พระศรีอาริยเมตไตรย พหุวัฒนธรรมในพระพุทธศาสนา

Culture ศิลปวัฒนธรรม

แม้พระพุทธศาสนาจะมีอายุล่วงมาจนถึง 2563 ปีแล้วก็ตาม แต่จากการศึกษาค้นคว้าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหลักธรรมคำสั่งสอน พระวินัยต่างๆ หรือแม้แต่แนวคิดที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย นั้นมีให้ได้อ่านและศึกษาอยู่มากมายทั้ง 2 นิกาย คือเถรวาทหรือหีนยาน และมหายาน แม้ในองค์ประกอบบางอย่างจะมีความแตกต่างกันบ้างตามวัฒนธรรมและวิถีปฏิบัติของแต่ละนิกาย แต่จุดมุ่งหมายนั้นก็คือการหาหนทางดับทุกข์ทั้งของตนและเพื่อนร่วมโลกให้ถึงซึ่งพระนิพพานเหมือนกัน

เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา กรมศิลปากรได้จัดงานเสวนาเรื่อง “วิชชาแห่งบูรพาพระศรีอารยเมตไตรย พระโพธิสัตว์ไมเตรยะ” ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เพื่อต่อยอดชุดความรู้ดังกล่าว

พระศรีอารยเมตไตรย หรือพระศรีอาริยเมตไตรย คัมภีร์พุทธวงศ์ได้กล่าวถึงพระองค์ในฐานะอนาคตพุทธเจ้า ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล โดยพระองค์จะมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 ของภัทรกัปป์นี้ ส่วนในคติมหายาน พระองค์คือ 1 ในคณะพระโพธิสัตว์ และจะมาตรัสรู้ในอนาคตกาล เพื่อช่วยเหลือเหล่ามวลมนุษย์ รวมทั้งเพื่อโปรดสรรพสัตว์ให้พ้นจากวัฏสงสารต่อไป

คติการบูชาพระองค์มีความสำคัญมากต่อชาวพุทธทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ โดยพบหลักฐานการบูชามากมายในอินเดีย ซึ่งเป็นที่กำเนิดของพระพุทธศาสนา ทั้งในวรรณกรรม จารึก และที่พบเป็นรูปธรรมในงานศิลปกรรมและทางโบราณคดี

คัมภีร์สุตตนิบาต ในพระไตรปิฏก บันทึกด้วยภาษาบาลี กล่าวว่า

“ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่สืบต่อพระพุทธวงศ์องค์สุดท้าย คือ ไมเตรยะ ผู้เป็นผู้นำสั่งสอนนักปราชญ์จำนวนร้อยโกฏิ

ผู้นำของสัตว์โลกทั้งหลาย ผู้จะได้เสด็จ (สมภพ) ในนครเกตุมวตีอันมั่นคง…”

ส่วนในคัมภีร์มหาวัสตุ ที่เป็นภาษาสันสกฤต กล่าวว่า

“พราหมณ์ผู้หนึ่งผู้ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์อันรุ่งเรืองและมั่งคั่ง จะสละทรัพย์สมบัติมหาศาล เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นจากโลก”

“ในตระกูลพราหมณ์อันเจิดจ้าด้วยปัญญาตระกูลนั้น ไมเตรยะจะบังเกิดในโลก ในยุคต่อไปของ กัปป์ปัจจุบัน…”

โดยทั้ง 2 เล่มนี้ถูกเชื่อว่าเป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดที่พบอยู่ในภาษาบาลีและสันสกฤต

คัมภีร์ของฝ่ายมหายาน อาทิ คัมภีร์สุขาวตีวยูห และอมิตายุรธยานสูตร ไม่มีการกล่าวถึงพระศรีอาริยเมตไตรยโดยชัดเจน บ่อยครั้งที่พบพระองค์เป็นผู้ประทับอยู่ทางซ้ายของพระอมิตาภะ คู่กับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร โดยเฉพาะในงานประติมากรรม แต่ไม่เสมอไป บางครั้งพบเป็นพระอวโลกิเตศวรคู่กับพระมหาสถามปราปตา สันนิษฐานว่าอาจเป็นชื่อหนึ่งของพระโพธิสัตว์วัชรปาณิ ผู้เป็นตัวแทนของอำนาจมหาศาลในการปราบปราม เป็นองครักษ์หรือบริวารของพระพุทธเจ้าในแดนสุขาวดี

พระศรีอาริยเมตไตรยจึงน่าจะเป็นความหวังอันสูงสุดของชาวพุทธที่จะเข้านิพพาน?

