“เขาวัง” เมืองเพชร จุดเปลี่ยนความเชื่อ “อิทธิฤทธิ์-ปาฏิหาริย์”

Culture ศิลปวัฒนธรรม

“สิงหาคม” เป็นเดือนที่มีความสำคัญเดือนหนึ่งในรอบปี นอกจากจะมี “วันแม่แห่งชาติ” คือวันที่ 12 สิงหาคม แล้ว ยังมีความสำคัญอีกอย่าง คือ เป็นเดือนที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคพร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา โดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช จากท่านิเวศวรดิษฐ์ เพื่อไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น มีพระราชโอรสและพระราชธิดาตามเสด็จด้วย ในครั้งนั้นมี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงอยู่ในนั้นด้วยขณะทรงเป็นเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ นอกจากนี้เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชบริพารอีกจำนวนมาก

เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินนั้น ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ต่อมาทรงนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาปรับใช้ในการสร้างพระราชวังบนยอดเขา คือ “พระนครคีรี” หรือ เขาวัง กลางเมืองเพชรบุรี รวมทั้งพัฒนาจังหวัดเพชรบุรีด้วย ที่จริงเมืองเพชรบุรีในอดีตมีพระมหากษัตริย์ทรงมาสร้างวังถึง 3 รัชกาลด้วยกัน ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 จึงถือว่าเพชรบุรีเป็นจังหวัดเก่าแก่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะมีความเป็นมายาวนานถึง 3,000 ปี ซึ่งเห็นได้จากการค้นพบร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เครื่องมือหิน ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว เป็นต้น

นักประวัติศาสตร์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรอย่าง “ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์” กล่าวถึงเพชรบุรีว่า เป็นเมืองที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดียาวนานตั้งแต่ยุคแรกเริ่มในดินแดนไทยตราบถึงปัจจุบัน ที่สำคัญยังเป็นดินแดนที่มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เนื่องจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมยังต่างจังหวัด และทรงโปรดปรานเมืองเพชรบุรีเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งทรงเลือกพื้นที่บนเขามหาสวรรค์ (มไหสวรรย์) กลางเมืองเพชรบุรีเป็นที่สร้างพระราชวังที่ประทับ รู้จักกันในปัจจุบันว่า “เขาวัง” หรือ “พระนครคีรี” นับเป็นพระราชฐานที่ประทับแห่งแรกที่ได้สร้างขึ้นอย่างถาวรนอกเหนือจากพระบรมมหาราชวัง

อาจารย์สาวอธิบายต่อไปว่า สถาปัตยกรรมบนพระนครคีรี แสดงถึงพระราชนิยมของรัชกาลที่ 4 และสะท้อนถึงนวัตกรรมอันทันสมัยในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพระราชวังบนยอดเขาโดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏอิทธิพลศิลปะตะวันตกผสมผสานกับศิลปะจีนและไทย น้อยคนนักที่จะทราบว่ารัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองติดตั้งสายล่อฟ้าที่นี่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และมีเจดีย์ทรงระฆังที่สร้างด้วยหินอ่อน ซึ่งนำมาจากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่อยู่อีกฟากฝั่งทะเลอ่าวไทย

ที่พระนครคีรียังมี หอชัชวาลเวียงชัย ซึ่งเปรียบเสมือนประภาคาร และเป็นสถานที่สำหรับทอดพระเนตรดาวพุธ โดยมีระบุในจดหมายเหตุของหมอบรัดเลย์ พระนครคีรีจึงเป็นพระราชวังที่แสดงถึงความทันสมัยและศิวิไลซ์เป็นอย่างยิ่ง นอกจากเป็นสถานที่เสด็จประทับแรมแล้ว ยังใช้รับรองพระราชอาคันตุกะเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวคือ ใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะที่สำคัญ คือดุ๊กและดัชเชสโยฮันเบรต แห่งเมืองบรันทวีท เจ้าผู้ครองนครรัฐของเยอรมนี ซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐโยฮันเบรต

บริเวณพระนครคีรีบนยอดเขายังมีพระที่นั่งต่างๆ อีกหลายองค์ อาทิ พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นพระที่นั่งองค์ใหญ่ที่สุด สร้างแบบตึกฝรั่ง ใช้เป็นวังที่ประทับของรัชกาลที่ 4 มีห้องพระบรรทม ห้องทรงอักษร ห้องออกว่าราชการ ฯลฯ ภายในพระที่นั่งตกแต่งด้วยข้าวของมีค่าสวยงาม ส่วนใหญ่เป็นของจากยุโรป ต่อมาที่สำคัญอีกองค์คือ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท นับเป็นพระมหาปราสาทสำคัญมีศิลปะแบบไทย สร้างอยู่ท่ามกลางตึกฝรั่งของพระที่นั่งต่างๆ แต่ดูไม่ขัดตา การสร้างพระมหาปราสาทองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะหล่อพระบรมรูปของพระองค์เท่าขนาดจริงมาประดิษฐานไว้ แต่พอให้ฝรั่งปั้นรูปจำลองถวายให้ทอดพระเนตร ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ภายหลังจึงให้ช่างไทยสมัยนั้นปั้นหุ่นใหม่ ก็ทรงพอพระทัย จึงโปรดฯ ให้หล่อพระบรมรูปนั้นขึ้น แต่ยังไม่ทันเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน เรื่องราวยังไม่จบเท่านี้ แต่มีรายละเอียดอีกว่าสุดท้ายพระบรมรูปนั้น ทำไมจึงมาอยู่ที่ตรงนี้ได้

วัดเขาวัง
วัดเขาวัง

นอกจากนั้นก็มี พระที่นั่งปราโมทย์มไสวรรย์ พระที่นั่งราชธรรมสภา สำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ ทางศาสนา เป็นต้น บนพระนครคีรียังมีการสร้างพระเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ พระราชทานนามว่า พระธาตุจอมเพชร ในนั้นประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนยอดเขาที่ไกลสุดเป็นที่ตั้งของ วัดพระแก้วน้อย ที่บริเวณไหล่เขาทางด้านทิศตะวันออกมีวัดโบราณชื่อ วัดสมณ (สะ-มะ-นะ) ปัจจุบันชื่อทางการเรียก วัดมหาสมณาราม หรือ วัดเขาวัง

ใกล้กับพระนครคีรียังมี เขาหลวง ซึ่งเป็นเขาสำคัญขนาดใหญ่ในเมืองเพชร มีถ้ำขนาดใหญ่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยา อาทิ พระพุทธไสยาสน์ รอยพระพุทธบาท พระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือหลวงพ่อถ้ำหลวง สิ่งสำคัญภายในถ้ำที่แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์จักรี คือ พระพุทธรูปในศิลปะรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีจารึกพระปรมาภิไธยและตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 1-4 เชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปเหล่านี้ขึ้น เพื่อถวายพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 1-4

ถ้ำเขาหลวง

นอกจากนี้ ภายในถ้ำเขาหลวงยังมีพระพุทธรูปขนาดหน้าตักประมาณ 1 ศอก ที่เรียงรายอยู่รอบผนังถ้ำจำนวนกว่า 100 องค์ เกือบทุกองค์มีจารึกพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์จักรี สมัยรัชกาลที่ 4-5 พระพุทธรูปที่มีจารึกพระนามพระราชวงศ์เหล่านี้น่าจะสร้างขึ้น เพื่อเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระราชวงศ์ ซึ่งนับได้ว่าถ้ำเขาหลวงเป็นสถานที่ที่ปรากฏพระพุทธรูปที่มีจารึกพระนามพระราชวงศ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

เรื่องราวของพระนครคีรีและรัชกาลที่ 4 ยังเกี่ยวพันไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ลาวโซ่ง หรือ ไททรงดำ ที่แต่เดิมอาศัยอยู่บริเวณสิบสองจุไท ประเทศจีน ถูกกวาดต้อนเข้ามาในไทยช่วงสมัยธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สุดโปรดให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เพชรบุรี ชาวลาวโซ่งเหล่านี้เป็นแรงงานสำคัญในการสร้างทางขึ้นไปยังพระนครคีรี ยังเป็นที่เล่าขานกันมาถึงปัจจุบัน

พระราชวังบ้านปืน

ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรีออกมาอีกไม่ไกลมากนักเป็น พระรามราชนิเวศน์ หรือ พระราชวังบ้านปืน ว่ากันว่ารัชกาลที่ 5 ทรงซื้อที่ดินจากราษฎรแล้วตัดถนนเข้าไป โดยลงมือสร้างเมื่อ พ.ศ.2450 รัชกาลที่ 5 ทรงวางศิลาฤกษ์และพระราชทานนามไว้ก่อน พร้อมทั้งให้หล่อรูปพระนารายณ์ทรงธนู แต่ชาวบ้านเรียกพระนารายณ์ปืน ซึ่ง “ปืน” ในที่นี่หมายถึงลูกธนู หล่อเสร็จทรงตั้งใจนำมาไว้ที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ปัจจุบัน แต่สร้างไม่เสร็จก็สวรรคตก่อน รัชกาลที่ 6 จึงมาสร้างต่อ หินอ่อนที่พระราชวังบ้านปืนที่เดียวกับพระที่นั่งอนันตสมาคม รัชกาลที่ 6 สร้างเสร็จไม่เคยเสด็จฯ ประทับอย่างเป็นทางการ และไม่ได้ใช้เป็นวังอย่างสมบูรณ์ จะเสด็จฯ มาก็ต่อเมื่อมีการฝึกซ้อมเสือป่าเท่านั้นเอง

“กระแสความตื่นตัวในวัฒนธรรมตะวันตกของชนชั้นนำสยามช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เริ่มมีบทบาทอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะนั้นถือว่าชนชั้นปกครองยังมีท่าทีในการอนุรักษนิยม ด้วยเหตุที่ผู้นำฝ่ายอนุรักษนิยมเป็นพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินมาสู่รัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายและชนชั้นนำทั้งปวงก็เปลี่ยนมารับวัฒนธรรมตะวันตกได้โดยง่าย เป็นผลมาจากทรงแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวตะวันตกมาเป็นเวลานานขณะที่ทรงผนวช แนวความคิดและศิลปวิทยาการสมัยใหม่ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้งานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ในรัชกาลที่ 4 มีความโดดเด่นจากยุคสมัยใหม่อื่น แนวความคิดที่สำคัญคือแนวสัจนิยมและมนุษยนิยม งานศิลปกรรมในพระราชประสงค์ เช่น งานจิตรกรรมฝาผนังพระอารามหลวง ไม่นิยมเขียนรูปไตรภูมิโลก แต่เขียนภาพและเรื่องราวอย่างสมจริง เป็นเหตุเป็นผลมากว่าจะเป็นเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ หรือการสร้างพระบรมรูปที่สมจริง ซึ่งขัดกับความเชื่อว่า ไม่ควรกระทำ”

ห้องทรงพระอักษร

จะเป็นเช่นอาจารย์สาวจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าไว้หรือไม่ เป็นคำถามที่ชวนค้นหาคำตอบอย่างยิ่ง !!!

วัดกุฏิบางเค็ม
วัดกุฏิบางเค็ม

มติชนอคาเดมีชวนไปสัมผัสร่องรอยทางประวัติศาสตร์ในทัวร์ ทัศนา “วัด-วัง” เมืองเพชร ฟังเกร็ดเรื่องเล่า “สองแผ่นดิน” จ.เพชรบุรี-ประจบคีรีขันธ์ (2 วัน 1 คืน)

วันที่ 18-19 สิงหาคม 2561 นำชมโดย ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ราคา 5,800 บาท คลิกอ่านรายละเอียดการเดินทางได้ที่ https://www.matichonacademy.com/tour/article_17782

สนใจติดต่อ มติชนอคาเดมี

Inbox : Facebook Matichon Academy

Tel : 0-2954-3977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124

Mobile : 08-2993-9097, 08-2993-9105

line : @matichonacademy