“อัมพวา” ใน “แม่กลอง” ถิ่น “พระพุทธเลิศหล้านภาลัย”

Culture ศิลปวัฒนธรรม

“…โออัมพวา นี่หนางามจริง ทุกสิ่งเป็นขวัญตา โอ้ว่าผู้หญิง ยิ่งงามโสภา ดั่งนางฟ้าชาวไทย เธอมีจรรยา เรียบร้อยชวนมอง ทั้งคล่องงานเหลือใจ ไม่ว่าทำสวน กระบวนค้าใด ดูคล่องไปทุกทาง…”

ขึ้นต้นเรื่องด้วยเพลง “สาวอัมพวา” ของวงดนตรีอมตะ “สุนทราภรณ์” หากเป็นเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักเพลงนี้ แต่ถ้าถามคนรุ่น 50 อัพ เป็นต้องเคยได้ยินกันแทบทุกคน โดยเฉพาะแฟนเพลงสุนทราภรณ์ต้องรู้จักแน่ๆ

ที่จริงเพลงนี้มีที่มาหลายกระแส บ้างว่า “วิชัย โกกิลกนิษฐ” อดีตนายสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.เชียงราย

แม่น้ำแม่กลองในอดีต (ภาพจาก : siamfishing.com)

เป็นคนแต่งให้กับสาวคนรักที่ชื่อ “บุญชู ศรีสวัสดิ์” ซึ่งเป็นคนอัมพวา แต่อีกกระแสบอกว่า “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” แต่งเพลงนี้ขึ้นเมื่อนำวงดนตรีสุนทราภรณ์ไปบรรเลงที่วัดบางกะพ้อมในอัมพวา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2506-2507 เพื่อเป็นที่ระลึกให้กับบ้านเกิด ตอนแรกครูเอื้อยังได้ขับร้องเพลงนี้ไว้เองด้วย แต่ต่อมาได้ให้ นพดฬ ชาวไร่เงิน นักร้องดาวรุ่งสุนทราภรณ์ซึ่งกำลังโด่งดังจากผลงานเพลงลาทีปากน้ำ มาบันทึกเสียงเพลงนี้แทน

“อัมพวา” เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม นับเป็นจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดของประเทศไทย ตามประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานระบุว่าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ไม่มากนัก ต่อมาเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2310 ผู้คนอพยพมาอยู่กันมากขึ้น เพราะมีทำเลเหมาะแก่การเพาะปลูกและเป็นที่อยู่อาศัย

ตามหลักฐานที่พอจะค้นคว้าได้นั้น ปรากฏว่าที่ว่าการอำเภออัมพวาในอดีต ได้อาศัยศาลาการเปรียญของวัดอัมพวันเจติยาราม ต่อมาได้ย้ายข้ามคลองอัมพวาไปอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดท้ายตลาด ตำบลบางกะพ้อม ซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่เดิมไปประมาณ 400 เมตร และได้ย้ายมาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองมาจนทุกวันนี้ และคงใช้ชื่อ “อัมพวา” เพราะบริเวณนี้เดิมเป็นเรือกสวน มีต้นมะพร้าว และต้นมะม่วงอยู่เป็นจำนวนมาก ต้นมะพร้าวนั้นเป็นพืชหลักของสมุทรสงครามและมีอยู่ทั่วไป ส่วนมะม่วงมีการปลูกอยู่อย่างหนาแน่นที่บริเวณนี้ จึงใช้ชื่อ อัมพวา

อำเภออัมพวาเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน และแยกเป็นลำคลองหลายสาย เช่น คลองอัมพวา คลองวัดนางวัง คลองวัดบางกะพ้อม คลองบางจาก คลองดาวดึงษ์ คลองลัตตาโชติ คลองเหล่านี้น้ำไหลขึ้นลงตลอดปี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้  มีสวนลิ้นจี่  สวนส้มโอ  สวนมะพร้าว สวนมะม่วง ฯลฯ อัมพวาในปัจจุบันอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ขับรถไม่ถึงสองชั่วโมงก็ถึงแล้ว จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของนักท่องเที่ยว ไม่เฉพาะแต่ชาวไทย ยังรวมถึงชาวยุโรป ชาวจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี  เพราะอัมพวามีทั้งสถานที่พักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ สวนผลไม้ และของกินร้านอร่อยมากมาย

วัดอัมพวันเจติยาราม
วัดบางกะพ้อม

ที่เป็นมนต์เสน่ห์ของอัมพวาอย่างมากคือ เป็นอำเภอที่มีประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ เกี่ยวข้องกับราชวงศ์จักรี ด้วยในสมัยอยุธยาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้รับราชการเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และได้สมรสกับ “ท่านนาค” ต่อมาคือ “สมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 ซึ่งมีนิวาสสถานดั้งเดิมอยู่ที่แขวงบางช้าง อำเภออัมพวาในปัจจุบัน และต่อมาท่านได้มีพระประสูติกาล สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ณ ที่แห่งนี้ เช่นเดียวกับสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) พระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ได้มีพระประสูติกาลสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (ต่อมาคือพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2) ที่อัมพวาด้วยเช่นกัน

หากกล่าวในภาพกว้าง “อัมพวา” เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม หรือ เมืองแม่กลอง ในอดีต ซึ่งในอดีตเมืองแม่กลองคือแขวงบางช้างของเมืองราชบุรี  สันนิษฐานว่าชื่อ “บางช้าง” อาจตั้งตามพระนามของ “เจ้าพลาย” (ในปี พ.ศ. 2173 เจ้าพลายและเจ้าแสน เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 1 และองค์ที่ 2 ตามลำดับ ในสมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชาในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ได้หนีราชภัยมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่แขวงบางช้าง

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับราชินิกุลบางช้าง “สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี” ซึ่งเป็นพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) และทรงเป็นพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย (ราชวงศ์พระร่วง) แห่งอาณาจักรสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา

ดังที่กล่าวก่อนหน้านี้ ว่า เจ้าพลายและเจ้าแสน พระราชโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงหนีราชภัยมาตั้งถิ่นฐานที่แขวงบางช้าง ดังนั้น สมุทรสงคราม จึงเป็นเมืองราชินิกุลบางช้างและราชสกุลแห่งราชวงศ์สุโขทัย มีการสืบทอดนาฏศิลป์ วรรณศิลป์ และการทำอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารชาววังของสมัยสุโขทัยมาอย่างเต็มที่และต่อเนื่องมาโดยตลอด