ในพุทธศตวรรษที่ 9 หรือ 10 หลวงจีนฟาเหียน ยวนฉ่าง และอี้จิง 3 ภิกษุชาวจีนได้บันทึกไว้ในรายละเอียดการเดินทาง ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อและการปฏิบัติในอินเดีย รวมถึงบทบาทอันสำคัญของพระศรีอาริยเมตไตรย โดยขอยกตัวอย่างบันทึกของหลวงจีนอี้จิง ที่ว่า

พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยจากปราสาทปลายบัด 2 จ.บุรีรัมย์ (ซ้าย) ภาพจากบทความของ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล เมื่อ พ.ศ. 2516 (ขวา) ภาพปัจจุบัน เก็บรักษาอยู่ที่คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร

“สมาธิผ่องแผ้วของข้าพเจ้า…เป็นเช่นก้นบึ้งของสระน้ำที่ลึกเย็น ข้าพเจ้าใฝ่ฝันที่จะได้ร่วมในการพบปะที่ใต้ต้นดอกนาค (เกสร) และได้สดับกังวานเสียงอันลึกล้ำและราบรื่นของพระพุทธเจ้าศรีอาริยเมตไตรย เมื่อได้ผ่านชีวิตในสังสารวัฏมาแล้วทุกชนิด ขอให้ข้าพเจ้ากระทำจิตและรักษาจิตให้สมบูรณ์ ตลอดกัปป์อันยาวนาน ก่อนการบรรลุถุงพุทธิภูมิ”

ดร.นันทนา ชุติวงศ์ หนึ่งในวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้กล่าวอธิบายถึงโลกทัศน์ทางความเชื่อที่ทั้ง 2 นิกายต่างมีต่อพระศรีอาริยเมตไตรยไว้ว่า

“พระศรีอารยะเมตไตรย มีความสำคัญมากในฐานะพระอนาคตพุทธเจ้า ผู้ซึ่งชาวพุทธทั้ง 2 ฝ่ายและทุกยุคทุกสมัย ฝากความหวังที่จะถึงสวรรค์ภูมิและพุทธภูมิไว้ แม้ว่าในความเชื่อแบบมหายานและวัชรยานจะมีทิพยบุคคลและศาสดาผู้อื่นที่ผู้บูชาอาจจะยึดถือเป็นที่พึ่งในความหวังเช่นนี้ได้เช่นกัน ส่วนมากผู้ศรัทธาจะตั้งปณิธานขอพบพระศีอาริยเมตไตรในสวรรค์ เพื่อที่จะได้ฟังธรรมคำสั่งสอนเป็นหนทางสู่พุทธภูมิ ซึ่งทุกผู้มีโอกาสจะได้บรรลุ ผู้บูชาอาจตั้งปณิธานขอพบพระองค์ในโลกมนุษย์ และในภาวะที่เป็นมนุษย์ เมื่อพระศรีอาริยเมตไตรถือกำเนิกและใช้ชีวิตในโลกมนุษย์ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าและจะพาสัตว์ทั้งหลายเข้าสู่นิพพานในวาระนั้น รูปประติมาที่แสดงออกทั้งเป็นรูปพระพุทธเจ้า เป็นรูปพระโพธิสัตว์ และเป็นรูปพระสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศากยมุนี สะท้อนถึงความคิดและความเชื่อต่างๆที่ชาวพุทธทั้งหลายมีต่อพระศรีอารยะเมตไตรย”

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าแม้นิกายมหายานกับนิกายเถรวาทจะมีความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ทั้ง 2 นิกายซึ่งถือเป็นนิกายใหญ่ของพุทธศาสนาต่างก็เชื่อในพระโพธิสัตว์พระศรีอารยเมตไตรเหมือนกัน แม้ว่าในทางปฏิบัติทั้ง 2 นิกายจะมีรายละเอียดที่ต่างกันอย่างมาก ซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องคติการนับถือพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวมาในข้างต้นแล้วนั้น ยังมีความแตกต่างกันอีกหลายเรื่อง เช่น การบวชนาค ซึ่งฝ่ามหายานก็ไม่มี เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามทั้ง 2 นิกายก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขตลอดอายุพระพุทธศาสนา 2563 ปีมาแล้วนั้นแทบไม่มีสงครามหรือความขัดแย้งอย่างรุนแรงแต่อย่างใด จึงอาจกล่าวได้ว่าเหล่านี้ล้วนเป็น “พหุวัฒนธรรมในพระพุทธศาสนา” นั่นเอง