Back to History : คิงมงกุฎ “พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช”

Culture ศิลปวัฒนธรรม

18 ตุลาคม 2562 วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นเอนกอนันต์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  โปรดเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ว่า “พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช” ทรงเป็น “มหาราช” อีกพระองค์ในบุรพกษัตริย์ไทย

เหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้ถวายพระราชสมัญญาครั้งนี้ ก็ทรงด้วยพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นปราชญ์ที่แท้ ทรงรอบรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากโลกตะวันตก จึงทรงวางรากฐานการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าตามแบบอารยประเทศ ทรงปรับปรุงระบบราชการไทยให้ทันสมัย ทรงดำเนินวิเทโศบายเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวาง

ทรงกุศโลบายผ่อนสั้นผ่อนยาวกับประเทศมหาอำนาจ  ทำให้สามารถรักษาเอกราชของชาติไว้ได้  ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนเป็นอเนกประการ  เมื่อทรงรับพระราชภาระเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงได้นำสยามประเทศเข้าสู่สังคมยุคใหม่ ด้วยความพร้อมทั้งบุคคล และวิชาความรู้ ดังที่หนังสือพิมพ์ สเตรทส์ ไทม์ส (Straits Times) ของสิงคโปร์ลงข่าวการเสด็จขึ้นครองราชย์ของคิงมงกุฎ  ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ให้ความหวังอันยิ่งใหญ่แก่ประชาชนชาวสยาม และเป็นที่น่าสนใจแก่ประเทศชาติภายนอก

ถวายพระราชสมัญญา “มหาราช”

วาระสำคัญนี้ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา ความว่า “…พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ  พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงกอปรด้วยพระบรมราชกฤษฎาภินิหาร เป็นอัจฉริยภูมิบาลบรมบพิตร เสด็จสถิตในพระราชธรรมจริยาสถาพร มิหวั่นไหวทรงอธิษฐานพระราชหฤทัย ในทางบำรุงราชอาณาจักรให้ดำรงอิสราธิปไตยอย่างมั่นคง ทรงค้ำจุนพระบวรพุทธศาสนาให้ดำรงบริสุทธิ์ตามพระธรรมวินัยพร้อมพระราชทานเสรีภาพทั่วไปแก่อาณาราษฎร

ยังให้สยามรัฐสีมาสามารถรอดพ้นภัยดัสกรอันคุกคามมาประชิด อีกทั้งทรงผูกราชสัมพันธมิตรกับนานามหาประเทศ  ทรงมีสายพระเนตรสอดส่องการณ์ไกล  สามารถวินิจฉัยในคุณและโทษแห่งประเพณีเมือง ทรงปลดเปลื้องโทษนำประโยชน์มาบัญญัติ โดยมหัจฉริยปรีชา ทรงเชี่ยวชาญศิลปวิทยาเสมอปราชญ์แห่งไพรัชประเทศในเขตอัสดงคต มิทรงละลดพระวิริยอุตสาหะและพระวิจารณปัญญากล้าแกร่ง สำแดงพระบรมราชกุศโลบายอันแยบคายและลึกซึ้ง ทรงพระราชญาณทัศนะสอดส่องถึงอนาคตกาลแห่งราชอาณาจักร ทรงเผยพระราชศักดานุภาพทางพระปัญญาบารมีอันคมกล้าเสมือนราชศัสตรารักษาชาติไทย ทรงวางวิถีพระบรมราโชบายพระราชทานให้สมเด็จพระบรมราชปิโยรสบังเกิดปฐมบทสู่การสืบสานรักษาและต่อยอดตลอดไป  ทรงสั่งสมไว้มากเหลือคณานับ ประดุจมหาวราภรณ์ประดับพระเกียรติคุณอลังการ แม้ตราบถึงวารเสด็จสวรรคตพระสติสัมปชัญญะยังปรากฏมั่นคงตลอดขณะจวบถึงสภาวะอันเป็นที่สุด คือพยานแห่งลักษณะมหาบุรุษมหัศจรรย์ พระองค์คือบุพการีผู้ยิ่งใหญ่แห่งพสกนิกร ปรารภเหตุดั่งนี้ รัชสมัยของพระองค์ตลอดจนถึงมหามกุฏราชสันตติวงศ์สืบมา จึ่งยิ่งยงวัฒนารุ่งเรืองงาม  มหาชนชาวสยามถึงความผาสุกผ่องพ้นไพรี  ประหนึ่งมีพระสยามเทวาธิราชคอยเฝ้าอารักขา พระองค์เป็นพระมหาราชเจ้าผู้ทรงเปรียบแม้นเทวดา  ทรงวิทยาภรณ์เป็นมหามงกุฎปกเกล้าปกกระหม่อมชาวสยาม สมควรจะได้สนองพระเดชพระคุณเฉลิมพระเกียรติยศให้ปรากฏแผ่ไพศาลยิ่งขึ้น จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ถวายพระราชสมัญญาแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ขอให้พระเกียรติคุณวิบุลยยศแห่ง  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ปรากฏแผ่ไพศาลไปในสากลจักรวาล ตราบจิรัฏฐิติกาลนิรันดรเทอญ”

พุทธศักราช 2347 วันที่ 18 ตุลาคม เป็นวันพระราชสมภพของพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2  และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินี  ทรงมีพระนามเดิม ว่า “สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ” เมื่อพระชนมายุ 13 พรรษา รัชกาลที่ 2 โปรดฯ ให้มีพระราชพิธีโสกันต์ แล้วทรงบรรพชาเป็นสามเณร ในปี 2367 เมื่อพระชนมายุครบผนวช จึงทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. 2367 ทรงได้รับพระฉายาว่า “วชิรญาณภิกขุ” ประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุฯ 3 วัน แล้วจึงเสด็จไปจำพรรษาที่ วัดสมอรายหรือวัดราชาธิราช

หลังจากทรงผนวชได้เพียงสองสัปดาห์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมชนกนาถก็เสด็จสวรรคต แต่มิได้ตรัสมอบพระราชสมบัติให้กับผู้ใด พระองค์ในฐานะพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระอัครมเหสี สมควรอัญเชิญขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ทรงรู้เห็นดีว่ายังไม่พร้อมที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์โตของรัชกาลที่ 2 ที่ทรงประสูติจากเจ้าจอมมารดา ทรงมีทั้งพระราชอำนาจและกำลังทหารตลอดจนวัยวุฒิที่เหมาะสมกว่า จึงทรงประสงค์ที่จะผนวชต่อ ดังนั้น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จึงเสด็จขึ้นครองราชย์แทนเป็นรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จฟ้ามงกุฎทรงผนวชอยู่ตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 ทำให้ทรงมีเวลามากมายในการศึกษาหาความรู้ในวิชาการแขนงต่างๆ ช่วงเวลาที่อยู่ในสมณเพศทรงศึกษาพระพุทธวจนะ พระปริยัติธรรมจนแตกฉาน ทรงเสด็จจาริกไปนมัสการเจดียสถานที่รกร้างอยู่ในบ้านเมืองโบราณ ทรงพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี คือ พระแท่นมนังคศิลา และ จารึกสุโขทัย 2 หลัก ทรงพากเพียรอ่านจนได้ความรู้เรื่องกรุงสุโขทัย และ การประดิษฐ์อักษรไทย ตัวเลขไทย ซึ่งมีมานานกว่า 700 ปี

และสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมืองอย่างยิ่ง คือ ทรงมีโอกาสได้ทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรด้วยพระองค์เอง สิ่งหนึ่งที่ทรงสนพระทัยอย่างมาก คือการศึกษาภาษาต่างประเทศ และศิลปะวิทยาการสมัยใหม่ของโลกตะวันตก โดยเฉพาะวิชาดาราศาสตร์  ทรงพากเพียรเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมตลอด 27 ปี ที่ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์  กระทั่งปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ข้าราชบริพารและประชาชนจึงพร้อมใจอัญเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2394 เป็นรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี  ทรงพระนาม “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ทอดพระเนตรทุกข์ สุข ประชาชน

ในช่วงที่ทรงผนวช เจ้าฟ้ามงกุฎทรงจาริกเสด็จธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ทรงเห็นสุข ทุกข์ ของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ซึ่งเวลาต่อมานับว่าเป็นประโยชน์แก่การปกครองพระราชอาณาจักรอย่างยิ่ง ดังนั้น เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติจึงทรงเสด็จประพาสตามหัวเมืองอย่างน้อย 1 เดือน จนตลอดรัชกาล เพื่อทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรตามความที่โปรดให้ประกาศ ว่าแต่ก่อนแล้วเล่าลือว่าในหลวงย่อมอยู่ในกำแพงวัง มีเวลาจะได้ออกประพาสปีละครั้ง แต่หน้าฤดูกาลครั้งนั้นได้เสด็จไปถึงหัวหมื่นใกล้ไกล เช่น นครปฐม เหนือสุดถึงเมืองพิษณุโลก  ตะวันตกถึงเมืองราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี  ส่วนทางทะเล เสด็จเมืองชายทะเลด้านตะวันออก หัวเมือตะวันตก สุดถึงหัวเมืองปักษ์ใต้ ที่ สงขลา และ เมืองปัตตานี  พระราชกรณียกิจเนื่องด้วยการเสด็จประพาสนั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงศีล

โปรดการเสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่กรุงเก่าอยู่บ่อยครั้ง ถวายผ้าพระกฐินบ้าง ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามเก่าบ้าง วัดร้างตั้งแต่ครั้งเสียกรุง จึงมีพระสงฆ์จำพรรษาราษฎรชาวเมืองก็กลับมาอยู่อาศัย ทำให้บ้านเมืองไม่รกร้างว่างเปล่าอีกต่อไป

ทรงตั้งขุนนางแบ่งฝ่ายทำงาน

พระบรมราโชบายการปกครองของรัชกาลที่ 4 ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพภายในการป้องกันภัยจากภายนอก และปกป้องอาณาประชาราษฎร์ ให้อยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน ที่ทรงเอาพระทัยใส่แต่แรกเสด็จครองราชย์ คือทรงสร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่เจ้านาย ด้วยการยกย่องให้มีพระเกียรติยศตามประเพณี จากนั้นจึงทรงมอบหมายหน้าที่ให้ช่วยกำกับดูแลตามพระเนตรพระกรรณ เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระราชบุตรลำดับที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ และเป็นพระปัยกาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้กำกับราชการมหาดไทย พระคลังสินค้า และ เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน

สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ดูแลกรมวัง กรมพระคชบาล และกรมสังฆการีธรรมการ (กรมการศาสนา)  ในส่วนข้าราชการก็ไม่ได้ทรงละเลย ทั้งข้าราชการในส่วนกลางและหัวเมือง ทรงตั้งขุนนางให้มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ เช่น โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหม เป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สำเร็จราชการทั่วทั้งพระราชอาณาจักร  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เป็น สมุหนายกกำกับฝ่ายพลเรือน และ หัวเมืองเหนือ  เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กำกับฝ่ายกลาโหม หัวเมืองฝ่ายใต้ และ ชายทะเล

ทรงยกย่องผู้ครองเมืองประเทศราชขึ้นเป็นเจ้าหลายเมือง เช่น พระยาวิเชียรปราการ เมืองเชียงใหม่ เลื่อนเป็น พระเจ้าโมโหตรประเทศฯ  พระยาน่าน เจ้าเมืองน่าน เลื่อนเป็น เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ  พระยาละครเมืองนครลำปาง เลื่อนเป็น เจ้าวรญาณรังสีฯ เป็นต้น  ด้านการป้องกันภัยจากภายนอก โปรดให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม เป็นคูเมืองพระนคร โดยมีป้อมรายเรียงเป็นระยะ ส่วนความพร้อมด้านกำลังพลนั้น มีพระราชดำริตั้งแต่ปีแรกในรัชกาลให้รวบรวมไพร่พลมาฝึกหัดการทหารให้เข้มแข็ง และโปรดให้จัดหายุทโธปกรณ์สมัยใหม่ให้เพียงพอที่จะรักษาพระนคร เช่น ปืนใหญ่ และ ปืนประเภทต่างๆ รวมถึงเรือสำปั้นใบ เรือกำปั่นรบกลไฟ และเรือการ Boat การปกครองราชการบ้านเมืองในแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 4 จึงมีเอกภาพและมีความมั่นคงตลอด 17 ปี

เปลี่ยนเศรษฐกิจไทยเป็นระบบอินเตอร์ฯ

ปี พ.ศ.2395 ประเทศเพื่อนบ้านกำลังถูกชาติตะวันตกคุกคาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงเห็นว่าประเทศในทวีปเอเชียจะคงอยู่ได้ ต้องยอมรับและนำอารยธรรมของประเทศตะวันตกมาปรับปรุงประเทศของตนให้ทันสมัย ทำให้ประเทศไทยไม่ถูกคุกคาม ปี พ.ศ.2398 ทรงลงพระนามในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีการค้ากับประเทศอังกฤษ ซึ่งมีเซอร์จอห์น เบาว์ริง เป็นราชทูตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เข้ามาเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาเก่าที่ เฮนรี่เบอร์นี่ ทำไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นที่มาของการเรียกสนธิสัญญานี้ว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ จากเศรษฐกิจแบบพอยังชีพเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจการตลาด เศรษฐกิจการค้าระดับโลก

ทรงให้ประกาศแก่ราษฏรรับรู้ถึงผลกระทบของสนธิสัญญาฉบับนี้ โดยเฉพาะปัญหา “ข้าว” เช่น ให้ซื้อข้าวไว้เมื่อยังมีราคาถูก จะได้ขายมีกำไร  เมื่อขายข้าวออกต่างประเทศ หรือหากปีใดมีราคาสูงขึ้น ก็ซื้อไว้เสียก่อน จะได้มีเพียงพอบริโภค การอนุญาตให้ส่งข้าวออกได้อย่างนี้ ทำให้สยามเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก มีลูกค้าวาณิชเข้ามาค้าขายจำนวนมาก และเพื่อความคล่องตัวในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย จึงมีพระบรมราชานุญาต ให้ใช้เงินเหรียญนอกได้ ซึ่งในที่สุดมีพระราชดำริให้ผลิตเงินเหรียญขึ้นใช้เอง ภายในเวลา 5 ปี มีเหรียญกษาปณ์ ออกมาใช้พอเพียงหลายราคา ทั้งเงินเหรียญ ดีบุก ทองคำ และ ทองแดง

สร้างพระนครคีรีที่เพชรบุรี

นอกจากทอดพระเนตรบ้านเรือนของราษฎรแล้ว ปัญหาการปักปันเขตแดนตามหลักวิชาการของชาติตะวันตก ซึ่งใช้แม่น้ำ ภูเขา เป็นแนวเขต  ทรงคาดการณ์ว่าอาจเป็นปัญหาด้านความมั่นคง เพราะมีความไม่แน่ชัด จึง เสด็จไปหัวเมืองตะวันตกถึงเมืองกาญจนบุรี ในปี 2407 เพื่อดูความพร้อมหากมีเหตุคับขันเกิดขึ้น พระราชนิยมการเสด็จประพาสหัวเมือง มีที่มาของการสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐาน  เช่น พระราชวังท้ายพิกุล ที่พระพุทธบาทจ.สระบุรี   พระราชวัง ณ พระที่นั่งเก่าในพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี  โปรดฯ ให้บูรณะวังจันทรเกษมขึ้นใหม่ ที่พระนครศรีอยุธยา  และโปรดฯ ให้สร้างพระนครคีรี ที่เมืองเพชรบุรี เป็นพระราชวังบนเขา เสด็จไปประทับแรมเป็นประจำทุกปี

ตัดถนนพัฒนาการคมนาคม

ปี พ.ศ. 2440  โปรดให้สร้างถนนเพื่อประโยชน์แก่ชุมชนชานพระนคร โดยมีพระราชดำริว่า  “…พวกยุโรปเข้ามาอยู่ในกรุงมากขึ้นทุกปีๆ ด้วยประเทศบ้านเมืองเขา มีถนนหนทางก็เรียบลื่นสะอาดไปทุกบ้านทุกเมือง บ้านเมืองของเรามีแต่รกเลี้ยวตรอกเล็กซอกน้อย หนทางก็เปรอะเปื้อน ไม่เป็นที่เจริญหูเจริญตา ดูเป็นที่อัปยศ แก่ชาวนานาประเทศ…”  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำทางต่อถนนตามพระราชดำริ พระราชทานว่า ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง และ ถนนเฟื่องนคร เชื่อว่าทำพร้อมกัน แต่ลงมือสร้างทีละตอน เมื่อแล้วเสร็จเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก โปรดให้มีการฉลอง มีงานมหรสพหน้าพระที่นั่งไชยชุมพล แล้วเสด็จประพาสถนนที่สร้างใหม่ทุกสาย จนถึงวันนี้ลำคลองถนนสายต่างๆ ทั้งในพระนครและหัวเมืองที่โปรดให้ขุดและตัดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอายุกว่า 100 ปี แล้ว แต่ยังคงมีประโยชน์ในการสัญจรโดยสะดวก

พระอัจฉริยะด้านดาราศาสตร์

ปี พ.ศ. 2441 นายแพทย์แซมมวล เรโนลด์ เฮาส์ เมื่อครั้งไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระผนวช ประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บันทึกถึงพระอัจฉริยะด้านดาราศาสตร์ ซึ่งพระองค์ทรงศึกษาจากตำราต่างประเทศอย่างจริงจัง บันทึกดังกล่าวระบุว่า “…ข้าพเจ้าได้เหลียวไม้มองรอบๆ ห้อง  พจนานุกรมเวบสเตอร์  ตั้งอยู่เคียงกันบนชั้นที่โต๊ะเขียนหนังสือ ยังมีดาราศาสตร์และการเดินเรือวางอยู่ด้วย ส่วนข้างบนอีกโต๊ะหนึ่งมีแผนผัง อุปราคา ที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไป มีรายการคำนวณเขียนไว้ด้วยดินสอ…” นอกจากนี้แล้ว  เมื่อยังทรงพระเยาว์  โปรดการสังเกต ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของนักวิทยาศาสตร์  ทรงมีความสนพระทัยในด้านดาราศาสตร์ เมื่อเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรในหัวเมือง จึงโปรดให้สร้างหอดูดาวไว้ ณ พระราชวังต่างๆ  เกือบทุกแห่ง  พระราชอัจฉริยะภาพทางดาราศาสตร์ครั้งสำคัญ คือทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาไว้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำ ว่าจะเห็นได้ชัดที่ตำบลหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411

นอกจากนี้แล้ว ยังทรงเป็นนักโหราศาสตร์อีกด้วย ทรงแต่งตำราทางโหราศาสตร์ที่เรียกว่า “เศษพระจอมเกล้า” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตำราที่ได้รับการยอมรับว่าแม่นยำ และทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น “พระบิดาแห่งโหราศาสตร์ไทย” ทรงใส่พระทัยกวดขันคนไทยให้ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ทรงสนับสนุนโรงเรียนของหมอสอนศาสนาที่เข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทย เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ภาษา อรรถคดี และวิทยาการของชาติตะวันตก ทรงพระกรุณาส่งข้าราชการระดับบริหารไปศึกษางานที่จำเป็นสำหรับราชการไทยในต่างประเทศ  และโปรดเกล้าฯ จัดตั้งโรงอักษรพิมพการขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ผลิตข่าวสารของทางราชการเผยแพร่ให้ราษฎรได้ทราบทั่วถึงกัน ใช้ชื่อว่า “ราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งยังคงพิมพ์มาจนถึงปัจจุบัน

เสด็จสวรรคตเมื่อครองราชย์ได้ 17 ปี

ปี พ.ศ. 2441 ตรงกับ วันพฤหัสบดี  ที่ 1 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตหลังเสด็จกลับจากการสังเกตการณ์การเกิดสุริยุปราคา ท่ามกลางความโศกเศร้าของราษฎร รวมพระชนมายุ 64 พรรษา ตลอด ระยะเวลา 17 ปี ที่เสด็จขึ้นครองราชย์นั้น ประเทศสยามมีความเจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์ สุขและสันติ

***************************************

มติชนอคาเดมี จัดทัวร์ One Day Trip

Back to History : คิงมงกุฎ

พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช

วันที่ 21 ธันวาคม 2562

วิทยากร : ผศ.พิชญา สุ่มจินดา  ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมชม…

วัดราชประดิษฐฯ วัดแห่งแรกสำหรับธรรมยุตินิกาย  สักการะ “พระพุทธสิหังคปฏิมากร

วัดราชาธิวาส วัดที่เคยประทับขณะทรงออกผนวช ยกย่องว่าพระอุโบสถงดงามยิ่งนัก

วัดบรมนิวาส  วัดป่าในเมืองของรัชกาลที่ 4 คู่วัดบวร  มีภาพจิตรกรรมฝาผนังล้ำค่า

วัดปทุมวนาราม ร.4 ทรงสร้างถวายสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี จิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสมัย ร.4

และ อื่นๆ อีกมากมาย…ฯลฯ

ร่วมฟัง…

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้รับการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช”

แต่ เรื่องราว…กว่าจะได้เป็น “มหาราช” นั้น หลากหลายเหลือคณนา…

ทรงสละราชสมบัติให้รัชกาลที่ 3 ขึ้นเป็นกษัตริย์แทนจริงหรือ ?

ทรงขอผนวชอยู่ในสมณเพศถึง 24 ปี จริงหรือ ?

เมื่อขึ้นครองราชย์ “สเตรทส์ ไทม์” หนังสือพิมพ์ สิงคโปร์ ถึงกับลงข่าว

เมื่อครองราชย์แล้ว ยังต้องให้มี “กษัตริย์ 2 พระองค์” ทำไม ?

ทรงเชิดชูชาติตะวันตก  ทรงวางรากฐานยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5 ?

 

ร่วมติดตาม ค้นหาข้อเท็จจริง ไปกับ “มติชนอคาเดมีทัวร์”

สอบถามรายละเอียดได้ที่…

โทร: 0-2954-3977-84  ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

มือถือ 08-2993-9097, 08-2993-9105