เรียนรู้ประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรี ผ่าน ‘เรือเจิ้งเจา’ พิพิธภัณฑ์ลอยน้ำแห่งแรกของไทย

Culture ศิลปวัฒนธรรม

แม้กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรจะเป็นราชธานีของไทยแค่เพียง 15 ปี แต่ก็นับได้ว่าเรื่องราวในช่วงนี้เป็นรอยต่อที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติ “ว่างแผ่นดิน” หรือสภาวะไร้ศูนย์กลางทางการเมือง ตั้งแต่หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 หรือแม้แต่เรื่องอื่นๆ ที่ไม่ถูกกล่าวถึงก็ตาม

แม้ในปัจจุบันโบราณสถานและโบราณวัตถุในสมัยธนบุรี จะหลงเหลือให้ได้ชมกันไม่มากนัก รวมถึงเรื่องราวของยุคสมัยนี้ก็มักเป็นเรื่องของการสงครามเป็นส่วนใหญ่ หรือจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามประวัติศาสตร์สมัยกรุงธนบุรีก็มักเป็นการเรียนรู้เพียงผิวเผินเท่านั้น จึงนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งนัก

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ทางไอคอนสยามได้มีการจัดพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำแห่งแรกของประเทศไทยขึ้น ในนาม “เรือเจิ้งเจา” โดยมีรูปแบบเป็นเรือสำเภาจีนโบราณ เพื่อให้สาธารณะชนได้เข้ามาศึกษาและเปิดโลกทัศน์ของประวัติศาสตร์สมัยธนบุรีในมิติใหม่นอกเหนือจากความรู้ในตำรา และไม่มีใครเหมือน

สำหรับนาม เจิ้งเจา หรือ “鄭昭” นั้น มีที่มาจากเอกสารจีนในสมัยราชวงศ์ชิงซึ่งใช้เรียกสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั่นเอง โดยมีความหมายว่า “กษัตริย์สยามแซ่เจิ้ง” สะท้อนถึงการมีเชื้อสายจีนของพระองค์นั่นเอง

ตัวเรือทั้งลำของพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำเจิ้งเจา

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์สมัยธนบุรีในหลายๆ แง่มุม  โดยเฉพาะเรื่องราวของเศรษฐกิจและการค้าสำเภาของราชสำนักธนบุรีกับจีน ทำให้สามารถเห็นภาพของราชสำนักแห่งนี้ในฐานะ “รัฐเมืองท่าการค้า” ซึ่งต่างจากความเข้าใจเดิมที่เรามักมองราชสำนักธนบุรีในฐานะเป็นรัฐการเมืองแบบชุมนุม หรือรัฐราชสมบัติ นี่เน้นการทำสงครามขยายอำนาจสู่ดินแดนข้างเคียงในตลอดระยะเวลา 15 ปีที่เป็นราชธานี ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนบนเรือสำเภาว่ามีความเป็นอยู่และทำหน้าที่อะไรบ้าง

ปืนใหญ่จำลองบนเรือพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำเจิ้งเจา
ภาพวาดการค้าสำเภาสมัยธนบุรีในพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำเจิ้งเจา (ภาพจากเอกสารนำชม)
งาช้างและดีบุกจำลองในพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำเจิ้งเจา (ภาพจากเอกสารนำชม)

โดยในพิพิธภัณฑ์นั้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ดังนี้

ส่วนที่ 1 เป็นส่วนประชาสัมพันธ์ข้อมูลและร้านค้าสำหรับให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้นั่งผ่อนคลาย ในระหว่างการรอคิวเข้าชมนิทรรศการ

ส่วนที่ 2 จุดชมวิวด้านบนเรือ มีอยู่ 2 จุดด้วยกัน คือจุดชมวิวหัวเรือและจุดชมวิวท้ายเรือ มีการนำหุ่นมาตั้งไว้เพื่อจำลองการเดินเรือสำเภาสินค้าของคนในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา-ธนบุรี โดยมีจุ้นจู๊เป็นผู้ควบคุมการเดินเรือและคอยระวังหากมีสิ่งผิดปกติจากภายนอก เช่น ถ้ามีกองเรือขาศึกเข้ามาใกล้ จะต้องรีบรายงานนายเรืออย่างเร่งด่วน เป็นต้น

นอกจากนี้บริเวณจุดชมวิวท้ายเรือยังมีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้ผู้ที่ศรัทธาได้มากราบสักการะ รวมไปถึงมีปืนใหญ่โบราณจำลองซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ “เรือปืน” ของคนในยุคนั้นที่ไม่ว่าจะเป็นเรือสำเภาขนส่งสินค้า เรือสำเภารบ ก็จำเป็นต้องมีปืนใหญ่ติดเรือไว้เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดการปล้นสะดมระหว่างการเดินทาง

เหรียญเงินสเปน
แผนที่เส้นทางเดินทัพในการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ภาพจากเอกสารนำชม)

ส่วนที่ 3 อยู่ในตัวเรือ ประกอบไปด้วยห้องต่างๆ มีทั้งหมด 3 ห้อง ดังนี้

ห้องที่ 1 เส้นทางการกอบกู้เอกราช ภายในห้องนี้จัดแสดงเรื่องราวของการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยเริ่มตั้งแต่เส้นทางในการเดินทัพจากกรุงศรีอยุธยาสู่หัวเมืองตะวันออกเพื่อเตรียมการกอบกู้เอกราช ซึ่งก็จะทำให้เห็นภาพของระบบการป้องกันตัวเองของกรุงศรีอยุธยาในตอนปลาย ที่ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เนื่องจากปัจจัยด้านเสบียงอาหารที่ใกล้หมด และเหตุปัจจัยอื่นๆ จนเป็นเหตุให้ พระยาตากในขณะนั้นตัดสินใจฝ่ากองทัพพม่าสู่ทิศบูรพา จากนั้นจึงมุ่งหน้ารวบรวมหัวเมืองต่างๆ เช่น เมืองระยอง และเมืองจันทบุรี  ก่อนยกทัพกลับมาตีกรุงศรีอยุธยาคืนจากกองทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น หลังจากนั้นจึงได้สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามลำดับ

ห้องที่ 2 ห้องวิถีชีวิตของลูกเรือ ด้านในจำลองให้เห็นถึงการใช้ชีวิตบนเรือของบรรดาลูกเรือ รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้จำลอง เช่น ไหเหล้า ถังเก็บข้าวสาร

หม้อสำหรับต้มข้าว และจอกใส่น้ำ เป็นต้น รวมทั้งที่หลับนอนของลูกเรือในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเตียงและเปลที่แบ่งตามชนชั้นกันไป ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชิวิตอันเรียบง่ายของบรรดาคนเดินทางในยุคนั้น ที่จำเป็นต้องกินนอนแบบง่ายๆ เนื่องจากไม่มีตัวเลือกในการดำรงชีวิตมากนักดังเช่นคนปัจจุบัน

ห้องที่ 3 คลังอารยธรรม ประกอบด้วย 3 จุดที่สำคัญ ดังนี้

1. มหาราชยอดนักรบ จุดนี้จะเล่าพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทั้งยังได้มีการจัดทำแผนที่กรุงธนบุรีขนาดใหญ่ซึ่งจะมองเห็นสถานที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น พระราชวังเดิม ป้อมวิไชยประสิทธิ์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร บ้านเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และชุมชนญวน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการวางผังเมือง ป้อมปราการ และวัดวาอารามที่สำคัญในสมัยธนบุรี

2. ฟื้นฟูครบด้วยพระปรีชา ด้านในมีการจำลองเสมือนจริงเพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็นภาพของการฟื้นฟูบ้านเมืองของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไม่ว่าจะเป็นด้าน

พริกไทยจำลอง (ภาพจากเอกสารนำชม)

เศรษฐกิจ รวมทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม อาทิ สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงธนบุรี (จำลอง) และพระไตรปิฎก ฉบับจำลอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ทางพุทธศาสนาของราชสำนักกรุงธนบุรีได้เป็นอย่างดี

3. สานสัมพันธ์การค้าให้ธนบุรี ในส่วนนี้มีการจัดแสดงเกี่ยวกับสินค้าของธนบุรี รวมถึงสินค้าของนานาชาติ ที่มีการค้าขายและแลกเปลี่ยนกัน ทั้งยังแสดงเส้นทางการค้าด้วยเรือในแต่ละทวีป มีการอธิบายเกี่ยวกับส่วนประกอบเรือสำเภาจีน และห้องเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ โดยสิ่งที่สะดุดตาเป็นอย่างมากคงหนีไม่พ้น เหรียญเงินสเปน ซึ่งเป็นหรียญที่ทางราชสำนักธนบุรีใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนค้าขายกับชาติตะวันตก ทั้งกับบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (Vereenigde Oostindische Compagnie) และบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (Honourable East India Company)

จำลองเหตุการณ์ทุบหม้อข้าวตีเมืองจันทบูรณ์ของกองทัพในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ข้าวของเครื่องใช้ของคนบนเรือสำเภาสมัยธนบุรี
สมุดภาพไตรภูมิจำลอง (ภาพจากเอกสารนำชม)
แผนที่กรุงธนบุรี

ซึ่งการแลกเปลี่ยนสินค้ากับทางฮอลันดาและอังกฤษนั้น คงหนีไม่พ้นสินค้าประเภทเครื่องเทศ ของป่าประเภทงาช้างและนอแรด รวมทั้งแร่ต่างๆ โดยเฉพาะดีบุก ส่วนทางธนบุรีเองก็ต้องการซื้ออาวุธปืน โดยเฉพาะปืนไฟ กับอังกฤษ ซึ่งถือเป็นอาวุธที่สำคัญของกองทัพและมีผลต่อความมั่นคงทางทหารของราชสำนักธนบุรี ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นที่ความพยายามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการค้าหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีปืนใหญ่พร้อมกระสุนดินดำจำลอง รวมไปถึงปืนไฟ ดาบ และทวนจำลอง จัดแสดงให้ได้ชมกันอีกด้วย ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงยุทธวิธีทางการทหารของราชสำนักธนบุรีอีกเช่นกัน ในขณะที่สถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนั้นยังเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากภาวะสงคราม

โดยทางพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเปิดให้บริการทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 11.15-20.00 น. ซึ่งเปิดให้เข้าทุก 15 นาที ต่อ 1 รอบ ใช้เวลาชมรอบละ 30-45 นาที และมีค่าเข้าชมสำหรับคนไทย ในราคา 150 บาท ชาวต่างชาติ 300 บาท และนักเรียนในเครื่องแบบ 50 บาท

สำหรับช่วงนี้ทางพิพิธภัณฑ์มีส่วนลด 30% ให้ผู้เข้าชมชาวไทย เหลือเพียง 105 บาท/คน สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ท่าเรือ 1 ของไอคอนสยาม

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์สมัยธนบุรี และบุคคลทั่วไป พิพิธภัณฑ์แห่งนี้คงจะตอบโจทย์การศึกษาหาความรู้ในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี หรือจะแค่ขึ้นไปถ่ายภาพเก็บบรรยากาศในยามเย็นก็ได้อรรถรสอีกแบบ จึงไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง