั่นเอง (วราภรณ์ สุวัฒนโชติกุล : 2558)

  1. พระพุทธรูปและสถูป บุโรพุทโธใช้วิธีการอันชาญฉลาดในการจำลองพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนามหายานที่มีฐานะต่างๆ กัน กล่าวคือใช้พระพุทธรูปที่เป็นรูปมนุษย์ สื่อถึง ‘การมีรูป’ และใช้สถูปซึ่งไม่เป็นรูปมนุษย์ สื่อถึง ‘การไม่มีรูป’

โดยในฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมปรากฏพระพุทธรูปที่สื่อถึงพระธยานิพุทธเจ้า 4 พระองค์ ที่ประดิษฐานในซุ้มจระนำทั้ง 4 ทิศ เช่น พระอักโษภยะพุทธเจ้า แสดงปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำด้านตะวันออก เป็นต้น การที่สามารถมองเห็นพระพุทธรูปได้อย่างชัดเจน โดยไม่มีสถูปโปร่งมาบดบังนั้น แสดงถึง ‘การมีรูป’ ในรูปภูมินั่นเอง

ถัดขึ้นไปด้านบน ปรากฏสถูปโปร่งบรรจุพระพุทธเจ้าแสดงปางปฐมเทศนาจำนวนมาก ซึ่งก็คือพระไวโรจนะพุทธเจ้า ธยานิพุทธประจำทิศเบื้องกลางนั่นเอง พระพุทธเจ้าองค์นี้มีฐานะใกล้เคียงกับพระอาทิพุทธมากที่สุด ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงอยู่ในฐานะที่สูงกว่าธยานิพุทธอีก 4 พระองค์ ทั้งยังอยู่ในฐานะ “กึ่งสัมโภคกายกึ่งธรรมกาย” และทรงประทับใน “กึ่งรูปภูมิกึ่งอรูปภูมิ” (รองศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี : 2558)

ด้วยเหตุที่พระพุทธรูปแทน ‘การมีรูป’ และสถูปแทนการ ‘การไม่มีรูป’ พระไวโรจนะพุทธเจ้าซึ่งประดิษฐานในสถูปโปร่ง จึงแสดงให้เห็นฐานะ “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ระหว่างความมีรูปและความไม่มีรูปของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้

ส่วนสถูปทึบด้านบนสุด เป็นตัวแทนของพระอาทิพุทธผู้เป็นกษัตริย์ของพระพุทธเจ้าทั้งมวล สถูปนั้นเป็นตัวแทนของความไม่มีรูป ซึ่งเข้ากันได้ดีกับพระอาทิพุทธผู้มีธรรมกายแห่งอรูปภูมิอันปราศจากรูปนั่นเอง