อหิวาตกโรค = โรคระบาด, ห่า = โรคระบาด ดังนั้นโควิดของเรา = โรคห่าของพระเจ้าอู่ทอง

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ปัญหาประเด็นหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีคือ การแปลความ ตีความโบราณศัพท์โดยอาศัยประสบการณ์และความเข้าใจของโลกปัจจุบันไปจับ ดังนั้นผลจึงทำให้ความเข้าใจในเรื่องของอดีตคลาดเคลื่อนไป

ยกตัวอย่างเช่น เรื่องพระเจ้าอู่ทองหนีที่ปรากฏในพงศาวดารเหนือและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับบริติชมิวเซียม

เรื่องเจ้าแก้วเจ้าไทยเป็นอหิวาตกโรคต่อมาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดแล้วมาเผา ที่บริเวณที่ปลงศพโปรดให้สถาปนาพระอารามชื่อว่า วัดป่าแก้ว หรือวัดใหญ่ชัยมงคล

ในบทความชิ้นนี้จะไม่ขอกล่าวถึงเรื่องพระเจ้าอู่ทองมาจากไหน และพระเจ้าอู่ทองที่หนีห่าเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวกันกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือไม่ แต่จะมุ่งเน้นที่จะกล่าวถึงโรคห่าที่พระเจ้าอู่ทองต้องย้ายเมืองมีความหมายถึงอะไร และเจ้าแก้วเจ้าไทยที่เป็นอหิวาตกโรค แท้ที่จริงแล้วคืออะไร

ก่อนอื่นผมขอทำความเข้าใจก่อนว่า เรื่องของชื่อโรคภัยไข้เจ็บในสมัยโบราณไม่ได้มีความตรงกับลักษณะโรคตามความรับรู้ของคนปัจจุบัน เช่น โรคมะเร็งที่ปรากฏในจารึกวัดพระเชตุพนฯ และจารึกวัดราชโอรสาราม รวมถึงตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 จะไม่มีความหมายตรงกับ โรคมะเร็งหรือ Cancer ในปัจจุบัน หรืออย่างกรณีของโรคป่วงในจารึกตำรายาก็มีลักษณะโรคระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

ดังนั้นโรคห่าและโรคอหิวาตกโรคในเอกสารโบราณจึงมีสิทธิที่จะไม่ตรงกับความหมายของโรคในปัจจุบัน

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 2 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าว “ล่วงมาจนเกิดความไข้ก็งดอยู่ ครั้นมาถึงเดือนเจ็ดข้างขึ้นเวลายามเศษทิพายัพ เห็นเป็นแสงเพลิงติดอากาศเรียกว่า ธุมเพลิง เกิดไข้ป่วงมาแต่ทะเล” สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า ไข้ป่วงที่เกิดขึ้นนี้คือ อหิวาตกโรค เพราะฉะนั้นลักษณะอาการของโรคที่ปัจจุบันเรียกว่า “อหิวาตกโรค” ในสมัยรัชกาลที่ 2 เรียกว่า “โรคป่วง”

ส่วนคำว่า “อหิวาตก” ในหนังสือศัพทานุกรมโบราณที่ชื่อว่า “อักขราภิธาน” ของหมอบรัดเล ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2416 ได้ให้คำจำกัดของคำว่า หมายถึง โรคลมมีพิศม์ เสมือนพิศม์งูนั้น (พิมพ์ตามต้นฉบับ) จากคำจำกัดความดังกล่าวนั้นสามารถตีความได้ คือ ความรับรู้เรื่องของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งอาจจะรวมไปถึงครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์โรคอหิวาตะเป็นโรคลมประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่ทีนี้ก็มีปัญหาอยู่ตรงที่ โรคลมในที่นี้ คือ โรคลมประเภท หรือ โรคที่มาจากลม

ในพงศาวดารฉบับภาษาบาลีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์สังคิติยวงศ์ ได้กล่าวว่า

วัดใหญ่ชัยมงคล ที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารว่า สร้างขึ้น ณ ที่ปลงศพเจ้าแก้วเจ้าไทยที่เป็นอหิวาตกโรคตาย

พุทฺธสกฺกราเช เทฺวสตฺตติสํวจฺฉราธิกานิ เทฺวสํวจฺฉรสหสฺสานิ อติกฺกนฺเต อุสุภสํวจฺฉเร เอตฺถ อโยชฺยนคเร รามาธิปติโน ปุตฺโต สมติจฺจพุทฺธางฺกูโร นาม ปญฺจวสฺสานิ รชฺชํ กาเรนฺโต ราชปเวณิฏฺโต อหิวาตกโรเคน กาลกโต โหติ

แปลว่า ครั้นพุทธศักราชล่วงได้ 2072 ปี ฉลูนักษัตร พระโอรสในพระรามาธิบดี ทรงนามว่า สมเด็จพุทธางกูร เสวยราชสมบัติธำรงราชประเพณีได้ 5 ปี เสด็จสวรรคตด้วยอหิวาตกโรค

หากแต่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับอื่นๆ กล่าว สมเด็จพระบรมหน่อพุทธางกูรประชวรไข้ทรพิษ หรืออาจจะเป็นไปได้ว่า เมื่อสมเด็จพระพนรัตท่านแปลศัพท์คำว่า ทรพิษเป็นคำว่า “อหิวาตก” ในภาษาบาลี

จากหลักฐานในศิลาจารึกตำรายาวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งเป็นจารึกชุดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมแพทย์หลวงในราชสำนักนำวิชาความรู้ด้านการแพทย์มาจารึกไว้ ในคราวปฏิสังขรณ์ใหญ่

ในจารึกเรื่องไข้คำรบจากศาลาต่างๆ ที่รื้อไปแล้ว ได้กล่าวว่า

“ปุนะจะปะรัง ลำดับนี้จะกล่าวด้วยนัยหนึ่งใหม่ ว่าด้วยลักษณะไข้วิปริตปฐมเหตุ อันบังเกิดในระหว่างอหิวาตกภัย มีประเภท 10 ประการ อันพระดาบสทั้ง 4 พระองค์ เธอรจนาลงไว้แล้วให้นามบัญญัติ ชื่อว่า คัมภีร์ตักกสิลา สมมติไข้รากสาดเป็นต้น”

นอกจากนี้ในจารึกตำราวัดพระเชตุพนฯ ยังได้กล่าวอหิวาตกภัย ประกอบไปด้วยโรคดังต่อไปนี้ คือ ไข้ออกดำ ไข้ออกแดง ไข้ดาวเรือง ไข้มะเร็งทูม ไข้สังวาลย์พระอินทร์ ไข้กระดานหิน ไข้มหาเมฆ ไข้หงส์ระทด ไข่ลากสาดสายฟ้าฟาด ไข้ไฟเดือนห้า ไข้ละอองไฟฟ้า ไข้ข้าวไหม้น้อย ไข้มหานิส ไข้ฟองปานแดง แต่เนื่องจากจารึกตำราชุดนี้ไข้ปฐมเหตุหายไปหลายแผ่นเราจึงไม่ทราบว่าอหิวาตกภัยจะมีไข้ใดอีกบ้าง

ดังนั้นจากตัวอย่างข้อความที่ผมยกมาและตัวอย่างโรคใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นอหิวาตกภัย ทำให้เข้าใจได้ว่า อหิวาตกภัย ในจารึกวัดพระเชตุพนฯ หมายถึง โรคระบาด

ในคัมภีร์ตักกสิลาที่จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนฯ ได้อ้างถึงนั้น ได้กล่าวว่า

“สิทธิการิยะ จะกล่าวถึงเมืองตักกสิลา เกิดความไข้วิปริตเมื่อห่าลงเมืองท้าวพระยาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง เกิดความไข้ล้มตายเป็นอันมาก ซึ่งคนที่เหลือนั้นออกจากเมืองตักกสิลาไปยังเหลือแต่เปลือกเมืองเปล่า”

จากนั้นในคัมภีร์ตักสิลาจึงได้กล่าวถึงโรค “ไข้ปานอิดำอิแดงไข้ปานดำปานแดง ไข้รากสาด ไข้สายฟ้าฟาด ไข้ระบุชาติ ไข้กระดานหิน ไข้สังวาลพระอินทร์ ไข้มหาเมฆ ไข้มหานิล ไข้ข้าวไหม้ใหญ่ ไข้ข้าวไหม้น้อย ไข้ข้าวใบเตรียม ไข้ไฟเดือนห้า ไข้เปลวไฟฟ้า ไข้หงส์ระทด ไข้ดาวเรือง ไข้จันทรสูตร ไข้สุริยสูตร ไข้มหาเมฆ”

จากชื่อไข้ที่ปรากฏในคัมภีร์ตักกสิลาตรงกับจารึกตำราวัดพระเชตุพนฯ เป็นส่วนใหญ่ หากแต่ตำราตักกสิลาเรียกไข้เหล่านี้ว่า ห่า” ซึ่งหมายถึงโรคระบาด ดังนั้นจึงทำห่าในคัมภีร์ตักกสิลาเท่ากับอหิวาตกภัยในจารึกวัดพระเชตุพนฯ

อนึ่งคำว่า “ห่า” ใน สัพะพะจะนาพาสาไทย ของบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ได้ให้ความเป็นภาษาอังกฤษว่า plague และ อักขราภิธาน ของหมอบรัดเล ก็ระบุว่า ความไข้ประจุบัน ตายเร็ว, เกิดมีชุมนัก เช่น ไข้ลงรากนั้น ส่วนคัมภีร์สรรพพจนานุโยค หรือพจนานุกรมอังกฤษ – ไทย ของ แสมูเอ็ล เจ สมิท ได้ให้ความหมายของ plague ว่า โรคห่าโรคร้ายนักอันมักจะติดคนให้ตายมากๆ ในคราวเดียวที่เปนนั้น ; ความร้ายเบียดเบียนคนเป็นอันมากเป็นคราวๆ ; โรคปัตยุบัน ; กาฬโรค (พิมพ์ตามต้นฉบับ)

ดังนั้นจากตัวอย่างในพจนานุกรมที่ยกมาก็ย่อมที่ทำให้เข้าใจได้ว่า คำว่า “ห่า” ในสมัยรัชกาลที่ 3 – 5 ก็มีความว่าโรคระบาดด้วยเช่นเดียวกัน แต่จะเป็นโรคใดนั้นก็สุดแล้วแต่ว่าช่วงนั้นโรคอะไรระบาด

คำว่า “ห่า” ใช้ในความหมายว่าโรคระบาดจนถึงปลายรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างช้า ดังปรากฏประกาศห้ามเรือจากซัวเถา วันที่ 24 เมษายน ร.ศ. 116 ที่กล่าวว่า กาฬโรค (โรคห่า)

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ศัพท์คำว่า “อหิวาตกโรค” ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา หรือคำว่า “ห่า” ในพงศาวดารเหนือซึ่งมีอายุเก่าไปถึงครั้งกรุงศรีอยุธยา ก็ย่อมหมายถึงโรคระบาดชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งจะไประบุว่าเป็นโรคใดก็ไม่ได้ นอกเสียแต่จะใช้หลักฐานอื่นที่กล่าวว่าในช่วงระยะเวลานั้นโรคอะไรกำลังระบาด มาประกอบเท่านั้น

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม                                                                                                                                                                                                                                                                                                            ผู้เขียน : ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล