‘ทุ่งเศรษฐี’เมืองเพชร กับนิทาน‘เจดีย์เก็บทองคำ’สู่การขุดพบโบราณสถานยุคทวารวดี

Culture ศิลปวัฒนธรรม

เพชรบุรีเป็นอีกจังหวัดที่เจริญรุ่งเรืองแต่ครั้งโบราณ ด้วยปรากฏหลักฐานเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมทวารวดี มีการสำรวจพบโบราณวัตถุในวัฒนธรรมทวารวดีกระจายอยู่ในลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีจำนวนมาก เป็นกลุ่มในพื้นที่ที่เอื้อต่อการตั้งถิ่นฐานบริเวณเขตที่ราบและที่ราบเชิงเขาที่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำและชายฝั่งทะเลมากนัก ตำแหน่งที่ตั้งของกลุ่มชุมชนโบราณเหล่านี้น่าจะสัมพันธ์กับเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ

แหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีที่สำรวจพบในเขตจ.เพชรบุรี อาทิ กลุ่มโบราณสถานทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบชายฝั่งทะเลตอนใต้ของ จ.เพชรบุรี ในเขตอ.ชะอำ รวมทั้งยังพบร่องรอยการอยู่อาศัยบริเวณแหล่งชุมชนโบราณบ้านโคกเศรษฐี กลุ่มแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ติดกับชายฝั่งทะเล อยู่ในเส้นทางการเดินเรือและเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่จะเข้าสู่ดินแดนภาคกลาง จึงเป็นจุดแวะพักที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

กล่าวถึงเนินโบราณสถานทุ่งเศรษฐีนั้น ชาวบ้านในแถบนี้รู้จักและพบเห็นกันมาเป็นเวลานาน โดยมีนิทานปรัมปราพื้นบ้าน ที่คนในท้องถิ่นเล่าสืบต่อกันมาถึงประวัติการสร้าง ว่า

เศรษฐีผู้หนึ่งใช้เกวียนเป็นพาหนะบรรทุกทองคำและทรัพย์สมบัติอันมีค่าเดินทางผ่านมายังบริเวณทุ่งเศรษฐีปรากฏว่าเกวียนที่ใช้ขนทองคำเกิดหักลงเศรษฐีจึงขอให้ชาวบ้านช่วยตัดไม้มาซ่อมแซมเพื่อที่จะได้เดินทางต่อไป แต่เมื่อพวกชาวบ้านทราบว่าเศรษฐีขนทรัพย์สมบัติมาจึงเกิดความละโมบ และออกอุบายสมคบกันตัดเอาต้นสบู่ซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนมาซ่อม เมื่อซ่อมเสร็จจะเดินทางต่อเกวียนก็หักลงอีก เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้งจนเศรษฐีเฉลียวใจและรู้ทันว่าชาวบ้านสมคบกันจะเอาทรัพย์สมบัติของตน จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งแล้วแอบนำทองคำและทรัพย์สมบัติไปซ่อนไว้ภายในองค์เจดีย์พร้อมกับสาปแช่งคนที่มา ลักขโมยทรัพย์สินไว้

จากนิทานปรัมปรา ทำให้มีการขุดทำลาย เนินโบราณสถานทุ่งเศรษฐี เพื่อค้นหาทรัพย์สมบัติตามเรื่องราวกันหลายครั้ง ครั้งที่อึกทึกครึกโครมที่สุดคือเมื่อปี 2528 ในจำนวนโบราณวัตถุที่พบจากการลักลอบขุดทั้งหมดไม่พบทองคำหรือทรัพย์สมบัติที่มีค่าแต่อย่างใดนอกจากซากของฐานเจดีย์ก่ออิฐและโบราณวัตถุจำพวกประติมากรรมปูนปั้น รูปพระโพธิสัตว์บุคคล คนแคระ มกร และลวดลายประดับสถาปัตยกรรม

จำนวนของประติมากรรมปูนปั้นนั้น ว่ากันว่ามีปริมาณมากหลายคันรถบรรทุก รูปประติมากรรมบางชิ้นชาวบ้านนำมาทุบให้แตกออกเนื่องจากคิดว่ามีทองคำซ่อนอยู่ข้างในแล้วนำกลับมาถมคืนไว้ในหลุมที่ถูกขุดกลางโบราณสถาน ชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นบางส่วนได้ถูกนำไปเก็บรักษาหรืออยู่ในความครอบครองตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครคีรี สำนักสงฆ์ทุ่งเศรษฐี วัดบรรพตาวาส จ.เพชรบุรี และโรงงานเถ้าฮงไถ่ จ.ราชบุรี

ลักษณะรูปแบบของโบราณสถานทุ่งเศรษฐีเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ก่ออิฐสอดิน ฉาบปูน เหลือหลักฐานอยู่เพียงส่วนฐานที่มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้าง 25 × 25 เมตรความสูง 5 เมตร วางอยู่ในแนวตะวันออกและตะวันตก

มีเจดีย์ประกอบด้วยฐานประทักษิณขนาดความกว้าง 3.40 เมตร ยาว 25 เมตร สูง 1 เมตร มีบันไดบริเวณกึ่งกลางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ขนาดความกว้าง 2.50 เมตรยื่นออกจากฐานประทักษิณ 2.30 เมตร ผนังด้านข้างของฐานประทักษิณมีฐานบัวลูกแก้วรองรับผนังก่ออิฐซึ่งมีเสาประดับผนังเป็นช่วงๆห่างกันประมาณ 82 – 86 เซนติเมตร พื้นลานประทักษิณด้านบนปูด้วยแผ่นอิฐ ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 1 ชั้น ขนาดความกว้าง 18.80 × 18.80 เมตร รองรับฐานขององค์เจดีย์ซึ่งมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จ

บริเวณกึ่งกลางด้านและมุมทั้งสอง ฐานองค์เจดีย์เป็นชุดฐานหน้ากระดานซ้อนกัน 2 ชั้น รองรับฐานบัวลูกแก้วถัดขึ้นไปเป็นลวดบัวสี่เหลี่ยม 1 ชั้นรองรับท้องไม้ขนาดค่อนข้างใหญ่ มีลวดบัวประดับตรงกึ่งกลาง ลักษณะของลวดบัวเป็นแนวก่ออิฐยื่นออกมาจากท้องไม้จำนวน 3 แถว แถวบนและล่างก่อเรียบ ส่วนแถวกลางก่ออิฐเป็นช่องยื่นสลับกัน บริเวณที่อิฐนูนขึ้นมามีการฉาบปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยมปาดมุม ทำให้เกิดเป็นช่องว่างสลับกับปุ่มนูนโดยรอบ

ถัดจากท้องไม้ขึ้นไปเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมรองรับผนังก่ออิฐที่มีเสาประดับผนังขนาดกว้างต้นละ 37 เซนติเมตร แบ่งส่วนผนังออกเป็นห้องๆกว้างประมาณห้องละ 0.8 เมตร บริเวณช่องว่างของผนังซึ่งอยู่ระหว่างเสานี้ พบหลักฐานซึ่งยังคงติดอยู่ ณ ตำแหน่งเดิมว่ามีการประดับตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระ ขนาดของผนังส่วนล่างนี้สูงประมาณ 50 เมตร เหนือขึ้นไปเป็นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมรองรับผนังก่ออิฐ ซึ่งมีร่องรอยของเสาประดับผนังตกแต่งคล้ายกับผนังส่วนแรก แต่มีความกว้างและความสูงมากกว่า ถัดจากส่วนนี้ขึ้นไปเป็นส่วนบนขององค์เจดีย์มีสภาพชำรุดทลายลงมาเกือบหมด

โบราณวัตถุที่ขุดพบในโบราณสถานทุ่งเศรษฐีมีจำนวนมาก ประกอบด้วย 1.โบราณวัตถุประเภทดินเผา อย่างตะคันดินเผาที่พบจากการขุดแต่งศาสนสถานทุ่งเศรษฐีกว่า 100 ชิ้น ส่วนใหญ่พบที่ฐานศาสนสถาน บริเวณช่องที่เกิดจากการยกเก็จที่กึ่งกลางด้านและมุม สันนิษฐานว่าเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้คงใช้ประโยชน์ในการใส่น้ำมันตามไฟต่างๆในพิธีกรรมทางศาสนาเนื่องจากตะคันดินเผาส่วนหนึ่งมีร่องรอยของคราบเขม่าไฟติดอยู่ที่ก้นหรือตามขอบปาก

รวมถึงพวยกาดินเผา สันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนของหม้อน้ำดื่ม ภาชนะดินเผาแบบนี้พบจากแหล่ง ชุมชนที่อยู่อาศัยสมัยทวารวดีเกือบทุกแห่งเป็นรูปแบบภาชนะที่แพร่หลายเรียกกันว่า หม้อกุณฑี (Kendi) หรือหม้อพรมน้ำ (Sprinklers) ตลอดจนจานดินเผามีเชิงสูง ชามดินเผา อ่างดินเผา หม้อมีสัน หม้อก้นกลม  หม้อดินเผาขนาดใหญ่

ที่น่าสนใจ คือ ตลับรูปแตงหอม เนื้อกระเบื้องเคลือบสีขาวขุ่นผลิตจากประเทศจีน ลักษณะของน้ำเคลือบบาง เห็นรอยแป้นหมุนที่ด้านนอกเป็นวงๆ การพบหลักฐานเรื่องถ้วยเคลือบสีขาวขุ่นที่ผลิตจากประเทศจีน จึงเป็นข้อมูลสำคัญอีกประการหนึ่งแสดงถึงวัตถุที่ถูกนำเข้ามาโดยการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนโบราณในบริเวณนี้กับพ่อค้านักเดินเรือชาวจีน ภายในตลับรูปแตงหอมบรรจุอัฐิสะท้อนถึงพิธีกรรม ความเชื่อเกี่ยวกับความตาย

จากหลักฐานที่มีการพบตลับรูปแตงหอม ซึ่งเป็นเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์สุ้งภาคเหนือ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 17  แสดงถึงความสำคัญของโบราณสถานทุ่งเศรษฐีที่อาจจะมีการใช้ต่อเนื่องตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 มาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 16 17 หรือมีการหวนกลับมาใช้ศาสนสถานบริเวณทุ่งเศรษฐีอีกครั้งหนึ่งในพุทธศตวรรษที่ 16 17

 

2.โบราณวัตถุประเภทโลหะ พระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก จำนวน 1 องค์ สูง 13 เซนติเมตร พระอังสากว้าง 4 เซนติเมตร หนัก 0.3 กิโลกรัม สภาพชำรุด พระเศียร พระกรขวาตั้งแต่พระกรจนถึงพระหัตถ์และส่วนพระบาทหักหาย เหลือเพียงส่วนพระวรกาย ลักษณะเป็นพระพุทธรูปประทับยืนด้วยอาการตริภังค์(เอียงตน) ครองจีวรเรียบห่มคลุมพระหัตถ์ซ้ายจับชายจีวร เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดี มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 และยังพบเหรียญสำริดทรงแบน 1 ชิ้นสภาพชำรุดด้วย

3.โบราณวัตถุที่ทำจากหิน อาทิ ลูกปัดหิน ลักษณะเป็นแก้วผลึกที่เรียกกันว่าหินเขี้ยวหนุมานนำมาร้อยเป็นเครื่องประดับหรือใช้เป็นเครื่องรางของขลัง อาจใช้เป็นของมีค่าแลกเปลี่ยนแทนเงินตราในการค้าขาย

4.โบราณวัตถุประเภทกระดูกสัตว์หรือเปลือกหอย อาทิ หอยสังข์ และเปลือกหอยอีกจำนวนหนึ่ง ในลักษณะเป็นหอยสองฝา ประเภทหอยกาบทะเล หอยแครง และหอยนางรม เป็นโบราณนิเวศน์วัตถุที่สำคัญ แสดงถึงสภาพแวดล้อมชุมชนชายฝั่งทะเล

5.โบราณวัตถุประเภทปูนปั้น ที่พบมากที่สุดคือ ชิ้นส่วนประติมากรรมและลวดลายปูนปั้นโดยเฉพาะส่วนที่ติดอยู่กับฐานเจดีย์ ทั้งหมดอยู่ในสภาพชำรุดแตกหักออกเป็นชิ้นๆจำนวน 1,105 ชิ้น จำแนกตามลักษณะ ดังนี้

พระพุทธรูป จำแนกออกเป็นพระเศียร 18 ชิ้น พระวรกาย 5 ชิ้นแสดงพุทธะลักษณะที่รับอิทธิพลมาจากพระพุทธรูปอินเดียแบบศิลปะสมัยคุปตะราวพุทธศตวรรษที่ 9- 10 และศิลปะสมัยหลังคุปตะราวพุทธศตวรรษที่ 11 -13 เช่น พระพักตร์รูปไข่ คิ้วขมวดพระเกศาเป็นรูปก้นหอยมีขนาดใหญ่ ไม่มีพระรัศมีบนพระเกตุมาลา พระขนงทำเป็นเส้นนูนโค้งติดต่อกันหลายรูปปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งมีขนาดใหญ่ แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย พระอังสากว้าง พระอุระแบนหนา พระวรกายยืดยาว บั้นพระเอวเล็ก พระนาภีเป็นรูกลม จีวรเรียบทั้งแบบห่มคลุมและห่มเฉียงไหล่ซ้าย ขอบสบงด้านบนเป็นสันนูน พระพาหาส่วนใหญ่ชำรุด

จากชิ้นส่วนพระหัตถ์ที่พบ สันนิษฐานว่าแสดงปางประทานอภัยและปางแสดงธรรมเทศนา พบทั้งแบบประทับยืนตรงและประทับยืนด้วยอาการตริภังค์ บริเวณพระพักตร์ของพระพุทธรูปและส่วนพระชงฆ์มีร่องรอยการทาด้วยสีแดงตกแต่ง

ประติมากรรมปูนปั้นรูปเทวดาหรือบุคคลชั้นสูง จำแนกเป็น ส่วนพระเศียร 74 ชิ้น และพระวรกาย 45 ชิ้น โดยพบว่าคงลักษณะรูปแบบที่มีอิทธิพลของศิลปะอินเดีย สมัยราชวงศ์คุปตะและหลังคุปตะ เช่น พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่งต่อกันเป็นรูปคล้ายปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อย สวมศิราภรณ์ประดับลาย พันธุ์พฤกษา กรองศอ และกุณฑล พระวรกายมีลักษณะพระอังสาใหญ่ พระอังสกุฏ(ไหล่)โค้ง พระอุระแบนหนา พระวรกายยืดยาว บั้นพระเอวคอด มีพระอันตคุณ(พุง) เล็กน้อย พระนาภีเป็นรูกลม

ข้อพระหัตถ์สวมทองพระกร พระพาหาประดับด้วยพาหุรัดบางองค์มีสายธุรำหรือสังวาลพาดผ่านลำตัว บางองค์มีสายรัดองค์ ลักษณะการนุ่งผ้าต่ำใต้สะดือ ขอบใช้ผ้าด้านบนหนาเป็นแถบ ชักชายด้านหน้าคาดทับด้วยปั้นเหน่ง ตรงกลางมีแถบชายผ้าหน้านางห้อยลงมา จากการสังเกตพระพักตร์ พบว่ามีการแต่งด้วยการทาสีซึ่งยังหลงเหลือร่องรอยสีแดงบริเวณส่วนกรอบพระพักตร์ ขอบพระโอษฐ์ และพระวรกายอยู่ส่วนหนึ่ง ลักษณะของเครื่องประดับเหล่านี้คล้ายคลึงกับเครื่องประดับของพระโพธิสัตว์และนางอัปสรในงานประติมากรรมและจิตรกรรมของศิลปะสมัยคุปตะและหลังคุปตะ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศอินเดีย

นอกจากนี้ยังมี ประติมากรรมปูนปั้นรูปบุคคลสามัญ คนแคระ อมนุษย์ และรูปสัตว์ยักษ์ สิงห์ มกร นก/หงส์ ปลา เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าชุมชนโบราณบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเลตอนใต้ของจ.เพชรบุรี มีลักษณะเป็นกลุ่มสังคมหมู่บ้านขนาดเล็ก ได้รับอิทธิพลของการเผยแผ่พุทธศาสนามาจากอินเดีย รวมทั้งความนิยมในการสร้างสถูปเจดีย์

เมื่อความเชื่อทางศาสนาที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อเดิมกับพุทธศาสนาจากอินเดียฝังรากลึกลงในชุมชน ทำให้มีการสร้างโบราณสถานทุ่งเศรษฐีขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญพรตของพระภิกษุสงฆ์ และเพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คติความเชื่ออีกอย่างที่แพร่หลายในอินเดียและเข้ามาเป็นแบบอย่างของท้องถิ่นด้วยนั้น คือ คติที่ว่าการบูชาเจดีย์เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ ดังนั้นจึงมีการสร้าง เจดีย์ทุ่งเศรษฐี ขึ้น เป็นการประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในชุมชน เพื่อเป็นศูนย์รวมศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา

ขอบคุณเรื่องและภาพจาก ‘หนังสือทุ่งเศรษฐี โบราณสถานทวารวดี ชายฝั่งทะเลเพชรบุรี’ จัดพิมพ์โดยสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี

______________________________________________________________________________

มติชนอคาเดมี ชวนร่วมทริป “ทัวร์ ทัศนา ‘วัด-วัง’ เมืองเพชร ฟังเกร็ดเรื่องเล่า ‘สองแผ่นดิน’ จ.เพชรบุรี – ประจวบคีรีขันธ์” ไปกับนักประวัติศาสตร์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อย่าง “ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์”

เยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี หมู่พระราชวังบนขุนเขาแห่งเมืองเพชรบุรี, วัดมหาสมณารามราชวรวิหาร วัดสำคัญที่รัชกาลที่ 4 เคยเสด็จมาพักอยู่เมื่อครองเพศบรรพชิต และโปรดฯ ให้ทรงบูรณะซ่อมแซมเมื่อครั้งให้สร้างพระนครคีรี, ถ้ำเขาหลวง ตั้งอยู่บนเขาหลวง เป็นสถานที่ที่รู้จักผ่านวรรณคดีสำคัญ เช่น นิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ และนิราศเขาหลวง,

วัดห้วยมงคล ที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลก, เจดีย์ทุ่งเศรษฐี โบราณสถานสำคัญซึ่งตั้งอยู่ติดเขานางพันธุรัต , พระรามราชนิเวศน์ หรือ พระราชวังบ้านปืน เป็นพระราชวังที่ประทับฤดูฝนของรัชกาลที่ 5 และวัดกุฏิบางเค็ม วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่มีโบสถ์ไม้สักแกะสลักทั้งหลังเป็นเรื่องทศชาติชาดก

เดินทางวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 18-19 สิงหาคม 2561

ราคา 5,800 บาท

โปรแกรมการเดินทาง : https://www.matichonacademy.com/tour/article_17782

 

สนใจติดต่อ มติชนอคาเดมี

Inbox : Facebook Matichon Academy

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105

line : @matichonacademy