อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช กับมุมมอง “จิ๋นซี” “ไม่มีจิ๋น…ไม่มีจีน”

Culture ศิลปวัฒนธรรม

ข้อมูลตามประวัติศาสตร์จีน บันทึกไว้ว่า “จิ๋นซีฮ่องเต้” หรือ “ฉินสื่อหวงตี้” มีชื่อเดิมว่า “อิ๋งเจิ้ง” มีที่มาของชาติกำเนิดไม่แน่ชัด บางข้อมูลบอกว่าอาจเป็นบุตรของ “จื่ออี้” ชาวแคว้นฉินซึ่งถูกจับมาเป็นตัวประกันที่แคว้นจ้าว ขณะที่ข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่า อิ๋งเจิ้ง เป็นบุตรชายของพ่อค้าคนหนึ่งที่ต่อมาเติบโตเป็นเสนาบดีคนสำคัญของแคว้นฉิน กับมารดาที่เป็นนางสนมชื่อ “เจ้าจี” อิ๋งเจิ้งถือกำเนิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 283 หรือ 260 ปีก่อนคริสตกาล ในปลายยุคจ้านกว๋อ หรือยุคสงคราม (ยุคที่ 2 ของสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก) ยุคนี้ประเทศจีนยังไม่รวมเป็นหนึ่งเดียว หากแต่แตกเป็นเสี่ยงๆ แบ่งออกเป็นถึง 7 รัฐใหญ่ๆ และทำศึกสงครามกันอย่างยืดเยื้อยาวนานกว่า 500 ปี

“รัฐฉิน” ของจิ๋นซีนั้นอยู่ฝั่งตะวันตกและเป็นรัฐที่ทุรกันดารและล้าหลังที่สุด จนกระทั่งการขึ้นครองบัลลังก์ของ อิ๋งเจิ้ง จึงได้รวบรวมจีนให้เป็นหนึ่งเดียว พร้อมกับสถาปนา “รัฐฉิน” ขึ้น จิ๋นซีได้พัฒนารัฐฉินให้เป็นรัฐที่เจริญและเรืองอำนาจ มีอิทธิพลมาก และจากนั้นได้เปลี่ยนพระนามตนใหม่ ว่า “ฉินสื่อหวงตี้” (จิ๋นซีฮ่องเต้) โดยการรวมคำว่า “หวง” ที่แปลว่า “กษัตริย์” เข้ากับคำว่า “ตี้” ที่แปลว่า “จักรพรรดิ” เป็นคำเรียกใหม่ที่กษัตริย์จีนใช้เรียกตัวเอง

จิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นพระนามกษัตริย์จีนที่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันอย่างมาก ผ่านทางละครโทรทัศน์ และซีรีส์ดังหลายเรื่อง โดยเฉพาะความยิ่งใหญ่ของ “สุสานจิ๋นซี” ที่เล่าลือกันมาหลายทศวรรษ ซึ่งบัดนี้ได้นำมาจัดแสดงในประเทศไทย โดยกรมศิลปากร เปิดเป็นนิทรรศการ ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 15 ธันวาคม 2562 ระหว่างเวลา 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร)

ก่อนจะเดินทางไปถึงนิทรรศการดังกล่าว “ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช” จากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในวิทยากรเสวนาเรื่อง “เปิดกรุสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ ไม่มีจิ๋น…ไม่มีจีน” จัดโดย “มติชนอคาเดมี” ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับจิ๋นซีและราชวงศ์ฉินไว้อย่างน่าสนใจ

“ถ้ามองถึงบทบาทจีนในโลกปัจจุบัน เรามองเห็นบทบาททางด้านเศรษฐกิจอยู่แล้ว แน่นอนว่าจีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ ประชากรมาก และอำนาจการบริโภคสูง การผลิตก็สูงเหมือนกัน ช่วงปัจจุบันจีนมีผลต่อด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ขณะที่ในอดีตจีนมีบทบาทในเรื่องการเป็นเจ้าแห่งวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นคนมักจัดอันดับว่าวัฒนธรรมจีนอยู่ใน 4 วัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลก  ความยิ่งใหญ่ในที่นี้จีนส่งผ่านทั้งเรื่องการติดต่อระหว่างรัฐ เรื่องของผู้คนที่ติดต่อกัน ระดับชาวบ้าน พ่อค้า เพราะฉะนั้นอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมจะพบในด้านการค้าในบ้านเรา หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้แต่ในทวีปอื่นๆ ยุโรปก็ยังมีที่รับเอาเรื่องการผลิตเซรามิกไป”

อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช

“..สำหรับยุคของ จิ๋นซีฮ่องเต้ หรือ ฉินสื่อหวงตี้ จริงๆ แล้ว บางคนอาจจะมองว่าเป็นยุค Negative หรือเป็นด้านลบที่ทำให้วัฒนธรรมบางอย่างของจีนในสมัยโบราณหายไป เพราะว่าในช่วงเวลาที่จิ๋นซีฮ่องเต้ขึ้นครองราชย์ จะเผาตำรา ฆ่านักปราชญ์ เพราะโจวตะวันออกวุ่นวายมาก บ้านเมืองไม่สงบสุข จิ๋นซีมองว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองแตกแยก คือมีการมองต่างกันเยอะของพวกนักปราชญ์ทั้งหลาย ก็เลยฆ่านักปราชญ์ทิ้ง เผาตำราทิ้ง ทำให้วัฒนธรรมเก่าๆ ของจีนช่วงนั้นหายไป บางคนจึงคอมเม้นท์ในแง่ลบ แต่ว่าความยิ่งใหญ่ของจิ๋นซีก็มีคุณูปการในยุคหลังหลายอย่าง เช่น เรื่องของตัวอักษรจีน เมื่อก่อนที่ราชวงศ์ฉินจะเกิดขึ้น จีนมีตัวอักษรใช้ประมาณ 7-8 แบบด้วยซ้ำ อย่างคำว่า ม้า รัฐหนึ่งเขียนแบบหนึ่ง อีกรัฐก็เขียนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่มีจิ๋นซี ไม่แน่ว่าปัจจุบันคนเรียนภาษาจีนอาจจะต้องเรียนอักษรจีนถึง 8 แบบด้วยกัน  นอกจากนี้ จิ๋นซียังเป็นผู้วางเรื่องมาตราชั่ง ตวง วัดต่างๆ ระบบต่างๆ ซึ่งเรื่องของตัวอักษรก็ดี เรื่องมาตราชั่งตวงวัดก็ดี มีอิทธิพลกับวัฒนธรรมในยุคหลังอย่างมาก ดังนั้นก็เหมือนกับคำโปรยเรื่องที่ว่า …ไม่มีจิ๋น ไม่มีจีน ยุคจิ๋นซีจึงเป็นรากฐานสำคัญอันหนึ่งของจีน…”

“…ในส่วนของงานศิลปกรรม เนื่องจากช่วงเวลายุคของจิ๋นซีค่อนข้างสั้น ปกครองอยู่เพียง 15 ปีเท่านั้น พวกงานศิลปกรรม ต่างๆ โดยธรรมชาติก็ไม่มีเหลือแล้ว  อย่าลืมว่างานศิลปกรรมยุค  โบราณมากๆ มักไม่ค่อยเหลือหลักฐานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระราชวัง วัด โบราณสถาน เพราะว่ามีเรื่องศึกสงคราม แต่ว่าเรายังสัมผัสความยิ่งใหญ่ของจิ๋นซีได้จากสุสานที่ค้นพบ ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก เห็นได้จากตุ๊กตาดินเผามีขนาดใหญ่เท่าคนจริง แม้แต่รถม้าสำริดก็ตาม สะท้อนให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของจิ๋นซี  แต่อีกมุมมองหนึ่งที่อยากให้มอง คือ ถ้าไม่มียุคก่อนจิ๋นซี ก็ไม่มีจิ๋นซีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จริงๆแล้วนิทรรศการคราวนี้ที่จัดขึ้นไม่ได้มีแค่ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ แต่จะมีประวัติศาสตร์ที่เล่าตั้งแต่ช่วงโจวตะวันออก แล้วมายุคจิ๋นซีที่เกิดรัฐฉินขึ้นจะเห็นพัฒนาการที่สืบต่อกันมาจนเกิดเป็นความยิ่งใหญ่ของจิ๋นซี ของราชวงศ์ฉิน รวมไปถึงราชวงศ์ฮั่น ในห้องสุดท้ายที่เป็นห้องราชวงศ์ฮั่นตะวันตก

เป็นการแสดงให้เห็นว่าหลังจากราชวงศ์ฉินแล้วมีการสืบทอด มีการพัฒนา มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งหมดทั้งปวงเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมจีนยิ่งใหญ่จริงๆ น่ะ มันมีข้างหน้า ข้างหลัง ไม่ได้ลอยขึ้นมา..”

ดร.อชิรัชญ์ กล่าวขยายถึงอิทธิพลจีนที่ไทยได้รับ ว่าหากเป็นเรื่องของราชวงศ์ฉินแล้ว ไม่ค่อยมีอะไรเกี่ยวพันกับประเทศไทยนัก แต่มามีในยุคหลัง เช่น ยุคราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หยวน ไทยเริ่มมีการติดต่อกับจีน ที่เห็นได้ง่ายที่สุด คือพวกเครื่องถ้วยสังคโลกทั้งหลายที่รับอิทธิพลจากจีน หรือราชวงศ์หมิง

ราชวงศ์ชิง ที่ร่วมกับสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ จะเห็นศิลปะจีนที่เข้ามามีผลต่อวัฒนธรรมไทยโดยตลอด เรื่องของระบบบรรณาการ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผู้คนที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทย จะเห็นว่าวัด โดยเฉพาะวัดในสมัยรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 3 ราชสำนักสยามรับเอาศิลปจีนเข้ามาใช้ หรือแม้แต่ชีวิตเราเองในปัจจุบัน ก็มีคติความเชื่อของคนจีนซึมแทรกอยู่

ง่ายๆ คือ คติเรื่องความตาย โลกหลังความตาย ปัจจุบันคนไทยยังไปไหว้บรรพบุรุษช่วงวันเช็งเม้ง ความเชื่อเรื่องนี้ก็มาจากเรื่องความเชื่อโลกหลังความตายนั่นเอง  คตินี้มีมาตั้งแต่ราชวงศ์โจว ตะวันออก ราชวงศ์ฉิน สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้แสดงให้เห็นความเชื่อเรื่องนี้อยู่ โดยเชื่อว่าโลกของคนเป็น เป็นอย่างไร  โลกของคนตายก็เป็นอย่างนั้น คือมีความเท่าเทียมกัน “…จิ๋นซีฮ่องเต้สร้างกองทัพทหารตุ๊กตาดินเผา ก็เพราะในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เขามีกองทัพที่ยิ่งใหญ่ ตอนตายก็ต้องมีกองทัพทหารไปรับใช้  ถามว่าบ้านเราที่เผากงเต๊กส่งให้คนตายทุกวันนี้ ก็เท่ากับการสร้างตุ๊กตาทหารดินเผานั่นแหละ ก็เหมือนกัน ที่จริงมันมีอีกหลายมิติ…”

นิสัยเรื่องค้าขายเก่งถือเป็นอิทธิพลที่สืบทอดต่อกันมาด้วยหรือไม่? เป็นคำถามที่เกี่ยวเนื่องถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจารย์อชิรัชญ์มองว่าเรื่องค้าขายมีทั้งสองระดับ คือ ค้าขายระหว่างราชสำนักและระดับชาวบ้าน ราชสำนักเป็นเรื่องของการตอบแทน เช่น ราชสำนักสยามส่งเครื่องบรรณาการไปให้จีน ทางจีนก็ตอบแทนโดยบอกว่าอยากซื้อสินค้าหรือสิ่งของอะไรที่ท่าเรือ ก็ซื้อเอากลับไปขายที่บ้านตัวเองได้ ไม่ว่ากัน บรรณาการก็เหมือนการแลกเปลี่ยนสินค้าเบื้องต้น แต่ประเด็นคนจีนค้าขายเก่ง อาจสืบเนื่องมาจากการที่คนจีนอพยพมาอยู่ประเทศไทยค่อนข้างมีอิสระกว่าคนพื้นถิ่น ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน และเนื่องจากจะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพคนจีนเลยทำทุกอย่าง ไม่ว่าเป็นกรรมกร ทำสวน หรือแม้แต่เป็นช่างฝีมือ ก็มี และว่าด้วยระบบวิถีวัฒนธรรมสยามโบราณไม่นิยมให้คนสยามไปค้าขาย จะเน้นให้คนรับราชการมากกว่า ทำให้เรื่องค้าขายกลายเป็นสิ่งที่คนจีนรับมาทำแทน “…คือคนไทยมองว่าทำไมต้องค้าขายไปรับราชการดีกว่า แต่ว่าสมัยนี้สลับกันแล้ว ไปค้าขายดีกว่า อย่ารับราชการเลย…” กล่าวด้วยเสียงหัวเราะ

สิ่งที่นักโบราณคดีขุดค้นได้ในเวลานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสุสานอันน้อยนิดเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่สุสานยังกว้างใหญ่ไพศาลกว่านี้มาก ยังขุดค้นไม่หมด เป็นคำบอกเล่าถึงขนาดสุสานของจิ๋นซี ซึ่ง ดร.อชิรัชญ์ เล่าเพิ่มเติม ว่าตุ๊กตาทหารพวกนี้เป็นแค่หลุมขุดค้นเล็กๆ ประมาณ 3 หลุม ที่ปัจจุบันนี้เปิดให้คนข้างนอกได้เข้าไปดู  แต่ต่อจากหลุมพวกนี้ไปที่เนินดินสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ ต้องนั่งรถไปใช้เวลา 10 กว่านาทีถึง ฉะนั้น แสดงว่าพื้นที่มีขนาดใหญ่มาก ตุ๊กตาทหารเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง

“นอกจากหลุมตุ๊กตาทหารดินเผาแล้ว ยังมีหลุมอื่นๆ ที่อยู่ใกล้บริเวณเนินดินขุดเจอทั้งรถม้าสำริด หรือชุดเกราะก็อยู่ในส่วนบริเวณที่เป็นกำแพง แต่ตุ๊กตาทหารอยู่นอกกำแพงซึ่งยังมีอีกมาก คือเวลาคนโบราณเขาสร้างสุสานเขาจะขุดห้องลงไปเป็นห้องใต้ดิน แล้วสร้างเนินดินเป็นหลุมฝังศพ ของจิ๋นซีฮ่องเต้นี่การสร้างสุสาน สร้างเป็นพระราชวัง เพราะฉะนั้นห้องสุสานก็คือตัววัง คือเขตพระราชฐานด้านใน มีกำแพงวังอยู่สองชั้นขนาดใหญ่มาก แล้วในกำแพงจะมีหลุมต่างๆ ที่ฝังศพและสิ่งของ ฝังสัตว์ก็มี เช่น ขุดพบหลุมโครงกระดูกนก สัตว์ต่างๆ เพื่อแทนสวนสัตว์  มีหุ่นขุนนางทั้งฝ่ายบุ๋น ฝ่ายบู๊  หรือแม้แต่หลุมฝังนางสนม คนรับใช้ ให้ตายตามลงไป อย่างนี้เป็นต้น…”

เพราะฉะนั้น เรื่องราวที่กล่าวมานี้ ถือเป็นเพียง “น้ำจิ้ม” ถ้วยเล็ก ที่นำมาให้ลองชิมลิ้มลองกันไปก่อน หากอยากจะลิ้มรสน้ำพริกถ้วยใหญ่ รสชาติจัดจ้านจี๊ดจ๊าดอย่างไร คงต้องไปดูให้เห็นเองกับตา เพราะคราวนี้กว่าเขาจะขนย้ายมาจัดเป็นนิทรรศการได้ ต้องใช้ทั้งงบประมาณมหาศาลและผู้คนจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาได้ง่ายๆ  ไหนๆ เมื่อโอกาสมาถึงแล้วจึงอยากให้ได้ไปดูกันทุกคน