สะพานปรีดี-ธำรง เป็นสะพานคอนกรีตข้ามน้ำเข้าเกาะเมืองอยุธยาแห่งแรก

Culture ศิลปวัฒนธรรม

พระนครศรีอยุธยา อดีตราชธานีเก่าที่เคยเป็นราชธานีของสยามประเทศยาวนานถึง 417 ปี หากเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยใช้เส้นทางสายเอเชีย ผ่านวงเวียนเจดีย์นักเลงหรือเจดีย์วัดสามปลื้ม โบราณสถานเก่าแก่ที่ตั้งเด่นตระหง่าน ก่อนจะข้ามสะพานเข้าสู่เกาะเมืองอยุธยา หากสังเกตให้ดีจะเห็นสะพานข้ามสู่เกาะเมืองอันเก่าอยู่ที่ด้านขวามือ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงใช้งานอยู่ นั่นก็คือ “สะพานปรีดี-ธำรง” นั่นเอง

สะพานปรีดี-ธำรง เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2483 ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองเพิ่งจะผ่านพ้นจากวิกฤติการณ์จากเหตุการณ์กบฏบวรเดชและกบฏนายสิบ มีความยาว 168.60 เมตร สร้างเสร็จและเปิดใช้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2486 ซึ่งตรงกับวันเกิดของจอมพล.ป พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมมาเป็นประธานพิธีเปิดสะพาน

โดยมีการตั้งชื่อของสะพานแห่งนี้ตามชื่อบุคคลในคณะรัฐมนตรีของท่านซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวพระนครศรีอยุธยา 2 ท่าน คือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยถือเป็นสะพานคอนกรีตข้ามแม่น้ำป่าสักเข้าสู่เกาะเมืองอยุธยาแห่งแรก

ความสำคัญของสะพานแห่งนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มความสะดวกในด้านการคมนาคมแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้ชุมชุนบ้านเรือนภายในเกาะเมืองอยุธยากลับมาคีกคักอีกครั้ง

ภาพถ่ายสะพานปรีดี-ธำรง

ปรามินทร์ เครือทอง นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ได้อธิบายว่า

“การพลิกฟื้นอดีตของกรุงเก่าครั้งสําคัญนี้ เกิดขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะเป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิด ซึ่งแนวความคิดที่ว่า ต้องย้ายคนจากลำน้ำเข้าสู่เกาะเมืองให้ได้ เริ่มต้นด้วยการออกพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และที่วัดร้างภายในกำแพงเมืองปี 2481 ซึ่งแต่เดิม รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สงวนที่ดินในเกาะเมืองไว้ห้ามมิให้ผู้ใดเข้ามาถือครอง มาเป็นของกระทรวงการคลัง

โดยในขณะนั้น นายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม แล้วขายที่ดินให้กับราษฎร เพื่อจูงใจให้เข้ามาตั้งบ้านเรือนในเกาะเมือง งานทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะสอดคล้องกับการรณรงค์เรื่องวัฒนธรรมของชาติอยู่พอดี

และตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา การปรับปรุงพัฒนาบ้านเมืองมักมี “ถนน” เป็นตัวแปรสำคัญ ตลาดบกเริ่มมาแทนที่ตลาดน้ำ ในเกาะเมืองกรุงเก่าก็เช่นกัน มีการสร้างถนนเพิ่มขึ้น ติดตามมาด้วยหัวใจสำคัญของแผนคืนชีวิตให้กับกรุงศรีอยุธยาก็คือ สะพานปรีดี-ธำรง ถือเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนกรุงเก่า จากที่เคยเดินทางขนส่งสินค้าทางเรือจากจังหวัดต่าง ๆ มาสู่การใช้ถนน ซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่านอกจากนี้ยังมีการสร้างถนนเชื่อมต่อกับถนนพหลโยธิน ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ โดยตรง รวมถึงการสร้างศาลากลางจังหวัดให้อยู่กึ่งกลางของเกาะเมือง ตรงดิ่งจากตัวสะพาน การจัดสร้างสาธารณูปโภค และอาคารพาณิชย์ให้เช่า แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองสำเร็จรูปในยุคนั้นทีเดียว ประชาชนจึงค่อย ๆ ขยับขยายเข้าสู่ภายในเกาะเมืองมากขึ้น”

แม้ปัจจุบันสะพานปรีดี-ธำรง จะมีอายุถึง 77 ปีแล้ว แต่สะพานแห่งนี้ก็ยังคงความสง่างาม และยังสามารถใช้งานให้รถยนต์ทั่วไป รวมไปถึงรถจักรยานยานทางเท้าวิ่งสัญจรไปมาอยู่โดยสะดวก