ลมหายใจ “หนังใหญ่” วัดสว่างอารมณ์ มหรสพชั้นครูที่ (เกือบ) ถูกลืมเลือน

Culture ศิลปวัฒนธรรม

“หนังใหญ่” อีกหนึ่งมหรสพไทยโบราณที่คนรุ่นใหม่น้อยคนจะรู้จัก ด้วยมีอุปสรรคหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขาดผู้สืบทอด ราคาตัวหนังที่ค่อนข้างแพง ช่างทำหนังที่นับวันเหลือน้อยลงทุกที ทำให้หนังใหญ่เกือบจะกลายเป็นศิลปะอีกแขนงที่ถูกลืมเลือน

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยก็ยังมีการอนุรักษ์หนังใหญ่ไว้ 3 แห่งด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือที่ “พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดสว่างอารมณ์” หรือที่โบราณเรียกวัดบางมอญ อ.เมืองสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี ที่ใช้พื้นที่ชั้นบนของศาลาการเปรียญของวัดมาจัดแสดงตัวหนังใหญ่ ที่รวบรวมชุดเก่าแก่จากฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลายเกือบ 300 ตัว มาตรึงบนผืนผ้าสีขาวขนาดใหญ่ สร้างเป็นตู้ไม้พร้อมหลอดไฟส่องสว่างอยู่ภายใน เพื่อให้เห็นลวดลายของหนังใหญ่ได้อย่างชัดเจนและสวยงาม โดยแบ่งออกเป็น 4 ชุด คือ 1.ชุดศึกมงกุฎ-บุตรลพ (พระมงกุฎ – พระลพ) 2.ชุดนาคบาศ 3.ชุดศึกใหญ่ (ศึกทศกัณฐ์ ครั้งที่ 5) และ 4.ศึกวิรุญจำบัง

จุดเริ่มต้นกำเนิดของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ที่วัดสว่างอารมณ์นี้ “คณิต ภักดี” ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์และครูผู้ถ่ายทอดหนังใหญ่ วีัดสว่างอารมณ์ เล่าให้ฟังว่า หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์มีความเป็นมากว่าร้อยปีแล้ว ตั้งแต่ครั้งพระครูสิงหมุนี หรือหลวงพ่อเรือง เจ้าอาวาสองค์แรก เป็นผู้รวบรวมหนังใหญ่จากฝีมือช่างในสมัยอยุธยาตอนปลายไว้ โดยตัวหนังใหญ่ส่วนหนึ่งได้จากการบริจาคเงินของมหาเพียร ปิ่นทอง, ซื้อจากบ้านดาบโก่งธนู จังหวัดลพบุรี บางส่วนซื้อจากวัดตึก ซึ่งเป็นวัดอยู่ทางฝั่งตรงข้ามวัดสว่างอารมณ์ และอีกส่วนหนึ่งได้จากครูเปีย หัวหน้าคณะหนังเร่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากผู้แสดงมหรสพในวังสมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้นเสียกรุงศรีอยุธยาจึงได้อพยพหนีภัยสงคราม เร่แสดงมหรสพตามที่ต่างๆ ได้นำหนังใหญ่มาถวายหลวงพ่อเรือง และยังได้ฝึกหัดการเชิด การพากย์หนังใหญ่ให้กับชาวบ้านบางมอญ จนมีชื่อเสียงสามารถถ่ายทอดความรู้สืบต่อกันมา

คณิต ภักดี

“ถึงแม้จะมีการแสดงเชิดหนังใหญ่ แต่ที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น คือรูปแบบการเชิดหนังก็ยังเป็นรูปแบบเก่า ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ประยุกต์ การแสดงทุกอย่างแม้แต่คำพากย์ การเชิด การรำ ของเราเป็นแบบเดิม เพราะเรากลัวจะไปเนรคุณบรรพบุรุษที่เขาสืบมา เพราะเขาสั่งว่าอย่าไปเปลี่ยนแปลง อีกอย่างเพราะตัวหนังเป็นตัวละครอยู่แล้ว คนเชิดเป็นเพียงคนที่พาหนังออกไป การที่คนเชิดทำท่าทางมากไปเท่ากับเป็นการเหยียบครูหนัง เนื่องจากเวลาทำตัวหนังจะมีการลงเวทย์ลงมนต์ไว้ จึงถือเป็นของมีครู”

ขณะเดียวกัน เนื้อเรื่องอขงอการแสดงหนังใหญ่ที่นี่ยังแฝงไปด้วยหลักธรรม มีโลภะ โทสะ โมหะ มีอุเบกขา บางคนถามอุเบกขาอย่างไร ก็คือการวางเฉยอย่างเช่นตัวละครพิเภกนั่นเอง”

ภูมิปัญญาการทำตัวหนังของที่นี่เรียกว่ายังไม่ได้หายไปไหน เพราะยังมี “คณิต” และลูกศิษย์สืบทอดช่างแกะสลักตัวหนังอยู่ ลวดลายส่วนหนึ่งเป็นการลอกลายจากหนังชุดเก่าที่มีอยู่เดิม และบางส่วนได้ออกแบบลวดลายใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งลักษณะ ความงาม และความหมายของตัวหนังแต่ละตัวเอาไว้

“แต่การจะแกะตัวหนังใหญ่นั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะพระอิศวร พระนารายณ์ พระฤๅษี ต้องแกะให้เสร็จในวันเดียว ไม่เสร็จโยนทิ้ง จะกี่คนแกะก็ได้ ช่วยกันเจาะ ต้องนุ่งขาวห่มขาว ไม่อย่างนั้นไม่ขลัง ตอนนี้ผมยังทำอีก 20 กว่าตัว แต่ยังทับอยู่ ที่ต้องทับเพราะให้ตัวหนังอยู่ตัว ถ้าไม่ทับเดี๋ยวจะถูกความชื้น หนังจะบิดได้ เดี๋ยววันไหว้ครูจะเอาออกมาทำพิธีเบิกเนตร ลงเวทย์ ซึ่งวางแผนว่าจะไหว้ครูเดือนพฤษภาคม 2562 แต่วันที่ที่แน่นอนต้องรอประชุมกับคณะกรรมการอีกครั้ง”

“คณิต” บอกอีกว่า ปัจจุบันที่วัดสว่างอารมณ์เหลือลูกศิษย์ที่อยู่ประจำวัด 10 กว่าคน รับแสดงทั่วราชอาณาจักร และยังมีคนสนใจเข้ามาเรียนอยู่เรื่อยๆ ทั้งเด็กวัยประถม มัธยม หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ยังมี โดยสอนตั้งแต่การแกะตัวหนัง การพากย์ การเชิด การเล่นดนตรีวงปี่พาทย์

“จะทำหนังได้ใช้เวลาเรียนไม่นาน แต่บางคนก็ไม่เป็น แล้วแต่ทักษะ พรสวรรค์แต่ละคน บางคน 3-4 วันเป็นแล้ว บางคนเป็นปีก็ไม่เป็น”

ถึงแม้จะเป็นที่เก็บรวบรวมหนังใหญ่โบราณเกือบ 300 ตัว จัดแสดงมากว่า 100 ปี แต่ที่นี่ยังเป็นการดูแลโดวัดและชุมชน คืออาศัยการพึ่งตัวเอง

“เด็กมาเรียนก็สอนฟรี แถมต้องหาให้เขากิน ทุนก็ไม่มี รายได้ก็มาจากการจ้างแสดง และที่คนช่วยหยอดตู้บริจาค แต่ที่ยังทำอยู่เพราะเราเป็นคนที่นี่ และหนังใหญ่ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องอนุรักษ์ และสืบสานให้ลูกหลานรุ่นต่อไป”

เป็นอีกหนึ่งลมหายใจในแวดวงศิลปะไทยที่แผ่วบาง แต่ก็ยังไม่หมดไฟและรอวันลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง!