เมื่อสมเด็จพระนเรศวร ทรงดำริจะปราบ ‘ญี่ปุ่น’

Culture ศิลปวัฒนธรรม
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศ (ที่มาภาพ : https://th.wikipedia.org/wiki)

ความบางตอนจากหมิงสือลู่ เอกสารจีนชิ้นสำคัญจากสมัยราชวงศ์หมิง ได้มีการบันทึกเรื่องราวพระราชดำริในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เรื่องการช่วยจีนและเกาหลีปราบปรามญี่ปุ่น เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2136 ทำให้เราทราบถึงความคิดของพระองค์จากเรื่องราวดังกล่าว แม้จะไม่ถูกกล่าวถึงในบันทึกเอกสารอื่นๆ ของสยามก็ตาม

ดร.วินัย พงศรีเพียร ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองของอยุธยา จีน เกาหลี และญี่ปุ่นไว้ในหนังสือ 100 เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทยลำดับที่ 6”  หน้าที่ 125 ไว้ดังนี้

“ในระหว่างที่ศึกด้านพม่าห่างซาไปชั่วครานั้น เผอิญได้เกิดวิกฤตการณ์การเมืองระหว่างประเทศขึ้นในภูมิภาคบูรพาทิศ สาเหตุนั้นมาจากฮิเดะโยชิ เอกบุรุษแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัย.ใน พ.ศ. 2128 เขาสามารถขจัดคู่แข่งที่สำคัญได้ทั้งหมดและได้สร้างเอกภาพทางการเมืองขึ้นในเกาะญี่ปุ่น เขาประกาศตัวเป็นกัมปากุหรือโชกุนในปีรุ่งขึ้น”

“ฮิเดโยชิเป็นผู้นำทางทหารที่มีความทะเยอทยานสูง หนังสือหมิงสื่อของจีนบรรพว่าด้วยญี่ปุ่นบันทึกว่า เมื่อสามารถพิชิตเมืองทั้ง 66 เมืองของญี่ปุ่นให้อยู่ในอำนาจแล้ว ฮิเดโยชิยังใช้วิธีข่มขู่ริวกิว ลูซอน โปรตุเกส และสยามให้ส่งทูตไปถวายบรรณาการแก่ญี่ปุ่น”

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า ดินแดนที่เดือดร้อนจากการขยายอำนาจของญี่ปุ่นก็คือ ‘เกาหลี’ ซึ่งเกาหลีเองก็เป็นรัฐบรรณาการของจีนในเวลานั้น ครั้นเมื่อความทราบถึงราชสำนักอยุธยา ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว พระองค์ได้แต่งทูตไปคำนับจักรพรรดิจีนในปี พ.ศ.2134 และต่อมาในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2136 หัวหน้าผู้ตรวจการณ์และผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกวางตุ้ง-กว่างซี ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลจักรพรรดิจีนดังความในหมิงสือลู่ ว่า

“สยามตั้งอยู่ทางตะวันตกแลอยู่ห่างจากญี่ปุ่นนับ 10,000 ลี้ เมื่อเร็วๆ นี้ราชทูตบรรณาการจากสยามได้ยื่นเรื่องต่อกรมกลาโหมแจ้งว่า พวกเขาต้องการแสดงความจงรักภักดีต่อต้าหมิงหวางตี้ด้วยการให้ความช่วยเหลือกรมกลาโหมได้นำความกราบบังคมทูลโดยบันทึกความเห็นว่า ควรสั่งให้พวกเขาส่งทัพเข้าโจมตีญี่ปุ่นโดยตรงอย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากระยะห่างทางทะเลแลอุปนิสัยพวกหยี (ชาวต่างชาติ) ที่คาดเดาได้ยากฝ่ายกลาโหมได้ปฤกษาหารือกันแล้วจึงบันทึกความเห็นมาว่า “กัมปากุ” ได้ฉ้อฉลยึดอำนาจโดยสมคบกับพวกโจร ใช้วิธีการหยาบช้า โหดร้าย แลทารุณกับผู้คน อีกทั้งจู่ลู่ข่มขู่บ้านเมืองทั้งหลาย บัดนี้เขาหมายที่จะครอบครองเกาหลีแลแอบวางแผนโจมตีแผ่นดินภายในของจีน การกระทำนี้สร้างปัญหามากมายแก่กองทัพราชสำนัก ที่ราชทูตสยามแสดงความโกรธต่อการกระทำอันชั่วร้ายนี้ แสดงถึงความจงรักภักดีของผู้ที่ต้องการช่วยอีกทั้งเป็นความชอบธรรมของผู้ที่มีน้ำใจต่อเพื่อนบ้าน

พวกเราจึงได้เสนอว่าให้พวกเขาส่งกองทัพมาช่วยได้ ประการแรกเพื่อกระตุ้นบรรดารัฐที่อยู่ห่างไกล แลประการที่สองเพื่อให้ควบคุมกองทัพญี่ปุ่นได้ ผู้แต่งตำราพิชัยสงครามได้กล่าวถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะแต่หาได้กล่าวถึงหนึ่งในข้อผิดพลาดที่เกิดจากการที่จีนซึ่งมีเกียรติภูมิยิ่งใหญ่จักพึ่งพิงความเข้มแข็งของพวกต่างชาติจากบรรดาเกาะต่างๆ ดังนั้นจึงขอให้ส่งพระราชโอการไปสรรเสริญความจงรักภักดีแลความชอบธรรม แลแจ้งให้ทราบถึงความชื่นชมในแรงใจของพวกเขา ฝ่ายเราควรรอจนกว่าแม่ทัพใหญ่ได้ทบทวนเสร็จ แลรอรับคำตอบจากท่านแล้วจึงออกคำสั่งได้ ความเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งแลสายตาไกลเป็นที่ตั้งของขัตติยภาพ บัดนี้ท่านแม่ทัพใหญ่ปกป้องและดูแลพรมแดนทางใต้อันห่างไกลอยู่ ย่อมรู้ว่าปฏิบัติการอย่างไรจึงจักเหมาะสมกับบรรดาเมืองโพ้นทะเล ขอจงทรงมีพระกรุณาสั่งการให้เขาจัดการเรื่องต่างๆตามที่เสนอไว้ในคำที่นำขึ้นกราบบังคมทูล เจ้าพนักงานระดมพลที่กรมนี้ได้ส่งไปแล้วต้องรับคำปฤกษาของเขาในสิ่งที่ต้องกระทำหรือหยุดยั้งถ้าเจ้าพนักงานเหล่านั้นได้ไปถึงประเทศนั้นแล้ว เราควรส่งล่ามหลวงที่อาจหาญไปส่งสารตราแจ้งให้พระเจ้ากรุงสยามคำนับรับไว้ซึ่งพระราชบัญชาทั้งปวงในการเตรียมทัพเรือไว้ให้พร้อมและถวายคำกราบบังคมทูลแนะนำกลับมา ขอให้พระเจ้ากรุงสยามรั้งรออยู่ก่อนจนกว่าพระราชบัญชาจักมาถึงแลปฏิบัติตามนั้นทรงเห็นชอบด้วย”

ถึงอย่างไรก็ตามการส่งกองทัพอยุธยาไปปราบญี่ปุ่นก็ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะราชสำนักจีนไม่เห็นด้วย อันเนื่องมาจากราชสำนักจีนถือว่าตนเป็นมหาอำนาจ ดังนั้นจึงจัดการปัญหาด้วยตัวเอง ทั้งนี้เรื่องพระราชดำริที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่จะปราบญี่ปุ่น จึงไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารไทยเลยนั่นเอง